สาธารณสุข เผย วัคซีน mRNA จุฬาฯ เทียบเคียงไฟเซอร์

ภาพจาก pixabay

กระทรวงสาธารณสุข เผยวัคซีน mRNA จุฬาฯ เทียบเคียง ไฟเซอร์ เริ่มวิจัยในคน ม.ค.ปีหน้า 

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี บริษัท ไฟเซอร์ อิงค์ ของสหรัฐอเมริกา และ ไบโอเอ็นเทค เยอรมนี เผยความสำเร็จในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมากกว่า ร้อยละ 90

ล่าสุด มติชน รายงานว่า ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการแถลงข่าวความคืบหน้า เรื่องการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19

โดย นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นข่าวดี เนื่องจาก 1.ความสำเร็จครั้งนี้ย่อมเป็นความหวังว่าจะได้ใช้วัคซีนในระยะเวลาใกล้นี้ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทวัคซีนที่ทดลองในมนุษย์ 11 บริษัท และทดลองวัคซีนในรูปแบบกระตุ้นภุมิคุ้มกันเพื่อป้องกันเชื้อเหมือนกัน

2.การทดลองวัคซีนของไฟเซอร์ เป็นชนิด mRNA ซึ่งก็ถือว่าทำให้มีความหวังมาก เพราะจริงๆ แล้วองค์การอนามัยโลก ระบุว่าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมากกว่า ร้อยละ 50 ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว แต่กรณีไฟเซอร์มีประสิทธิภาพถึงร้อยละ 90 และด้วยเป็นชนิด mRNA ซึ่งไทยโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ระหว่างพัฒนาก็เป็นชนิด mRNA เช่นกัน ดังนั้น จึงถือว่ามาถูกทาง ซึ่งของจุฬาฯ วางแผนวิจัยในมนุษย์ช่วงเดือนมกราคม 2564

3.วัคซีนนี้มีความปลอดภัย เนื่องจากการทดลองในอาสาสมัครทั้งหมด 43,000 ราย และได้รับวัคซีนไปแล้ว 38,000 ราย ซึ่งจำนวนอาสาสมัครเป็นหมื่นๆ คน ที่ได้รับวัคซีนไปแล้วนั้น ถือว่าปลอดภัย แต่เพื่อความมั่นใจมากขึ้นก็ต้องติดตามในอาสาสมัครอื่นๆจนครบต่อไป

4.หลังจากนี้ไฟเซอร์ก็ต้องมีการติดตามผลต่อเนื่อง จากนั้นจึงจะขอยื่นขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของสหรัฐ ก็ต้องขึ้นอยู่กับ อย.สหรัฐว่า จะให้ขึ้นทะเบียนให้ใช้ได้ในภาวะฉุกเฉินหรือไม่ หรือต้องขอข้อมูลเพิ่มเติม เพราะยังต้องติดตามว่า ประสิทธิภาพการป้องกัน หรือภูมิคุ้มกันอาจลดลงหรือไม่ เนื่องจากข้อมูลของไฟเซอร์ทดลองในระยะเวลา 2 เดือน ดังนั้น ต้องติดตามว่า เมื่อเวลาผ่านพ้นไปอาจมีเหตุการณ์ที่ทำให้ภูมิลดลงก็เป็นได้ว่า ประสิทธิภาพร้อยละ 90 จะลดลง หรือจำนวนเข็มที่ฉีดจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นอีกหรือไม่

5.การที่ไฟเซอร์ประกาศว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพร้อยละ 90 นั้น อาจนำไปสู่การค้นพบภูมิคุ้มกัน ที่เป็นตัวกำหนดในการป้องกันโรคก็เป็นได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องติดตามว่า จะเป็นอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ทางไฟเซอร์จะประกาศประสิทธิภาพของวัคซีนนั้น ได้มีการนัดล่วงหน้าหารือกับทางไทยเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ซึ่งจะมีการหารือกันในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยทางเราจะขอข้อมูลเชิงลึกกับทางไฟเซอร์ เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายของไทยกับไฟเซอร์ด้วย

ด้าน พญ.สุชาดา เจียมศิริ ผู้อำนวยการกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมควบคุมโรค อยู่ระหว่างการจัดเรียงความสำคัญกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในกรณีมีวัคซีนแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มแรกที่จะได้รับ คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยง ส่วนกลุ่มอื่นๆ อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งต้องมีข้อมูลทั้งอัตราการป่วย อัตราการเสียชีวิต โดยจะนำข้อมูลจากต่างประเทศมาประกอบ คาดว่าทั้งหมดจะชัดเจนภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ จากนั้นจึงจะเสนอต่อคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติพิจารณาต่อไป