เปิด 10 พื้นที่ในประเทศไทย คุณภาพอากาศวิกฤต เลวร้ายมีผลกระทบต่อสุขภาพ

กำลังเป็นประเด็นร้อนที่ทุกคนต้องตื่นตัวและตระหนักถึงกับสภาอากาศ และค่า PM2.5 เกินมาตรฐานอยู่ในขณะนี้ โดยล่าสุด นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองที่ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในระยะนี้ว่า เชื่อว่าสถานการณ์ฝุ่นขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในปีนี้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต และสามารถรับมือได้ ดังนั้น ประชาชนอย่าเพิ่งตระหนกจนเกินไป

“เชื่อว่าเราเอาอยู่ ขอให้ประชาชนมีความตระหนักแต่อย่าตระหนก เพราะสถานการณ์ไม่ได้รุนแรงเท่ากับปี 2561 ซึ่งค่าสูงสุดเคยไปแตะที่ 120-130 ไมโครกรัม (มคก.)ต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ประมาณ 1-2 วัน ส่วนปีนี้ตรวจพบค่าอยู่ระหว่าง 70-100 มคก./ลบ.ม. เศษเท่านั้น ซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้เตรียมความพร้อมในการรับมือไว้แล้ว คาดว่าสถานการณ์ยังต้องเฝ้าระวังในช่วง 1-2 สัปดาห์จากนี้”

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษยังกล่าวอีกว่า ในส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ค่า PM 2.5 ที่เกินมาตรฐานนั้น จากผลการวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) พบว่า ร้อยละ 50-60 เกิดจากควันดำ รถยนต์ดีเซลที่การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ร้อยละ 35 เกิดจาการเผาในภาคเกษตร และร้อยละ 5 เกิดจากภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล จำนวน 2.5 ล้านคัน และรถยนต์ทั่วไป จำนวน 9.8 ล้านคัน

ขณะเดียวกันในโซเชียมีเดียอย่างทวิตเตอร์ มีประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็น เตือนถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่จะได้รับกับปัญหาค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน และช่วยกันรณรงค์งดทำกิจกรรมที่ทำให้เกิิดควันดำ อีกทั้งยังชี้ช่องทางในการซื้อหน้ากากอนามัย N95 ที่ผลิตจากเส้นใยที่สามารถกรองฝุ่นละอองหรือเชื้อโรคที่มีขนาด 0.3 ไมครอน ได้ 95 เปอร์เซ็นต์ ด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” พาดู 10 อันดับพื้นที่ที่คุณภาพอากาศน่าวิกฤต ตามค่ามาตรฐานดัชนีคุณภาพอากาศ  (AQI) จากเว็บไซต์ airvisual (ยึดเวลาสำรวจ 14.42 น.) โดยอันดับ 1 คือ อยุธยา มีค่าฝุ่นละอองอยู่ที่ 172

รองลงมาตามลำดับคือ สมุทรสาคร ที่ 164, สมุทรปราการ และเขตธนบุรี อยู่ที่ 153,พระประแดง อยู่ที่ 152, กรุงเทพฯ และฉะเชิงเทรา อยูที่ 146, ราชบุรี อยู่ที่ 144,กาญจนบุรี อยูที่ 139 และเขตดุสิต อยู่ที่ 138