ศาลสั่งรอกำหนดโทษ 1 ปี “หนุ่ม กะลา” หลังสารภาพ 19 สำนวน ละเมิดลิขสิทธิ์ “มิวสิคบัค”

ศาลสั่งรอกำหนดโทษ 1 ปี หนุ่ม วงกะลา หลังสารภาพ 19 สำนวน ละเมิดลิขสิทธิ์ค่ายเพลงมิวสิคบัค ศาลชี้ไม่เคยต้องโทษ ขณะที่เพลงละเมิดลิขสิทธิ์มีเพลงเดียว สมควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี สั่งรอการกำหนดโทษไว้ 1 ปี “ชนินทร์” ผู้บริหารมิวสิคบัค เผยลุ้นไกล่เกลี่ยคดีแพ่ง 2 สำนวนฟ้องจีเอ็มเอ็ม-หนุ่ม-บิ๊กแอส ละเมิดเพลงยาม-ก่อนตาย เช้า 18 เม.ย.นี้

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 19 มี.ค. ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง นายชนินทร์ วรากุลนุเคราะห์ ผู้บริหารบริษัทมิวสิคบัค จำกัด ซึ่งเป็นคู่ความในคดีพิพาทกับนายณพสิน แสงสุวรรณ หรือ หนุ่ม วงกะลา อายุ 37 ปี นักร้องนำวงร็อกชื่อดัง ของค่ายจีนี่เรคอร์ดให้สัมภาษณ์พร้อมกับทนายความ ภายหลังเมื่อช่วงเช้าร่วมเข้าฟังการพิจารณา ในคดีที่พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง หนุ่ม วงกะลา เป็นจำเลย ในคดีหมายเลขดำ อ.1348/2561 เรื่อง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งศาลนัดสอบคำให้การจำเลยในวันนี้และคดีที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ รวม 19 สำนวน

โดย ทนายความของนายชนินทร์ ผกล่าวว่า ในการพิจารณาคดีช่วงเช้าที่ผ่านมา หนุ่มก็ให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้องของอัยการ รวม 17 สำนวน ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาว่ากระทำความผิดจริง แต่ตัวของนายณพสินไม่เคยทำความผิดอาญามาก่อน ศาลจึงให้รอการกำหนดโทษไว้ก่อน
ขณะที่ นายชนินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงบ่ายวันนี้เหลือคดีที่ศาลกำลังจะพิจารณาอีก โดยช่วงเช้าหนุ่ม ให้การรับสารภาพคดีอาญาไปแล้ว 17 คดี การที่มาฟ้องคดีเพราะเหมือนมีคนมาขโมยของของเรา ก็ต้องออกมาจัดแจงเรื่องสิทธิของเรา ส่วนที่จะมีคนมองว่าตัวเลขความเสียหายสูงเกินจริงหรือไม่ ก็ไม่สามารถบอกได้ เพราะสิ่งที่เรานำมาเป็นข้อมูลก็มาจากมาร์เก็ตแวลู เหมือนในต่างประเทศเท่าที่ทราบศิลปินระดับโลกเขาเคยจ่ายค่าเสียหายกันถึง 20 ล้านยูเอสดอลลาร์ในปี 2560 ซึ่งหากเปรียบเทียบเป็นเงินไทยประมาณ 600 กว่าล้านบาท

และนอกจากคดีดังกล่าวแล้ว ยังได้ยื่นฟ้องแพ่งอีก 2 สำนวน สำนวนแรกฟ้อง บริษัท จีเอ็มเอ็ม ฯ และหนุ่ม วงกะลา เป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์ นำเพลง “ยาม” ของลาบานูนไปร้องถึง 44 ครั้ง , สำนวนที่ 2 ยื่นฟ้องบริษัท จีเอ็มเอ็มฯ กับวงบิ๊กแอส กรณีที่นำเพลงลิขสิทธิ์ เพลง “ก่อนตาย” ไปร้องเพื่อประโยชน์ รวม 28 ครั้งด้วย

โดยก่อนหน้านี้เราเคยไกล่เกลี่ยกันไปแล้วในชั้นศาลตามคำชี้แนะของศาล เพราะศาลเห็นว่าคดีประเภทนี้น่าจะตกลงกันได้ ซึ่งมูลค่าความเสียหายทางแพ่งในส่วนการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง “ยาม” 44 ครั้ง เราเรียกค่าเสียหายครั้งละ 1 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 44 ล้านบาท สำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง “ก่อนตาย” 28 ครั้งเราเรียกค่าเสียหายครั้งละ 1 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 28 ล้านบาทซึ่งความเสียหายครั้งละ 1 ล้านที่เราเสนอไป เราได้ถอยมาหลายก้าวแล้ว โดยการเจรจาไกล่เกลี่ยตนก็เพิ่งได้พูดคุยกับกรรมการบริหารระดับสูงของ บริษัทจีเอ็มเอ็มฯ เมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา หลังจากเรายื่นฟ้องคดีแพ่งทั้งสองสำนวนไปช่วงเดือน ก.ย.61 ส่วนรายละเอียดการเจรจาว่าเคยคุยอะไรกันบ้างเปิดเผยไม่ได้ โดยต้นสังกัดเขาจะถอยด้วยหรือไม่นั้นถ้าเขาถอยด้วยก็สามารถตกลงกันได้แต่ถ้าไม่ถอยก็ปล่อยให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งคดีแพ่งนี้ “ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ” กำหนดนัดพิจารณาติดตามผลการไกล่เกลี่ยทั้ง 2 สำนวนอีกครั้ง ช่วงเช้าวันที่ 18 เม.ย.นี้

ขณะที่นายณพสิน กล่าวว่า วันนี้ศาลนัดพร้อมในคดีที่ถูกฟ้องเรื่องลิขสิทธิ์ทั้ง 19 สำนวน ซึ่งตนได้ให้การยอมรับผิด ศาลจึงพิพากษารอการกำหนดโทษ 1 ปี โดยในระหว่าง 1 ปีนี้ห้ามกระทำผิดซ้ำ ซึ่งผลการตัดสินดังกล่าวมาจากการที่ตนไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ในส่วนของคดีอาญาวันนี้ถือว่าสิ้นสุดทั้งหมดแล้ว สำหรับคดีที่เหลืออีก 20 กว่าคดีเป็นเรื่องทางแพ่งต้องรอศาลนัด ตนชัดเจนรับสารภาพทั้งหมด แต่เรื่องค่าเสียหายทางแพ่งค่ายเพลงต้นสังกัดจะเป็นผู้ดำเนินการเจรจาแทน ส่วนที่โจทก์บอกว่าถอยออกมาแล้วตนไม่ทราบ ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเป็นคดีเก่าที่เกิดขึ้นตั้งแต่ม.ค.ปีที่แล้ว แต่มีการฟ้องร้องมานาน วันนี้รู้สึกโล่งอกขึ้นส่วนหนึ่ง เพราะยังเหลือคดีแพ่ง ต่อจากนี้ก็ไม่ต้องระวังเรื่องการร้องเพลงแล้ว เพราะตนหยุดเล่นเพลงนี้ตั้งแต่ทราบเรื่องและไม่เคยเอาเพลงมาเล่นอีกเลย
“อยากขอบคุณแฟนเพลง ทุกกำลังใจ พี่ๆ ในค่าย ที่ทำให้เราเข้มแข็งและเดินทางมาถึงวันนี้ ผมกล้ายืนยันว่าผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ใช้ของปลอม เพราะผมเป็นคนสร้างสรรค์ผลงานเอง แต่งเพลงเอง ผมเคารพสิทธิ์เรื่องนี้มาโดยตลอด แต่วันนี้เรื่องที่เกิดขึ้นมาจากความผิดพลาดที่ผมไม่ทราบจริงๆ อยากเตือนน้องๆ ว่าเรื่องลิขสิทธิ์เป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งเราอยู่ในวงการควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน ถ้าใครที่กำลังทำไปโดยไม่รู้ ขอให้ตรวจสอบให้ดีดูผมเป็นตัวอย่าง” นายณพสิน กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสำนวนคดีอาญา ที่ศาลมีพิพากษาวันนี้ 19 สำนวน ประกอบด้วย 1. คดีหมายเลขดำ อ.1348/2561 ที่อัยการสำนักงานคดีทรัพย์สินฯ 3 เป็นโจทก์ เป็นโจทก์ , 2.คดีหมายเลขดำ อต.1214/2561 ที่อัยการจังหวัดลพบุรี เป็นโจทก์ , 3.คดีหมายเลขดำ อต.1244/2561 อัยการจังหวัดภูเก็ต เป็นโจทก์ , 4.คดีหมายเลขดำ อต.1245/2561 อัยการจังหวัดภูเก็ต เป็นโจทก์ , 5.คดีหมายเลขดำ อต.1375/2561 อัยการจังหวัดเพชรบุรี เป็นโจทก์ , 6.คดีหมายเลขดำ อต.1502/2561 อัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นโจทก์ , 7. คดีหมายเลขดำ อต.1632/2561 อัยการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นโจทก์ , 8.คดีหมายเลขดำ อต.1671/2561 อัยการจังหวัดมุกดาหาร เป็นโจทก์ , 9.คดีหมายเลขดำ อต.1700/2561 อัยการจังหวัดกระบี่ เป็นโจทก์ , 10.คดีหมายเลขดำ อต.1704/2561 อัยการจังหวัดพิษณุโลก เป็นโจทก์ , 11.คดีหมายเลขดำ อ.239/2562 อัยการสำนักงานคดีทรัพย์สินฯ 3 เป็นโจทก์ , 12.คดีหมายเลขดำ อ.240/2562 อัยการสำนักงานคดีทรัพย์สินฯ 3 เป็นโจทก์ , 13.คดีหมายเลขดำ อ.241/2562 อัยการสำนักงานคดีทรัพย์สินฯ 3 เป็นโจทก์ ,14.คดีหมายเลขดำ อต.60/2562 อัยการจังหวัดเวียงสระ เป็นโจทก์ , 15.คดีหมายเลขดำ อต.66/2562 อัยการจังหวัดตะกั่วป่า เป็นโจทก์ , 16.คดีหมายเลขดำ อต.168/2562 อัยการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นโจทก์ , 17.คดีหมายเลขดำ อต.169/2562 อัยการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นโจทก์ , 18.คดีหมายเลขดำ อต.201/2562 อัยการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นโจทก์ และ19.คดีหมายเลขดำ อต.217/2562 อัยการจังหวัดสงขลา เป็นโจทก์ โดยทั้ง 19 สำนวน อัยการ ได้ยื่นฟ้อง “นายณพสินหรือหนุ่ม วงกะลา” จำเลย ความผิดเรื่อง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537

โดยคดีที่ “พนักงานอัยการ” ยื่นฟ้อง 17 สำนวน นั้นคำฟ้องสรุปว่า จำเลย ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ ของ บริษัทผู้เสียหาย โดยการนำเพลง “ ยาม” ไปขับร้องให้เกิดเสียงเพลง และการบรรเลงทำนอง ซึ่งจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆ หลายแห่งอันเป็นการแพร่เสียงต่อสาธารณชน โดยจำเลยได้รับประโยชน์ตอบแทน อันเป็นการกระทำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย และไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย

ซึ่งคู่ความ แถลงรับข้อเท็จจริง ร่วมกันว่า บริษัทผู้เสียหาย เคยอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในงานเพลง “ยาม” ของศิลปินวงลาบานูน ของผู้เสียหายดังกล่าว ให้แก่ “บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด” ต้นสังกัดของจำเลย ซึ่งต่อมาสัญญาได้สิ้นสุดลงและผู้เสียหายได้บอกเลิกสัญญากับ บริษัท จีเอ็มเอ็มฯ แล้วต่อมาผู้เสียหาย ดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์เนื่องจากจำเลยนำเพลงอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวของผู้เสียหายออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยการขับร้องเพลงของผู้เสียหายที่สถานที่ต่างๆ รวม 44 ครั้ง โดยผู้เสียหายไม่ได้มีหนังสือแจ้งเตือนและขอให้จำเลยหยุดการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งก่อนดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์และภายหลังจากแจ้งความร้องทุกข์แล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยการขับร้องเพลงดังกล่าวอีก ซึ่งปัจจุบันโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยในการกระทำผิดดังกล่าวต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง รวมทั้งสิ้น 21 คดี เหลืออีก 23 คดีซึ่งยังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อยื่นฟ้องจำเลยต่อไป

ขณะหนุ่ม วงกะลาส” จำเลย ก็ให้การรับสารภาพ “ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ” จึงพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27(2) โดยเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เพลงของผู้เสียหายที่จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ตามฟ้องมีเพียง 1 เพลง ประกอบกับจำเลยไม่ได้เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป โดยให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 1 ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56

และเนื่องจากคดีนี้ศาลรอการกำหนดโทษ จึงไม่อาจนับโทษต่อและจ่ายเงินค่าปรับกึ่งหนึ่งฐานละเมิดลิขสิทธิ์ให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้

ส่วนคดีอาญา อีก 2 สำนวน ที่ “พนักงานอัยการจังหวัด” ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย โดยมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลย ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์พ.ศ.2537 มาตรา 36,70 นั้น

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสองประกอบมาตรา 27 (2) แต่โจทก์กลับมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ตามมาตรา 31,70 อันเป็นการกระทำต่องานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเท่านั้น การกระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 31,70 แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 วรรคหนึ่ง จึงพิพากษายกฟ้อง 2 สำนวน

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่าสำหรับการ รอการกำหนดโทษ มีความหมายว่าสำหรับกรณีที่ศาลพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิด แต่ยังไม่กำหนดโทษจำคุกว่า จะต้องถูกจำคุกเท่าใด โดยกำหนดระยะเวลาในกำหนดโทษไว้ อย่างเช่น คดีนี้ ศาลพิพากษาให้รอกำหนดโทษไว้ 1 ปี จึงยังไม่ทราบว่าจำคุกเท่าใด แต่หากภายใน 1 ปี ได้กระทำความผิด จึงจะถูกกำหนดโทษ ในทางตรงกันข้ามถ้าภายใน 1ปีไม่ได้กระทำผิด ถือว่าพ้นโทษ

 

 

 


ที่มา มติชนออนไลน์