ผังเมือง กทม.ไม่จบในยุค ‘ชัชชาติ 1’ รอสรุปร่างเสนอกรมโยธาฯ-คาดบังคับใช้ปี’70

ผังเมือง กทม.

เป็นที่ชัดเจนระดับหนึ่งแล้วว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับครบรอบทบทวนปี 2556 ที่จวนเจียนจะประกาศใช้บังคับตั้งแต่ปี 2562 ล่าสุดมีแนวโน้มว่าจะบังคับใช้ได้ในปี 2570

ก่อนหน้านี้ ผังเมืองรวม กทม. ปี 2556 ทำครบทุกขั้นตอนและเตรียมประกาศใช้ แต่เจอโรคเลื่อนจากทางกระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง (ยธ.) สั่งการให้ผังเมืองจังหวัดทั่วประเทศกลับไปพิจารณาเพิ่มเติมอีก 2 ผัง เกี่ยวกับผังน้ำและผังสิ่งแวดล้อม มีผลให้ต้องมาเริ่มต้นนับ 1 ใหม่อีกรอบ

เมื่อพิจารณาแนวโน้มที่คาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2570 ขณะที่วาระการทำงานสมัยแรกของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่จะครบกำหนดวาระ 4 ปีภายในกลางปี 2569 นั่นหมายความว่าผังเมืองรวม กทม. ยังคงต้องใช้ข้อบังคับของปี 2556 ต่อไป ซึ่งอาจมีหลายอย่างที่ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและความเจริญของเมือง

มิ.ย. 68 ชงร่างผังเมืองเสนอโยธา

ล่าสุด “วิศณุ ทรัพย์สมพล” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ว่า จากการประชุมคณะกรรมการพิจารณาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร เมื่อสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ได้รับข้อคิดเห็นจากกรมโยธาธิการและผังเมืองว่า ไม่ควรแก้รายละเอียดผังเมืองรวมฉบับปี 2556 มากเกินไป

เนื่องจากข้อพิจารณ์ต่าง ๆ ที่ออกมาไม่ได้อยู่ในขอบข่ายของผังเมืองฉบับปี 2556 เพราะผังปี 2556 ผ่านการพิจารณาไปก่อนแล้ว ไม่ควรนำความเห็นประชาชนปัจจุบัน กลับมาแก้หรือยกเลิกรายละเอียดย้อนหลัง

ซึ่งการพิจารณาปรับแก้หรือยกเลิกรายละเอียดผังเมืองต้องสอดคล้องกันระหว่าง 3 ส่วน คือ “นโยบายรัฐ ความเห็นประชาชน และภาควิชาการ”

วิศณุ ทรัพย์สมพล ผังเมือง กทม.
วิศณุ ทรัพย์สมพล

อย่างไรก็ตาม กทม.ดำเนินการในส่วนความรับผิดชอบ คือ ลงพื้นที่นำความเห็นประชาชนมาประกอบการพิจารณา เช่น หากประชาชนมีข้อเสนอให้ยกเลิกถนนบางสาย กทม.ต้องดูเหตุผลทางวิชาการประกอบ หากสอดคล้องกัน จะเสนอยกเลิก แต่หากกรมโยธาธิการและผังเมืองไม่เห็นด้วย ต้องหารือกับคณะกรรมการกรมโยธาธิการและผังเมืองระดับจังหวัดเพื่อหาข้อสรุปต่อไป

ADVERTISMENT

โดยข้อคิดเห็นส่วนใหญ่ที่ กทม.ได้รับจากการทำประชาพิจารณ์ คือ เรื่องถนนต่าง ๆ มีทั้งการขอให้ยกเลิก ปรับขนาด และขอให้คงไว้ ซึ่งมีการพิจารณาและปรับแก้ตามเหตุผลที่สอดคล้องกันทั้ง 3 ส่วนดังกล่าว

โดยการประชุมครั้งต่อไปจะประชุมสรุปผลเรื่องสีของผังเมือง เช่น ผังที่โล่ง ผังทางน้ำ ผังทรัพยากร เป็นต้น คาดว่าเรื่องสีของผังเมืองจะประชุมอีก 2 ครั้ง จึงได้ข้อสรุป

โดยภาพรวม เมื่อคณะกรรมการพิจารณาปรับแก้ผังเมืองทั้งหมดแล้ว ต้องทำประชาพิจารณ์อีกครั้ง ซึ่งต้องปรึกษากรมโยธาธิการและผังเมืองว่าจะดำเนินการส่วนนี้อย่างไรต่อไป คาดว่าภายในเดือนมิถุนายน 2568 นี้ กทม.จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของกรมโยธาธิการและผังเมือง ก่อนเสนอตามขั้นตอนต่อไป

ฟังความคิดเห็นคืบหน้า 70%

นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ฉบับปรับปรุง มีความก้าวหน้า 70%

แต่เนื่องจากร่างผังเมืองรวม กทม. มีรายละเอียดจำนวนมาก และมีความจำเป็นต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้ครอบคลุมถึงประเด็นที่ประชาชนมีความต้องการให้ปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะในเรื่องหลัก ๆ ได้แก่ 1.แนวถนนโครงการบางสายทางที่ประชาชนมีความกังวลว่าจะได้รับผลกระทบ

2.การปรับปรุงแก้ไขแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้สามารถตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ และต้องสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน 3.การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง และ 4.มาตรการทางผังเมืองอื่น ๆ

อีกทั้งการปรับปรุงร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ ต้องเป็นไปตามหลักการทางผังเมือง และมาตรฐานที่กรมโยธาธิการและผังเมืองกำหนดไว้ กทม.จึงพยายามเร่งรัดการดำเนินการในขั้นตอนนี้ให้รวดเร็ว และมีความรอบคอบมากที่สุด เพราะเข้าใจว่าประชาชนอยากเห็นร่างผังเมืองรวมที่ได้รับการปรับปรุง หลังจากการรับฟังความคิดเห็นแล้วเช่นกัน

เปิดขั้นตอน-คาดบังคับใช้ปี’70

อย่างไรก็ตาม หลังจากคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครชุดนี้ให้ความเห็นแล้วเสร็จ ในขั้นตอนต่อไปจะเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาด้านการผังเมือง ของกรมโยธาธิการและผังเมือง (อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นประธาน) เพื่อให้ความเห็น

จากนั้นตามขั้นตอนจะมีการเสนอคณะกรรมการผังเมืองจังหวัดกรุงเทพมหานคร (ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน) เพื่อพิจารณาต่อไป

หากคณะกรรมการผังเมืองจังหวัดกรุงเทพมหานคร เห็นด้วยกับความเห็นของกรมโยธาธิการและผังเมือง จะนำไปปิดประกาศเป็นเวลา 90 วัน เพื่อให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สามารถยื่นคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดได้อีกครั้งตามขั้นตอนของกฎหมาย

โดยกรุงเทพมหานครจะนำคำร้องดังกล่าว เสนอคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณา โดยผลการพิจารณาถือเป็นที่สิ้นสุด และจักนำร่างผังเมืองรวม กทม. เข้าสู่ขั้นตอนตามกฎหมาย เพื่อประกาศเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครใช้บังคับต่อไป

ทั้งนี้ ตามขั้นตอนทั้งหมดนี้ คาดว่าจะสามารถประกาศใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ได้ในปี 2570