สรุปทุกมาตรการรัฐบาล “แจกเงิน-ชดเชย” สู้โควิด หลังไทยติดเชื้อ 3 เดือน

สรุปมาตรการ
ภาพ: Allison Joyce/Getty Images

ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายแรก เป็นชาวจีน เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 ถัดมาเพียง 9 วัน พบ “คนไทย” ติดเชื้อเป็นรายแรก ย่างปลายเดือนที่ 3 ผู้ติดเชื้อในประเทศ แตะหลัก 1,136 คน (27 มีนาคม 2563)

ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ-สังคม ที่ทรุดหนักเป็นแนวดิ่ง ยังหาจุดต่ำสุดไม่ได้ สวนทางกับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นเป็นทวีคูณ ธุรกิจน้อยใหญ่ พากันปิดตัว-หยุดกิจการชั่วคราว ทั้งที่เป็นไปตามคำสั่ง-ประกาศของรัฐบาล เพื่อระงับการแพร่เชื้อ คนไทยแทบทุกครัวเรือน ได้รับผลกระทบเรื่องรายได้

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวม ความช่วยเหลือที่เป็น “ตัวเงิน” ที่รัฐบาลจัดให้ ในรอบ 100 กว่าวัน ที่ผ่านมา สำหรับประชาชน 5 กลุ่มดังนี้

กลุ่มประชาชนทั่วไป

หมวดลดภาระค่าใช้จ่าย

1. ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ 3% ระยะเวลา 3 เดือน (เม.ย.- มิ.ย.) คืนค่าประกันการใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย-กิจการขนาดเล็ก 21.5 ล้านราย วงเงิน 30,000 ล้านบาท และตรึงอัตราค่าไฟ (FT) เดือนพฤษภาคม 2563 ในอัตรา 11.60 สตางค์/หน่วย วงเงิน 4,534 ล้านบาท

2. เลื่อนชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2562 จากสิ้นสุด 31 มี.ค. 63 เป็นสิ้นสุด 31 ส.ค.63

3. ยกเว้นค่าเช่าที่ราชพัสดุ 1 ปีให้กับผู้อาศัย-เกษตรกร

หมวดการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด-19

1. จัดหาหน้ากากผ้าให้ประชาชน 50 ล้านชิ้น

2. เพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จาก 15,000 บาท เป็นตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท

3. ผู้ที่มีอาการป่วยด้วยโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้ทั้งรัฐและเอกชนฟรีทั้งหมด

หมวดจัดการหนี้เดิมที่มีอยู่-ให้เงินกู้ใหม่ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ (ถ้าต้องการ)

1. พักชำระเงินต้น ไม่เกิน 1-2 ปี / ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 10-20 ต่อปี / ลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินงวดผ่อนชำระไม่เกิน 6 เดือน / ขยายระยะเวลาชำระหนี้ (ธ.ออมสิน / ธ.ก.ส.)

2. รีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต ธ.ออมสิน 100,000 บาทต่อราย ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 4 ปี

3. โรงรับจำนำปรับลดอัตราดอกเบี้ยรับจำนำ ผ่อนผันหรือยืดระยะเวลาการชำระหนี้แก้ผู้จำนำ

4. ธนาคารออมสิน/ธ.ก.ส. ปล่อยเงินกู้ฉุกเฉิน/กู้เพื่อไปชำระหนี้ที่ต้องชำระ (หนี้ผ่อนรถ/ผ่อนบ้าน) รายละ 10,000 บาท วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.1 % ต่อเดือน กู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้น-ดอกเบี้ย 6 เดือน

5. ธนาคารออมสิน ปล่อยกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงกู้เพื่อไปชำระหนี้ที่ต้องชำริ(หนี้ผ่อนรถ/ผ่อนบ้าน) รายละ 50,000 บาท วงเงิน 20,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย0.35 % ต่อเดือนกู้ไม่เกิน 3 ปี

6. สำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.)หรือโรงรับจำนำ – ประชาชนฐานราก 200,000 ราย มีเงินจ่ายค่าครองชีพ วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.125 % ต่อเดือน กู้ไม่เกิน 2 ปี รวมงบประมาณสินเชื่อแบงก์รัฐ/สธค. ทั้งหมด 30,946 ล้านบาท

7. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) วงเงิน 1,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.01 % ต่อปี ผ่านชำระไม่เกิน 6 เดือน กู้ภายใน 31 มี.ค. 63 และ วงเงิน 10,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1.0 % ต่อปี ผ่อนชำระไม่เกิน 4 เดือน กู้ภายใน 30 มิ.ย.63

หมวดสนับสนุนการจ้างงาน

1. สำนักงบประมาณจัดสรรงบ 2,700 ล้านบาท ดำเนินโครงการจ้างงานประชาชน ไม่เกิน 6 เดือน อัตราจ้างต่อเดือนไม่เกิน 9,000 บาทต่อเดือน

กลุ่มลูกจ้าง (นอกระบบประกันสังคม) เช่น ลูกจ้างรายวัน หาบเร่แผงลอย คนขับรถรับจ้าง เกษตรกร-ประชาชน (อาชีพอิสระ) ที่ไม่มีรายได้ประจำ มัคคุเทศก์ ลูกจ้างสนามมวย สนามกีฬา สถานบันเทิง นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส

หมวดแจกเงิน-ชดเชยรายได้ที่หายไป

1. รายละ 5,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลา 3 เดือน จำนวนเบื้องต้น 3 ล้านคน งบประมาณ 45,000 ล้านบาท

2. เพิ่มทักษะและเสริมความรู้ ฝึกอบรมมีเงินใช้วันละ 300 บาท งบประมาณ 4,380 ล้านบาท

กลุ่มลูกจ้างในระบบประกันสังคม

กลุ่มลูกจ้างในระบบประกันสังคม-มีรายได้ประจำ เช่น พนักงานบริษัท พนักงานห้างสรรสินค้า พนักงานสถานศึกษา พนักงานของสถานประกอบการ

1. นายจ้างหยุดกิจการ-นายจ้างปิดเอง ประกันสังคมจ่ายชดเชยร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 180 วัน (ไม่เกิน 7,500 บาท/เดือน)

2. รัฐสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว จ่ายชดเชยร้อยละ 50 ไม่เกิน 60 วัน (ไม่เกิน 7,500 บาท/เดือน)

3. ลาออก จ่ายประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตน ร้อยละ 30 ไม่เกิน 90 วัน (4,500 บาท/เดือน)

4. เลิกจ้าง จ่ายประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตน ร้อยละ 50 ไม่เกิน 180 วัน (7,500 บาท/เดือน)

5. ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม กรณีผู้ประกันตนมาตรา 33 จาก 5 % เหลือ 1 % และกรณีมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 7 % เวลา 3 เดือน และขยายเวลาส่งเงินสมบท งวดค่าจ้างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 ออกไป 3 เดือน

6. ออกร่างกฎกระทรวงเพิ่มเติม เพิ่มประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจรับประโยชน์ทดแทนตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2563 ถึงวันที่ 28 ก.พ. 2565 ร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายวัน เพราะเหตุถูกเลิกจ้าง โดยให้ได้รับครั้งละไม่เกิน 200 วัน

7.ออกร่างกฎกระทรวงเพิ่มเติม เพิ่มอัตราเงินทดแทนกรณีว่างงานร้อยละ 45 ของค่าจ้างรายวัน เพราะเหตุลาออกจากงานหรือเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้าง โดยให้ได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน

8. ออกร่างกฎกระทรวงเพิ่มเติม ประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราเต็มจำนวน 100% ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 180 วัน

กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์

กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ที่กระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้ง

1. ค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์-สัตวแพทย์ผลัดละ 1,500 บาท/คน พยาบาลและอื่น ๆ ผลัดละ 1,000 บาท/คน

2. ค่าตอบแทนภายนอกที่ไม่ใช่ข้าราชการหรือข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งของกระทรวงสาธารณสุข ในการประชุมครั้งละ 1,000 บาทต่อคน

3. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข .

กลุ่มนักลงทุน

กลุ่มนักลงทุนในตลาดเงิน-ตลาดทุน

1. เสริมสภาพคล่องให้กองทุนตราสารหนี้ มูลค่ารวม 1 ล้านล้านบาท

2. กองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ วงเงินเริ่มต้น 70,000-100,000 ล้านบาท

3. แทรกแซงตลาดตราสารหนี้ภาครัฐ