กรมอนามัยเตือน ดื่ม “น้ำบาดาล” ไม่ผ่านระบบกรองอันตราย-ฟันตกกระ

น้ำบาดาลโซดา

กรมอนามัย แนะนำให้ดื่มน้ำบาลที่ผ่านระบบกรองตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ​หลีกเลี่ยงรับโดยตรงจากแหล่งน้ำดิบ

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 จากกรณีที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ออกมายืนยันว่า “น้ำบาดาลโซดา” ที่เจาะพบที่ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี สามารถดื่มได้ ไม่มีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ล่าสุด มติชนรายงานว่า นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า การนำน้ำมาดื่ม ขอให้หลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแหล่งน้ำดิบมาดื่มโดยตรง ควรเป็นน้ำดิบที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพด้วยการกรอง

สำหรับ “น้ำบาดาลโซดา” จากแหล่งน้ำดิบตามที่เป็นข่าวนั้น มีค่าฟลูออไรด์สูง อยู่ที่ปริมาณ 1.1 – 1.4 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีค่าเหล็กสูงอยู่ที่ปริมาณ 10 – 28 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งสูงเกินกว่าเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ กรมอนามัย พ.ศ. 2563 กำหนดตามคำแนะนำของ องค์การอนามัยโลก ระบุว่า

ฟลูออไรด์ต้องมีค่าไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร และเหล็กต้องมีค่าไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร เนื่องจากหากร่างกายได้รับฟลูออไรด์ ปริมาณสูงเกิน 0.07 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน เป็นเวลานานจะเป็นสาเหตุของการเกิดสภาวะฟันตกกระตามมาได้

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับเหล็กนั้น หากมีในน้ำดื่มไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อลิตร สามารถดื่มได้ทุกวันโดยไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ถ้ามากกว่านั้นอาจจะเกิดการสะสมจนเกิดภาวะเหล็กเกิน ตามอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อต่อ ตับ ตับอ่อน และหัวใจ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคตับ โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน เนื่องจากในแต่ละวันคนเราจะได้รับเหล็กในอาหารเป็นหลักอยู่แล้ว

Advertisment

“ทั้งนี้ น้ำที่เหมาะสำหรับการบริโภคในครัวเรือนนั้น ควรมีคุณภาพตามเกณฑ์แนะนำขององค์การ อนามัยโลก ซึ่งกรมอนามัยใช้เป็นแนวทางในการจัดทำเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้มาโดยตลอด ซึ่งประกาศกรมอนามัย เรื่องเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ กรมอนามัย พ.ศ. 2563 ได้กำหนดเกณฑ์เพื่อชี้วัดคุณภาพน้ำประปา ที่เหมาะสมสำหรับการบริโภค”

“โดยมีตัวชี้วัดทั้งทางด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ จำนวน 21 รายการ เพื่อเป็นเกณฑ์อ้างอิงทางวิชาการที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาให้เหมาะสมสำหรับการบริโภคในครัวเรือน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

Advertisment