ประวัติ “หมอทวีศิลป์” จากเด็กพับถุงขาย สู่ดราม่า “โฆษก ศบค.”

คำว่า “ผักสวนครัวรั้วกินได้” กับเงินที่รัฐบาลแจก 5,000 บาท ทำให้ประชาชนใช้ชีวิตอยู่ได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกโต้แย้ง

ตามด้วยถ้อยแถลงที่กล่าวถึง คำสั่ง-คำปรารภ ของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่เยิ่นเย้อ ไม่สบอารมณ์ชาวเน็ต และสื่อบางราย กลายเป็นวิวาทะในสังคมออนไลน์

ทำให้ในช่วงท้ายของการแถลงข่าววันที่ 11 เมษายน 2563 หมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน จิตแพทย์ ในฐานะ “โฆษกศูนย์โควิด” พูดถึงกระแสวิจารณ์ ดังกล่าว ตอนหนึ่งว่า…

“คำแนะนำจากประชาชนและนักวิชาการ ส่วนตัวได้รับทราบและยอมรับทุกเรื่อง เพราะเป็นจิตแพทย์ แต่พยายามทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้แถลงข่าวอย่างดีที่สุด โดยมีศัตรูร่วมกันคือ โควิด-19 ต้องทำให้ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มเป็นศูนย์ ประเทศไทยต้องการแรงร่วมใจ 100% สู้โควิดทำให้ชาวโลกได้เห็นครับ”

ทัศนะมองโลก และการทำหน้าที่บนโพเดียมของ “หมอทวีศิลป์” มีที่มา

ก่อนที่เขาจะเข้าสู่เส้นทางในทำเนียบ มีอาชีพและผลงาน เป็นนักจัดรายการวิทยุถาม-ตอบปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต และสุขภาพ เช่นรายการยู-ไลฟ์ รายการเฮลท์ สเตชั่น ทางฟรีทีวี 1 ในผู้ก่อตั้ง www.thaimental.com เว็บไซต์ด้านสุขภาพจิต

26 มีนาคม 2563 คือ วันแรกในการดำรงตำแหน่งในทำเนียบ ด้วย “คำสั่ง” แต่งตั้งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

เหตุผลเบื้องหลังส่วนหนึ่งมาจากไม่ต้องการให้ผู้มีตำแหน่งทางการเมือง มีได้มีเสีย กลับความเคลื่อนไหวในศูนย์โควิด

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา “หมอทวีศิลป์” ประจำบนโพเดียมทุกวันต่อเนื่อง ไม่เคยขาด

มีทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ ตามหลังการแถลงข่าวทุกวัน แต่ “หมอทวีศิลป์” ยืนยันว่า เขาทำการบ้านและเปิดใจรับฟังข้อมูลจากทุกส่วน

อาจเป็นเพราะพื้นเพ เป็นลูกชาวบ้าน จังหวัดนครราชสีมา ฐานะยากจนผ่านวันที่ไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ ต้องพับถุงกระดาษขาย เรียนหนังสือจนได้เป็นแพทย์ชนบท

“หมอทวีศิลป์” เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อไว้ว่า

ช่วงชีวิตวัยเด็กมีความสุขปนทุกข์อยู่ตลอดเวลา และคงไม่มีช่วงชีวิตตอนไหนจะแย่ไปกว่านี้อีกแล้ว

“ผมต้องตื่นแต่เช้ามาเลี้ยงหมู พับถุงขาย และทำทุกอย่างที่สุจริต เพื่อให้ได้เงินมาซื้อข้าวกินและเรียนหนังสือ บางวันจนถึงขนาดที่ว่าพรุ่งนี้ยังไม่รู้จะเอาอะไรมากิน”

ความทุกข์-ของชีวิต เขาก้าวผ่านมาได้ด้วยพลังของคนในครอบครัว ที่มีพี่-น้อง 5 คน

“ความทุกข์ช่วงนั้นมันช่างมหาศาล แต่เราถีบตัวมาได้เพราะครอบครัวเรา พ่อ แม่ และพี่น้อง”

ลำบากแค่ไหน-เลวร้ายเพียงใด “หมอทวีศิลป์” เล่าไว้ว่า

“บางวันไม่มีแม้เงินจะซื้อข้าวสารมากรอกหม้อ ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านไม่มีอะไรเลย แต่ก็ยังมีโจรมาปล้นบ้านได้ ผมยังจำได้ถึงวันที่มีขโมยปล้นบ้าน เขาจับพ่อผมมัดไว้ แถมยังขู่จะฆ่าอีก ทั้งที่ได้ทรัพย์สินไปไม่กี่ชิ้น และเงินที่ได้ไปก็แค่ไม่กี่บาท คงไม่มีอะไรจะเลวร้ายไปกว่านี้อีกแล้ว”

เพราะความจน-จึงมี “หมอทวีศิลป์”

“ความจนไม่ได้ทำให้ผมเป็นทุกข์ เพราะผมมีครอบครัวที่อบอุ่น แต่ผมกลับคิดได้ว่าประสบการณ์จากความจนในอดีต ที่ทำให้ผมมีโอกาสได้คัดแยกกองขยะที่บรรดาญาติๆ ซึ่งทำโรงงานเฟอร์นิเจอร์ขนเอามาให้เป็นเชื้อเพลิงต้มข้าวให้หมูกิน ทำให้ผมกลายเป็นคนที่ละเอียดอ่อน ใจเย็น และประหยัด”

รื้อขยะเป็นสินทรัพย์…

“ผมต้องช่วยคนในครอบครัวรื้อกองขยะ เพื่อเอาไม้แผ่นใหญ่มาทำเป็นพื้นกระดานและฝาบ้าน เอาไม้แผ่นเล็กไปทำบ้านนกกระจอก เอาเศษไม้และขี้เลื่อยไปทำฟืน ส่วนตะปูที่ปนมาก็คัดแยกเอาไว้ใช้”

ปากกัดตีนถีบ -เคยทุกข์ ถึงมีวันนี้…

“ผมโชคดีที่เคยเกิดมาเป็นคนจน ความไม่มีในครั้งนั้นจึงสอนให้ผมมองว่า ทุกข์-สุข ที่มีอยู่ทุกวันนี้ เป็นเพียงเศษเสี้ยวนิดเดียว…เพราะที่พ่อแม่ของเราเคยเจอ มันหนักหนาสาหัสกว่ามาก พ่อแม่ของผมต้องปากกัดตีนถีบ เพื่อส่งลูก 5 คนเรียนจนจบขั้นต่ำปริญญาโททุกคน”

พี่ชายคนโต-จบปริญญาโทด้านการบริหาร
พี่-น้อง รวมเขา เป็นหมอ 3 คน
น้องคนเล็ก-จบปริญญาโท ด้านสถิติ

“ทั้งหมดเกิดจากที่เราทุกคนมองเห็นคุณค่าที่พ่อสอนไว้ ทำให้เราไม่กล้าเกเร แต่ต้องใฝ่ดี เพื่อไม่ให้พ่อแม่ผิดหวัง”

ชีวิตการเป็นหมอ เขายึดหลักว่า “ทำงานให้สนุกไปกับงาน จะทำอะไร ใจ สมอง ต้องอยู่กับงานที่ทำ”

คนไข้คือครู-ไม่ทุกข์ที่ไม่รวย

“ผมเอาคนไข้มาเป็นครูสอนใจเรา บางคนที่มาปรึกษารวยเป็นพันล้านบาท แต่เงินก็ไม่สามารถซื้อความสุขได้ จะมีเงินเป็นร้อยล้านพันล้าน ก็ไม่ใช่หลักประกันว่าจะมีความสุข แต่ความสุขอยู่ที่การอยู่กับครอบครัว ซึ่งทำให้ผมไม่เคยรู้สึกว่าเป็นทุกข์เลยที่เกิดมาจน”

“คนที่มีความทุกข์หลายคน มองแต่ข้อเสียของความทุกข์ แล้วขยายความทุกข์ออกไปจนคับหัว ทำให้มองความสุขจากความทุกข์ไม่เห็น ถ้าเรามีความทุกข์ ก็อย่าไปมองแค่ความทุกข์เลย แต่ให้บีบความทุกข์ให้เล็กลงๆ เรื่อยๆ แล้วความสุขจะมากขึ้นเอง”

เวลา-กับครอบครัวคือพลังชีวิต

“ผมลงทุนปิดคลินิกย่านวงเวียนใหญ่ เพื่อทุ่มเทเวลาหลังเลิกงานให้กับลูกทั้ง 2 คน พลังของครอบครัวไม่มีอะไรที่จะสามารถทดแทนได้ ผมเคยคิดน้อยใจว่าทำไมพ่อเราไม่เป็นข้าราชการ ไม่ใช่เสนาบดี ไม่ใช่เศรษฐี ไม่มีฐานะเหมือนเพื่อนๆ ที่มีคนขับรถมาส่งที่โรงเรียน แต่มันก็เป็นความรู้สึกของเด็กๆ ที่แวบๆ เข้ามาเท่านั้น มาถึงวันนี้ผมดีใจที่ครอบครัวเป็นอย่างนี้ เพราะมันทำให้พี่น้องเรารักกัน ทำให้เรารักพ่อรักแม่ และเป็นพลังที่เปลี่ยนชีวิตของเราได้”

……..


ข้อมูลบางส่วนจาก มติชน (ฉบับ 20 มกราคม 2550)