อย. ปลดล็อกกัญชง ให้ ปชช.เข้าถึงการปลูก-นำเข้าส่งออก มีผล 29 ม.ค.64

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เรื่องการขออนุญาตและการอนุญาต ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 เฉพาะกัญชง พ.ศ.2563 ว่า

กัญชาและกัญชง เป็นพืชที่มีต้นกำเนิดจากสกุลเดียวกัน คือ แคนนาบิส(Cannabis) โดยมีสาระสำคัญที่ อย. ใช้จำแนกคือ สารทีเอชซี(Tetrahydrocannabinol :THC) ที่มีผลต่อจิตประสาท ทำให้หลอนหรือเมา หากมากกว่าร้อยละ 1 ต่อน้ำหนักแห้งจะเป็นกัญชาและน้อยกว่าคือกัญชง อย่างไรก็ตาม การควบคุมกัญชาและกัญชง ตามพระราชบัญญัติ(พรบ.) ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2562 ฉบับ 7 ยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อยู่ ของกัญชามีกฎหมายชัดเจนว่าให้ใช้ทางการแพทย์ ศึกษาวิจัย โดยผู้มีคุณสมบัติในการขออนุญาตได้คือหน่วยงานของรัฐ วิสาหกิจชุมชนร่วมกับหน่วยงานรัฐ และส่วนของกัญชง ในกฎหมายเขียนชัดเจนว่า ให้ออกกฎกระทรวงโดยเฉพาะ ดังนั้น กฎกระทรวงเรื่องกัญชง ที่เผยแพร่ทางราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ชัดเจนว่าเป็นการออกตามพรบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2562 ฉบับที่ 7

ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า กฎกระทรวงดังกล่าวเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล หน่วยราชการ วิสาหกิจชุมชนหรือภาคเอกชน ขออนุญาตผลิต ซึ่งทำได้ใน 2 รูปแบบคือ ปลูกและสกัด ขออนุญาตนำเข้า ส่งออก จำหน่ายได้ แต่เน้นย้ำว่าต้องขออนุญาตก่อน โดยวัตถุประสงค์ในการขอสามารถทำได้หลายอย่าง เช่น ตามกฎกระทรวงข้อที่ 4 หากเป็นหน่วยงานรัฐ ขออนุญาตปลูกเพื่อนำไปขายเชิงพานิชย์ ประโยชน์ทางการแพทย์ การวิจัย ปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์นำไปขาย นอกจากนี้ กัญชงอยู่กับวิถีชีวิตของชาวเขาเผ่าม้งมานาน เช่น การนำเส้นใยผูกขวัญเด็กแรกเกิด การถักทอเสื้อผ้า ประกาศดังกล่าวจึงระบุด้วยว่าเพื่อการใช้ประโยชน์จากเส้นใยตามประเพณี วัฒนธรรม หรือวิถีชีวิต และใช้ในครอบครัวเท่านั้น ทั้งนี้ มีพื้นที่ปลูกได้ครอบครัวละไม่เกินหนึ่งไร่
“วัตถุประสงค์แต่ละข้อ ไม่ว่าจะทางการแพทย์ ทางพานิชย์ หรืออื่น ๆ ก็จะมีการขออนุญาตตามวัตถุประสงค์ซึ่งมีเอกสารที่แตกต่างกันเล็กน้อยในการขออนุญาต กฎกระทรวงฉบับนี้ลงราชกิจจาฯ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ระบุชัดว่าจะมีผลบังคับใช้ใน 30 วันหลังประกาศในราชกิจจาฯ ก็คือวันที่ 29 มกราคม 2564 สามารถยื่นขออนุญาตได้” ภญ.สุภัทรา กล่าว
ภญ.สุภัทรา กล่าวอีกว่า ตามกฎกระทรวงข้อที่ 11 ระบุในเรื่องขอการขออนุญาต ไว้ว่า ในกรณีที่ขออนุญาตผลิต จำหน่าย ครอบครอง หากสถานที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร(กทม.) สามารถขออนุญาตได้ที่ อย. ส่วนต่างจังหวัดให้ติดต่อไปยังสำนักงานสาธารณสุข(สสจ.) ในจังหวัดที่จะดำเนินการ แต่หากเป็นกรณีนำเข้าหรือส่งออกจะต้องติดต่อขออนุญาตที่ อย.เท่านั้น
ขณะที่ ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า ตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2563 ที่ปลดล็อกส่วนของพืชกัญชาและกัญชงที่ไม่รวมช่อดอก ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 จึงทำให้ใบ แก่น ราก ลำต้น กิ่ง ที่ไม่เป็นยาเสพติด ฉะนั้นผู้ที่รับอนุญาตปลูกกัญชง ก็สามารถขายส่วนที่ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษตามประกาศไปยังผู้ที่จะนำไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้
“สิ่งที่ อย.กำลังทำคือพยายามออกกฎหมายให้ใช้ทุกส่วนของกัญชาและกัญชงให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยอิงตามความเสี่ยงของส่วนต่างๆ ของต้น เช่น ช่อดอกยังคงเป็นยาเสพติดและดำเนินตามแท็กของยาเสพติด ส่วนที่ทีเอชซีน้อยก็ขายไปยังผู้ที่จะนำไปทำผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยที่ อย.ดูแล ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องสำอาง สมุนไพร และยา ก็จะมีกฎหมายมารองรับให้ใช้ส่วนของกัญชงออกมาเป็นสินค้าขาย อย่างไรก็ตามประกาศกระทรวงของผลิตภัณฑ์ ๆ เริ่มทยอยออกมา” ภญ.สุภัทรา กล่าว
ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า ตอนนี้มีประกาศเครื่องสำอางออกมาแล้วว่า สามารถให้น้ำมันหรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ใช้ในเครื่องสำอางได้ และต้นปี2564 ก็จะมีประกาศให้สารซีบีดี(Cannabidiol :CBD) อยู่ในเครื่องสำอางได้เช่นกัน ทั้งนี้ กำลังจะออกประกาศอาหาร เรื่องของการนำเมล็ดกัญชงทำเป็นอาหารเสริมได้ และโดยเฉพาะสมุนไพร มีความเปิดกว้างมาก ซึ่งสามารถนำกัญชงไปทำผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น ลูกประคบ ยาหมอง ครีมทาแก้แพ้จากน้ำมันกัญชง ทั้งนี้ อย.จะประกาศอนุญาตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ออกมาอีกเพิ่มเติม เพื่อเปิดกว้างให้ประชาชนสามารถนำไปสร้างรายได้และเศรษฐกิจได้