ธุรกิจดีลโรงพยาบาลซื้อวัคซีน “แบงก์-AIS-SCG” ฉีดพนักงาน

วัคซีน
Photo by Hauke-Christian Dittrich / POOL / AFP

ยักษ์ธุรกิจขานรับรัฐเปิดทางนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เสรี “เอไอเอส-SCG-บางจาก-แบงก์กรุงศรี” พร้อมควักกระเป๋าจ่าย ดีล รพ.เอกชน จองซื้อล่วงหน้า อย.ไฟเขียวระดมฉีดให้พนักงานทันที ชี้ลดเสี่ยงติดเชื้อ สร้างความเชื่อมั่นลูกค้า ลุ้นกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติได้เร็วขึ้น ทอท.โฟกัสพนักงานด่านหน้า 6 สนามบินหลัก 7 สายการบิน ชงรัฐขอโควตาฉีดให้กัปตัน-ลูกเรือ ซีพีเอฟขอศึกษาทางเลือกนำเข้าเอง-ซื้อผ่าน รพ.

วัคซีนโควิด-19 กำลังเป็นความหวังและตัวช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทั้งด้านสุขภาพอนามัยและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ลอตแรกของซิโนแวค 20,000 โดส กับแอสตร้าเซนเนก้า 117,000 โดส ใน 13 จังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุม และกลุ่มจังหวัดที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กับจังหวัดที่มีสถานกักกันโรครองรับผู้เดินทางจากต่างประเทศให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ และจะเปิดให้เอกชนนำเข้าวัคซีนโดยให้ยื่นเอกสารขึ้นทะเบียนวัคซีนกับองค์การอาหารและยา (อย.) ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

ล่าสุดบริษัทเอกชนรายใหญ่ทั้งไทย-ต่างชาติหลายรายได้เตรียมการจัดหาวัคซีนโควิดฉีดให้กับพนักงาน เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าคู่ค้า ทำให้บริษัทสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติได้เร็วขึ้น ทั้งยังแบ่งเบาภาระงบประมาณ ช่วยให้รัฐบาลกระจายวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศได้เร็วกว่าเดิม

SCG ดูแลพนักงาน 4 หมื่นคน

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เอสซีจีมีมาตรการดูแลและป้องกันพนักงานภายใต้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 อย่างเข้มงวดและอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาได้มีมาตรการดูแลพนักงานในเครือหลากหลายมาตรการ รวมทั้งการเร่งรัดฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิดด้วย

“ผมเชื่อว่าหลายบริษัทที่มีกำลังและยินดีจ่ายค่าวัคซีน อย่างเอสซีจีก็ยินดีที่จะเข้ามาช่วยในส่วนนี้ เรามีพนักงาน 4 หมื่นคนในเมืองไทยที่ต้องดูแล โดยให้รัฐบาลเป็นตัวกลางหาวัคซีน และรัฐบาลก็สามารถไปดูแลกลุ่มอื่น ๆ ได้ อย่างน้อยเราก็ช่วยทำให้มีการเข้าถึงวัคซีนได้เร็วขึ้น ความสำคัญก็คือ การใช้เวลาในช่วง 2-3 เดือนนี้เตรียมตัวให้พร้อม เช่น การลงทะเบียนรับวัคซีน สถานที่ในการฉีด หากรัฐบาลกับเอกชนร่วมมือกัน และตั้งเป้าให้ฉีดได้ครึ่งหนึ่งของประเทศก่อนจบสิ้นปี ผมคิดว่าเราจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีความพร้อมที่จะเปิดเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่” นายรุ่งโรจน์กล่าว

AIS ฉีดให้ทั้ง พนง.-ครอบครัว

นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทกำลังเตรียมการจัดหาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้พนักงาน โดยได้ติดต่อประสานงานไปยังโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งที่มีการนำเข้าวัคซีน เช่น กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท แต่ยังไม่ทราบระยะเวลาที่แน่ชัดว่าจะนำเข้ามาฉีดได้เมื่อไร คาดว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของทางราชการ แต่บริษัทได้เตรียมงบประมาณไว้ราว 45 ล้านบาท สำหรับฉีดให้กับพนักงานราว 9,000 คน และพยายามขอโควตาเพิ่มเติมสำหรับฉีดให้ครอบครัวพนักงานด้วย

“สำหรับพนักงานเราจะออกค่าใช้จ่ายให้ ส่วนครอบครัวพนักงานถ้ามีความต้องการก็อาจจะจ่ายให้ก่อนแล้วเก็บเงินทีหลัง”

แบงก์กรุงศรีรอ รพ.เอกชน

ขณะที่ นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ตอนนี้ธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณานำวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข้ามาฉีดให้กับผู้บริหารและพนักงานของธนาคาร อย่างไรก็ดีอาจต้องรอโรงพยาบาลเอกชนสามารถนำวัคซีนเข้ามาในประเทศให้ได้จำนวนที่เพียงพอก่อน เนื่องจากขณะนี้ปริมาณวัคซีนยังไม่เพียงพอ ซึ่งธนาคารไม่ได้ต้องการไปแย่งกับรัฐบาลในการฉีดให้กับประชาชน แต่เพื่อเป็นการดูแลพนักงาน นอกจากนี้ธนาคารได้ซื้อประกันโควิด-19 ให้กับพนักงานทุกคนด้วย

บางจากดีลจองล่วงหน้า

กลุ่มบางจากฯเป็นอีกรายหนึ่งที่กำลังเตรียมการจัดหาวัคซีนโควิด โดยนายโชคชัย อัศวรังสฤษฎ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบริหารและพัฒนาศักยภาพองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทราบว่ารัฐบาลมีนโยบายที่จะแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชาชนทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่เนื่องจากช่วงเวลาที่จะได้วัคซีนจากรัฐบาลยังไม่ชัดเจน ทางบางจากฯจึงได้ตรวจสอบกับทางโรงพยาบาลเอกชนไว้ ถ้าหากโรงพยาบาลเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนได้เร็วเท่าใดก็จะฉีดให้กับพนักงานเร็วขึ้นเท่านั้น โดยจะโฟกัสที่กลุ่มพนักงานที่มีความจำเป็นก่อน หรือในอนาคตหากพนักงานต้องเดินทางไปต่างประเทศก็จะมีสมุดยืนยันการฉีดวัคซีน เพื่อความสะดวกในการทำธุรกิจ ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานทั้งหมดประมาณ 1,000 คน

ทียูหนุนเต็มสูบพร้อมจ่ายเอง

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู เปิดเผยว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลจะให้ภาคเอกชนนำเข้าวัคซีนเอง เพราะถ้ารอตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลจะฉีดให้กับประชาชนทั้งประเทศอาจช้า แต่เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐว่าจะเอาอย่างไร ถ้าให้สามารถนำเข้าวัคซีนเองได้บริษัทก็มีความพร้อมนำเข้า แต่ถ้ารัฐช่วยสนับสนุนได้บางส่วนก็แบ่งเบาภาระผู้ประกอบการ และขึ้นอยู่กับราคาวัคซีนที่ได้ด้วย

แหล่งข่าวจากทียูเปิดเผยเพิ่มเติมว่าเบื้องต้นนโยบายบริษัทคงไม่ได้นำเข้าวัคซีนเอง อาจซื้อจากบริษัทที่นำเข้าเพื่อฉีดให้พนักงาน เนื่องจากมีแรงงานต่างด้าวทำงานจำนวนมาก จึงต้องเร่งฉีดให้เร็วที่สุดเพื่อให้โรงงานปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า

CPF ยังไม่ตัดสินใจ

ด้าน นายประสิทธิ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า เพิ่งทราบว่ารัฐบาลมีนโยบายให้ภาคเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนมาฉีดได้ จากเดิมรัฐจะเป็นผู้ดำเนินการเอง ได้หารือเรื่องนี้เป็นการภายในแล้ว ถ้าทำได้บริษัทก็สนใจอยากจะทำเพราะต้องการเพิ่มมาตรการให้พนักงานมีความปลอดภัย เพราะหากรอการฉีดวัคซีนตามไทม์ไลน์ของรัฐ แรงงานในวัยหนุ่มสาวจะต้องรออีกนาน อย่างไรก็ตามจะศึกษารายละเอียดถึงขั้นตอนต่าง ๆ เช่น จะนำเข้าหรือซื้อผ่านโรงพยาบาลที่นำเข้า ก่อนกำหนดแนวทางชัดเจนอีกครั้ง

ปตท.รอกลุ่มเสี่ยงได้วัคซีนก่อน

ในส่วนของ บมจ.ปตท.มีรายงานข่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาความเป็นไปได้ในการนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฉีดให้กับพนักงานทั้งพนักงานในไทยและต่างประเทศ แต่เนื่องจากวัคซีนเป็นที่ต้องการของทั่วโลก ประกอบกับรัฐบาลนำเข้าวัคซีนเพื่อฉีดให้กับประชาชนในกลุ่มเสี่ยงก่อนเป็นอันดับแรก จึงต้องให้มั่นใจก่อนว่าซัพพลายวัคซีนในตลาดมีจำนวนมากพอ เพราะไม่ต้องการให้การนำเข้าวัคซีนของ ปตท.กระทบการนำเข้าวัคซีนของภาครัฐ หรือส่งผลทำให้ราคาปรับสูงขึ้น

ปัจจุบันพนักงาน ปตท.มีราว 3,500 คน หากรวมกลุ่มบริษัท ปตท.ทั้งหมดจะอยู่ที่กว่า 20,000 คน หากรัฐบาลให้ภาคเอกชนนำเข้าวัคซีนได้เอง ปตท.ก็มีความพร้อม และมีเจ้าหน้าที่ชำนาญการในการฉีดวัคซีนให้พนักงานด้วย แต่ยังดำเนินมาตรการป้องกันโควิด-19 เข้มข้นเหมือนเดิม โดยพนักงาน 20-25% ให้ทำงานจากที่บ้านเพื่อลดความแออัด ลดความเสี่ยงติดเชื้อ

เอสซีกรุ๊ป 50% ไม่รับวัคซีน

ด้าน นายณัฐพงษ์ รัตนสุวรรณทวี กรรมการผู้จัดการ กลุ่ม บจ.เอส ซี กรุ๊ป ผู้ดำเนินธุรกิจขนส่งครบวงจร ทั้งการขนส่งทางรถยนต์ เรือ และอื่น ๆ รวมถึงธุรกิจพลังงาน เช่น น้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ระบุว่าเอสซี กรุ๊ปมีพนักงานกว่า 3,000 คน เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้สอบถามพนักงานทั้งหมด ว่ามีความเห็นอย่างไรที่บริษัทมีนโยบายให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผลปรากฏว่าสัดส่วนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอยู่ที่ 50 : 50 ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าแนวทางดูแลพนักงานจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ พนักงานส่วนที่ “ไม่รับการฉีดวัคซีน” ให้เหตุผลว่า ค่อนข้างกังวลในแง่ของอาการข้างเคียง อย่างไรก็ตามได้แจ้งว่า บริษัทพร้อมจะจัดหาวัคซีนฉีดให้กับพนักงาน และต้องการให้ได้วัคซีนทุกคน โดยให้กลับไปปรึกษากับครอบครัวก่อนให้คำตอบ

ดึงเอกชนจัดซื้อเพิ่ม 20 ล้านโดส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด นพ.โสภณ เมษธน ผู้ช่วย รมต.ประจำกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะที่ปรึกษา รมต.สาธารณสุข เมื่อ 4 มี.ค.ได้หยิบยกเรื่องการให้เอกชนเข้ามาร่วมมือในการจัดหาวัคซีนโควิด เพิ่มเติมจาก 63 ล้านโดส ที่รัฐบาลเตรียมการไว้ โดยจัดหาเพิ่มอีก 15-20 ล้านโดส และเห็นว่าในพื้นที่ท่องเที่ยวและพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต้องเร่งกระจายฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วถึงโดยเร็ว

ทอท.ฉีดพนักงาน 3 พันคน

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เปิดเผยว่า ทอท.เตรียมการจะซื้อวัคซีนโควิดฉีดให้กับพนักงานเป็นด่านหน้า (front line) 3,000 คน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ภายในสนามบิน 6 แห่งที่ ทอท.ดูแล ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ และแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เนื่องจากเป็นกลุ่มพนักงานที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง ต้องป้องกันสวัสดิภาพ สุขภาพให้พนักงาน ซึ่งเป็นการดูแลขององค์กร

“เพิ่งสำรวจความสมัครใจของพนักงานแล้วเสร็จเมื่อ 10 วันที่ผ่านมารอดูรัฐบาลถึงแนวทางการจัดสรรวัคซีนคู่ขนานกับติดต่อโรงพยาบาลเอกชน หากมีการนำเข้ามาขาย และประสานกับ ACI หรือ Airport Council International ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะซื้อวัคซีนลอตใหญ่ ๆ สำหรับสนามบินที่เป็นสมาชิกและเราขอตัดลอตมา”

สายการบินขอโควตาฉีดกลุ่มแรก

แหล่งข่าวจากธุรกิจสายการบินกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับในกลุ่มของธุรกิจสายการบินนั้น ที่ผ่านมาได้ดำเนินการในนามสมาคมสายการบินประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกรวม 7 สายการบิน ประกอบด้วย บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยไลอ้อนแอร์, ไทยสมายล์, ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, นกแอร์ และไทยเวียตเจ็ท ได้นำเสนอให้รัฐบาลฉีดวัคซีนโควิดให้กับพนักงานสายการบิน ซึ่งเป็นบุคลากรด่านหน้าในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นกลุ่มแรกในแผนการกระจายวัคซีนของรัฐบาล