เปิด-ปิดอะไรบ้าง 16 ข้อปฏิบัติ หลัง “พ.ร.ก.ฉุกเฉินโควิด-19” บังคับใช้

สำหรับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 1 มีด้วยกัน 16 ข้อ สรุปสาระสำคัญทั้ง 16 ข้อ ดังนี้

ข้อ 1.การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่หรือสถานที่ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 หรือตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อได้ประกาศหรือสั่งไว้ก่อนที่ข้อกำหนดนี้ใช้บังคับ

ข้อ 2 การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อ ให้ผู้ว่า กทม.และผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาสั่งปิดสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกันและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 แต่อย่างน้อยให้สั่งปิด

  1. สนามมวย สนามกีฬา สนามแข่งขัน สนามเด็กเล่น สนามม้า ในทุกจังหวัด ทั่วราชอาณาจักร จนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น
  2. ผับ สถานบริการ สถานที่แสดงมหรสพ สถานที่มีการแสดงหรือการละเล่นสาธารณะ สถานประกอบการ อาบ อบ นวด และนวดแผนโบราณ สปา สถานที่ออกกลังกาย (ฟิตเนส) สถานบันเทิง
  3. สถานที่อื่นนอกจากนี้ เช่น แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ พิพิธภัณฑสถาน ห้องสมุด สาธารณุ ศาสนสถาน สถานีขนส่งหรือโดยสาร ตลาด ห้างสรรพสินค้า ให้พิจารณาโดยสั่งปิดเฉพาะส่วน หรือ ทั้งหมด และอาจกำหนดเงื่อนไขและเงื่อนเวลาตามความจำเป็นและเหมาะสมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือ กทม.แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงโอกาสเสี่ยงต่อการติดต่อโรค ความจำเป็นในการจัดหาสิ่งอุปโภคบริโภคและการเดินทาง

ข้อ 3 การปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร ในการใช้ยานพาหนะไม่ว่าอากาศยาน เรือ รถยนต์ หรือพาหนะอื่นใด หรือในการใช้เส้นทางคมนาคมไม่ว่า ทางอากาศ ทางน้ำ หรือทางบก เพื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบปิดช่องทางเข้าออก ด่าน จุดผ่านแดน หรือจุดผ่อนปรน สำหรับผู้โดยสารหรือผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเว้นแต่ผู้มีเหตยกเว้นตามที่นายกฯ อนุญาตเป็นผู้ขนส่งสินค้าตามความจำเป็น เมื่อเสร็จภารกิจแล้วให้กลับออกไปโดยเร็วเป็นผู้ควบคุมยานพาหนะหรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะ เช่น กัปตันเครื่องบิน แอร์โฮสเตท สจ๊วตเป็นบุคคลในคณะทูต คณะกงสุล องค์การระหว่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐบาลที่มาปฏิบัติงานในประเทศไทยเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยแต่มีใบอนุญาตทำงานหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ทำงานในราชอาณาจักรเป็นผู้มีสัญชาติไทย โดยให้ติดต่อสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยเพื่อออกหนังสือรับรอง ที่มีใบรับรองแพทย์

ข้อ 4 ห้ามกักตุนสินค้า ซึ่งเป็นยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม หรือสินค้าอื่นที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน

ข้อ 5 การห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

ข้อ 6 การเสนอข่าว ห้ามเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่าง ๆ ซึ่งมีข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 อันไม่เป็นความจริงและอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว

ข้อ 7 มาตรการเตรียมรับสถานการณ์

  1. ให้ผู้ว่ากทม. ผู้ว่าฯทุกจังหวัดเป็นผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทุกมิติในเขตท้องที่ที่ตนรับผิดชอบ หากมีปัญหาให้รายงานกระทรวงมหาดไทย
  2. ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งประชาสัมพันธ์เผยแพร่มาตรการเพื่อช่วยเหลือหรือบรรเทาผลกระทบอันเกิดจากการบังคับใช้มาตรการของรัฐต่อประชาชน
  3. ให้โรงพยาบาล สถานพยาบาล จัดหายา เวชภัณฑ์ เครื่องมือในการตรวจโรค เครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์อื่น ๆ ให้เพียงพอตามาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดหรือแนะนำ / เตรียมสถานที่กักกัน สถานที่คุมไว้สังเกตหรือเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจเพิ่มจำนวนขึ้น โดยขอความร่วมมือดัดแปลงสถานที่ เช่น โรงแรม โรงเรียน มหาวิทยาลัย หอประชุม สถานที่ปฏิบัติธรรม ศาลาวัด อาคารของเอกชนที่ยังไม่ได้ใช้งานหรือสถานที่ราชการ สถานที่เอกชนอื่น ๆ เป็นโรงพยาบาลชั่วคราว
  4. กักกันตัวเองไว้สังเกตอาการตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ หรือเป็นผู้เดินทางข้ามเขตจังหวัด ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคติดต่อ อาสาสมัครที่ปฏิบัติงานให้แก่ทางราชการ สามารถตรวจสอบเฝ้าระวัง หรือความเข้มงวดจริงจังในการกักกันตนเอง / ขอความร่วมมือจากประชาชนในท้องถิ่นให้ช่วยตรวจสอบด้วยก็ได้

ข้อ 8 มาตรการพึงปฏิบัติสำหรับบุคคลบางประเภท ที่เสี่ยงสูงต่อการติดโควิด-19

  1. ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปี ขึ้นไป
  2. กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคในระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำตามธรรมชาติของโรคและด้วยยาที่ใช้รักษา
  3. กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา ทั้งนี้เว้นแต่บุคคลดังกล่าวมีความจำเป็นต้องพบแพทย์ รักษาพยาบาล การทำธุรกรรมทางการเงิน บริการส่งสินค้าเพื่อการบริโภค อุปโภค ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร การซื้อขายอาหาร การติดต่อด้านคดีกับตำรวจ อัยการ หรือศาล

ข้อ 9 มาตรการเกี่ยวกับการออกนอกราชอาณาจักร ให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้มงวดในการตรวจลงตราหรือออกวีซ่าหรืออนุญาตให้ชาวต่างประเทศซึ่งไม่ได้มีกิจการงานปกติหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรยังคงอยู่ในราชอาณาจักร บุคคลไม่มีสัญชาติไทยหรือไม่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรซึ่งประสงค์จะเดินทางออกนอกราชอาณาจักรจะได้รับอำนวยความสะดวกในการเดินทาง

ข้อ 10 มาตรการดูแลความสงบเรียบร้อย ใน กทม.ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดเวรยามหรือตั้งจุดตรวจตามถนน เส้นทางคมนาคม สถานีขนส่งหรือโดยสาร ในจังหวัดอื่นนอก กทม.อย่างน้อยให้มีมาตรการตั้งด่านตรวจหรือจุดสกัดดูแลการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัด เพื่อจัดระเบียบการเดินทาง การจราจร การเฝ้าระวังรือสังเกตอาการผู้เดินทาง และพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดโรค

ข้อ 11 มาตรการป้องกันโรค ให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด

ข้อ 12 นโยบายการยังคงให้เปิดสถานที่ทำการ เช่น โรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านอาหารในส่วนซึ่งไม่ใช่สถานบันเทิงหรือสถานบริการ และแผงจำหน่ายอาหารซึ่งผู้บริโภคซื้อไปบริโภคนอกสถานที่ ร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก ร้านค้าทั่วไป แผนกซุบเปอร์มาร์เก็ต แผนกขายยา แผนกอาหาร ธนาคาร ตูเอทีเอ็ม ตลาดและตลาดนัดในส่วนจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ อาหารสัตว์ สถานที่จำหน่ายแก๊ส บริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง delivery online รวมถึงสถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ เว้นแต่สถาบันการศึกษา

ข้อ 13 คำแนะนำเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเขต ให้ประชาชนฟัง งด หรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด กรณีจำเป็นต้องเดินทางข้ามเขต ต้องรับการตรวจคัดกรองตามที่ราชการกำหนด

ข้อ 14 คำแนะนำในการจัดกิจกรรมอื่น เช่น พิธีมงคลสมรส พิธีเช่นไหว้บรรพบุรุษ พิธีบำเพ็ญกุศล พิธีศพ พิธีสงกรานต์หรือกิจกรรมภายในครอบครัว ยังคงจัดได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค

ข้อ 15 โทษ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ข้อ 1-6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 และอาจมีความผิดตามมาตรา 52 ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 หรือ มาตรา 41 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและการบริการ 2542 แล้วแต่กรณีด้วย

ข้อ 16 การใช้บังคับ ข้อกำหนดนี้ให้ใช้บังคับทั่วราชอาณาจักรวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เว้นแต่จะมีข้อกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง