“ครุฑ” เหตุใดจึงถูกมองเป็น “ของสูง” ในสังคมไทย

ครุฑเหตุใดจึงเป็นของสูงในสังคมไทย
ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม

ทำความเข้าใจ เหตุใด “ครุฑ” จึงถูกมองเป็น “ของสูง” ในสังคมไทย หลังมีดราม่าแบรนด์รองเท้านำรูป “ครุฑ” ไปไว้บนรองเท้า

วันที่ 15 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีแบรนด์เสื้อผ้า DNAProud เปิดตัวรองเท้าสนีกเกอร์คอลเลกชั่น “ประเทศไทย” ซึ่งมีสัญลักษณ์ตรา “พญาครุฑ” ติดอยู่ด้วย ทำให้เกิดดราม่าบนโลกโซเชียล หลังมีผู้มองว่าไม่เหมาะสม เนื่องจาก “ครุฑ”  เป็นของสูงและเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย ขณะที่อีกกลุ่มมองว่าสวยงาม สื่อความเป็นไทยออกมาได้เท่ หลากหลาย ไม่ตายตัว

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ “ครุฑ” เพื่อให้ผู้อ่านใช้วิจารณญาณในยามที่โซเชียลกำลังเสียงแตกเกี่ยวกับประเด็นนี้

ครุฑกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ตามข้อมูลของ “ศิลปวัฒนธรรม” ที่เผยแพร่เมื่อ 17 กันยายน 2561 ระบุว่า ในศิลปกรรมไทยนั้นมีรูปครุฑปรากฏในภาพเขียนโบราณ ลายหน้าบันพระอุโบสถ ลายรดน้ำ ในเรือพระราชพิธี ครุฑจึงผูกพันกับคนไทยมายาวนาน เราจะเห็นรูปครุฑเป็นพาหนะให้พระนารายณ์ ครุฑยุดนาค และครุฑได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมาแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน โดยครุฑได้เป็นตราพระราชลัญจกร เรียกว่า ครุฑพ่าห์

พระราชลัญจกรครุฑพ่าห์ เป็นพระราชลัญจกรสำหรับกรุงศรีอยุธยาประจำชาดและประจำครั่ง ผนึกพระราชสาส์นและหนังสือสัญญานานาประเทศเป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน หรือตราแผ่นดิน จนถึงสมัยรัชกาลปัจจุบัน

และใช้เป็น “ครุฑตราตั้ง” เป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศ ที่พระราชทานให้บริษัทเอกชนหรือกิจการงานหลวงหรือส่วนราชการ ซึ่งบริษัทเอกชนบางบริษัทอาจได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้เป็นเครื่องหมายตราตั้ง เพื่อเป็นเกียรติยศแก่บริษัทห้างร้าน ซึ่งใช้ตัวหนังสือ โดยได้รับพระบรมราชานุญาต ประกอบเบื้องล่างตัวตราครุฑด้วย

ครุฑที่ปรากฏเป็นตราตั้งแสดงอยู่หน้าบริษัทห้างร้านหรือหน่วยราชการในประเทศไทยนั้น ปั้นโดยช่างปั้นครุฑที่มีฝีมือดีที่สุดของประเทศไทย ชื่อ สัญญา วงศ์อร่าม ศิลปินไทยคนแรกที่ได้รับทุนไปเรียนต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และกลับมาสอนหนังสือที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พญาครุฑเสริมโชคลาภ บารมี ป้องกันภัย

ในวงการพระเครื่องและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เชื่อว่า พญาครุฑ เป็นสัตว์กายสิทธิ์ ที่ไม่มีผู้ใดสามารถฆ่าให้ตายได้ มีอายุยืนเสมือนว่าเป็นอมตะ จนเกิดการสร้างเครื่องรางต่าง ๆ ขึ้น

เว็บไซต์พรพระแสง ระบุว่า อำนาจพญาครุฑสามารถจำแนกได้ถึง 8 ประการ ดังนี้คือ

  1. เป็นมหาอำนาจอันยิ่งใหญ่ เป็นสิทธิอำนาจอันเฉียบขาด
  2. สามารถลบล้างอาถรรพ์และคุณไสย์ทั้งปวง ภูติผีปิศาจกลัวไม่กล้าเข้าใกล้
  3. เป็นสื่อนำความเจริญรุ่งเรือง ยศถาบรรดาศักดิ์มาสู่ชีวิตหน้าที่การงาน
  4. ปกป้องคุ้มครอง ป้องกันภัยเป็นคงกระพัน
  5. เป็นเมตตามหานิยม
  6. นำความร่มเย็นเป็นสุขมาให้
  7. ทำมาค้าขายดีเป็นสื่อนำโชคลาภนานาประการ
  8. สัตว์ร้าย เขี้ยวงาสารพัด งูเงี้ยวเขี้ยวขอ อสรพิษไม่กล้ากล้ำกรายเข้าใกล้ เพราะเกรงตบะบารมีขององค์พญาครุฑเป็นที่สุด

บิ๊กตู่-ธรรมนัส สวมแหวนพญาครุฑ

เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 นักข่าวตาไวที่ทำเนียบรัฐบาลสังเกตเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สวมแหวน “พญาครุฑ” ที่นิ้วนางด้านขวา ปฏิบัติภารกิจทั้งในและนอกทำเนียบรัฐบาล โดยได้ถอดแหวนวงอื่น ๆ ออกทั้งหมด

คาดว่าช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำแหวนพญาครุฑมาสวมใส่ เนื่องจากมีปัญหาหลายด้าน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การแพร่ระบาดเขื้อไวรัสโคโรนา รวมทั้งปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงต้องการให้ปัญหาทั้งหมดคลี่คลาย

ก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ เคยสวมแหวนพญาครุฑของพระครูวิศิษฏ์วิทยาคม หรือ พระอาจารย์วราห์ ปุญญวโร เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทอง เจ้าตำรับพญาครุฑมหาอำนาจบ้างในบางโอกาส โดยเฉพาะในช่วงรัฐประหาร

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 “วาสนา นาน่วม” ผู้สื่อข่าวสายทหารโพสต์เฟซบุ๊กว่า “ธรรมนัส พรหมเผ่า” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นอีกคนที่สวมแหวนครุฑที่นิ้วในช่วงก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่ง “วาสนา” ระบุว่า หลังสวมใส่แหวนครุฑ นายธรรมนัสได้คะแนนโหวตสูง 275 คะแนน มากกว่านายกฯ และเท่ากับ “บิ๊กป้อม” เลย

นักข่าวคนดังเผยอีกว่า ช่วงก่อนรัฐประหาร พี่น้อง 3 ป. ได้แก่ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, บิ๊กป้อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่างสวมแหวนครุฑแหวนพญานาคเพื่อเสริมเคล็ดให้รัฐประหารสำเร็จ

ทั้งหมดนี้น่าจะพออธิบายได้ว่า เหตุใดคนจำนวนมากในประเทศไทยจึงเชื่อว่า “ครุฑ” เป็นของสูง