วิธีสังเกตอาการไวรัส “โควิด-19” คู่มือกักตัวในที่พักอาศัย โดยกรมควบคุมโรค

วิธีสังเกตอาการ โควิด-19 อยู่ที่บ้าน
ภาพ: Allison Joyce/Getty Images

ผู้สื่อข่าวรายงาน ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ณ วันที่ 1 เมษายน 2563 เวลา 11.36 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า

มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 120 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 1,771 ราย เสียชีวิตรายใหม่เพิ่ม 2 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 12 ราย หลักๆ ของผู้ติดเชื้อยังมาจากสนามมวย และสถานบันเทิง รวมถึงคนไทยที่กลับมาจากต่างประเทศ

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว การแยกตัว รักษาระยะห่างทางสังคม ด้วยการอยู่ในบ้าน จึงสำคัญอย่างยิ่งยวด

ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำคู่มือและมาตรการสำหรับผู้ที่ต้องแยกตัว ดังนี้

มาตรการแยกสังเกตอาการ ณ ที่พักอาศัย (Home Quarantine) กรณีเดินทางกลับจากพื้นที่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

กลุ่มเป้าหมาย :  ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเขตติดโรคติดต่ออันตราย ที่ไม่อยู่ในข่ายที่ต้องควบคุมไว้สังเกตอาการในพื้นที่ควบคุมโรคที่ทางการจัดให้ และผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดต่อเนื่อง

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กองตรวจคนเข้าเมือง) กระทรวงคมนาคม (การท่าอากาศยาน และกรมขนส่งทางบก) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ทั้งนี้ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีการประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค ให้ประชาชนที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 แยกสังเกตอาการ ณ ที่พักอาศัย โดยมีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวดังนี้

1. การปฏิบัติตนระหว่างกักตัวที่บ้าน

  • ให้หยุดการไปเรียน ไปทำงาน เข้าร่วมกิจกรรมของสถานที่ที่มีการรวมคนจำนวนมาก
  • ผู้เดินทางกลับควรนอนแยกห้อง ไม่ออกไปนอกบ้าน ไม่เดินทางไปที่ชุมชนหรือที่สาธารณะอย่างน้อย 14 วัน นับจากวันเดินทางกลับจากพื้นที่ระบาด
  • รับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น อาจรับประทานอาหารร่วมกันได้ แต่ต้องใช้ช้อนกลางทุกครั้ง
  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ร่วมกับผู้อื่น
  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที กรณีไม่มีน้ำและสบู่ ให้ลูบมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ความเข้มข้นอย่างน้อย 60%
  • สวมหน้ากากอนามัย และอยู่ห่างจากคนอื่น ๆ ในบ้านประมาณ 1-2 เมตร หรืออย่างน้อยประมาณหนึ่งช่วงแขน
  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดบุคคลอื่นในที่พักอาศัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ
  • การทิ้งหน้ากากอนามัย ใช้วิธี ใส่ถุงพลาสติก และปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำและสบู่ทันที
  • ปิดปากจมูกด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอจาม โดยปิดถึงคาง แล้วทิ้งทิชชูลงในถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้ง หรือใช้แขนเสื้อปิดปากจมูกเมื่อไอหรือจาม และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์ หรือน้ำและสบู่ทันที
  • ทำความสะอาดบริเวณที่ผู้เดินทางกลับพัก เช่น เตียง โต๊ะ บริเวณของใช้รอบ ๆ ตัว รวมถึงห้องน้ำด้วยน้ำยาฟอกขาว 5% โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนต่อน้ำสะอาด 99 ส่วน)
  • ทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ฯลฯ ด้วยสบู่หรือผงซักฟอกธรรมดาและน้ำ หรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิน้ำ 70-90 องศาเซลเซียส

2. วิธีการสังเกตและแนวทางปฏิบัติเมื่อมีอาการป่วย

  • กรณีที่มีหอพักและเจ้าหน้าที่ควรจัดให้มีจุดคัดกรองอุณหภูมิด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิแบบมือถือ (Handheld Thermometer) ที่หน้าหอพักในผู้ที่เดินทางจะเข้าออกหอพักทุกคน
  • ให้ผู้เดินทางสังเกตอาการไข้และอาการระบบทางเดินหายใจ แนะนำให้วัดอุณหภูมิร่างกายทุกวัน

2.1 อาการไข้ ได้แก่

  • วัดอุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือ
  • มีอาการสังสัยว่ามีไข้ ได้แก่ ตัวร้อน ปวดเนื้อปวดตัว หนาวสั่น

2.2 อาการระบบทางเดินหายใจ ได้แก่

  • ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือ หายใจลำบาก
  • หากพบอาการป่วยข้อใดข้อหนึ่ง ให้รีบไปพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง โดยขณะเดินทางมาโรงพยาบาลโดยรถยนต์ส่วนตัวให้เปิดหน้าต่างรถยนต์ไว้เสมอ

3. การปฏิบัติตัวของคนในบ้านและการทำลายเชื้อ

  • ทุกคนในบ้านควรล้างมือบ่อยครั้งที่สุด เพื่อลดการรับและแพร่เชื้อ โดยใช้น้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที กรณีไม่มีน้ำและสบู่ ให้ลูบมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นอย่างน้อย 70%
  • เฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยของผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือสมาชิกในบ้าน ภายในระยะเวลา 14 วัน หลังสัมผัสผู้ป่วย
  • ควรนอนแยกห้องกับผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ
  • อาจรับประทานอาหารร่วมกันได้ แต่ต้องใช้ช้อนกลางทุกครั้ง
  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ร่วมกับผู้เดินทางกลับ
  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดในระยะ 1 เมตร
  • ทำความสะอาดบริเวณที่ผู้เดินทางกลับพัก เช่น เตียง โต๊ะ บริเณของใช้รอบ ๆ ตัวของผู้ป่วย รวมถึงห้องน้ำ ด้วยน้ำยาฟอกขาว 5% โซเตียมไฮโปคลอไรท์ (น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนต่อน้ำสะอาด 99 ส่วน)
  • ทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ฯลฯ ด้วยสบู่หรือผงซักฟอกธรรมดาและน้ำ หรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิน้ำ 70-90 องศาเซลเซียส
  • หากมีเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดห้องพักของผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ระบาด เช่น แม่บ้าน ควรใส่ชุดป้องกันร่างกาย ได้แก่ หน้ากากอนามัย หมวกคลุมผม แว่นตากันลม ถุงมือยาง รองเท้าบู๊ท และผ้ากันเปื้อนพลาสติก