กรมอุตุฯ เตือนภาคเหนือ-อีสานรับฝนหนักถึงหนักมากจากพิษพายุ”ทกซูรี” ที่จะเคลื่อนผ่านประเทศเวียดนาม ระหว่าง 15-17 ก.ย. ส่วนเรือเล็กทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยก็ควรงดออกจากฝั่งเพราะคลื่นลมรุนแรง ด้าน ปภ.ประสาน 12 จังหวัดภาคกลาง บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาชะลอการปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 หรือ ข้าวนาปีต่อเนื่อง เพราะต้องใช้พื้นที่ทุ่งนา เป็นแหล่งรับน้ำที่หลากจากภาคเหนือ เพื่อป้องกันผลผลิตได้รับความเสียหาย
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 13 ก.ย. นาย วันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุฯ เรื่องพายุโซนร้อน “ทกซูรี” (DOKSURI) ฉบับที่ 3 ความว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ที่ผ่านมา พายุโซนร้อน ทกซูรี บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 75 กิโล เมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยด้วยความเร็ว 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
คาดว่าจะเคลื่อนผ่านอ่าวตังเกี๋ย และเคลื่อนขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม ในวันที่ 15 ก.ย. โดยจะมีผลกระทบต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 15-17 ก.ย. ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้นและ มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปประเทศเวียดนามตอนบนควรตรวจสอบสภาพอากาศก่อน เดินทางด้วย
อนึ่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 14-18 ก.ย. ทำให้ภาคใต้และภาคตะวันออกมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้เดินเรือ ด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง จึงขอให้ประ ชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดในระยะนี้
วันเดียวกัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ทำหนังสือประสาน 12 จังหวัด ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูฝน ปี 2560 ของกรมชลประทาน ใช้พื้นที่ลุ่มต่ำที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเป็นพื้นที่รองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรชะลอปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง (รอบที่ 2) โดยให้ดำเนินการเพาะปลูกในช่วงต้นฤดูแล้ง ปี 2560-2561 เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายในช่วงฤดูน้ำหลาก
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีปภ. เปิดเผยว่า จากการประสานข้อมูลสถานการณ์น้ำร่วมกันกับกรมชลประทาน พบว่า กรมชล ประทานได้วางแนวทางการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2560 ให้สอดคล้องกับนโยบายการผลิตข้าวครบวงจร จำนวน 15.95 ล้านไร่ โดยส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณเหนือ จ.นครสวรรค์ 0.265 ล้านไร่ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ปัจจุบันเกษตรกรดำเนินการเพาะปลูกเต็มพื้นที่และเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว
สำหรับการส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มต่ำตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ จำนวน 1.15 ล้านไร่ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ปัจจุบันเกษตรกรดำเนินการเพาะปลูกเต็มพื้นที่และเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จำนวน 0.69 ล้านไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จทั้งหมดในวันที่ 15 ก.ย.
ทั้งนี้ กำหนดใช้พื้นที่ลุ่มต่ำดังกล่าว ซึ่งเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเป็นพื้นที่รองรับน้ำ ในช่วงฤดูน้ำหลาก แต่พบว่าพื้นที่นาซึ่งเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วบางส่วนยังคงมีน้ำคงค้างอยู่ในทุ่ง ทำให้สามารถดำเนินการเพาะปลูกได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงเดือนก.ย.ถึงกลางเดือนต.ค. ปริมาณฝนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางจะสูงกว่าค่าปกติ หากเพาะปลูกข้าวต่อเนื่องในพื้นที่ลุ่มต่ำ อาจส่งผลให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย
ดังนั้น ปภ.จึงให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 12 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย ชัยนาท นครสวรรค์ สิงห์บุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง ปทุมธานี และนนทบุรี ใช้กลไก “ประชารัฐ” ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรชะลอการปลูกข้าวนาปรัง ปี 2560-2561 รอบ 2 (นาปีต่อเนื่อง) โดยให้ดำเนินการเพาะปลูกในช่วงต้นฤดูแล้ง ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูฝน ปี 2560 ของกรมชลประทาน และมีพื้นที่รองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งจะช่วยป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความ เสียหาย