
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข ชี้โควิด ระลอก 3 รัฐบาลอย่าสับสน ประชาชนอย่าตื่นกลัว
วันที่ 9 เมษายน 2564 นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี “หมอเลี้ยบ” ที่ปรึกษา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 เรื่อง “โควิด ระลอก 3 ? รัฐบาลอย่าสับสน ประชาชนอย่าตื่นกลัว” ชี้ประเด็น “โควิดสายพันธุ์อังกฤษ” อาจรุนแรงขึ้น 170 เท่า เป็นการสร้างความหวาดกลัวเกินจริง ไม่มีหลักฐานใด ๆ ทางระบาดวิทยา
โดยระบุว่าเป็นคำเตือน และเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน 16 ข้อดังนี้
- โควิด-19 อยู่กับมนุษย์มากว่า 16 เดือนแล้ว แม้เรารู้จักโควิดมากขึ้น แต่โควิดมีความคืบหน้าใหม่ ๆ ให้ประหลาดใจอย่างไม่หยุดยั้ง
- มนุษย์ค่อย ๆ ลองผิดลองถูก จนถึงวันนี้ ไม่มีใครข้องใจอีกแล้วว่า “การใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง” เป็นกฎพื้นฐานที่ละเมิดไม่ได้
- แม้วันนี้มีวัคซีนโควิดหลากหลายยี่ห้อ แต่ไม่มียี่ห้อไหนป้องกันโควิดได้ 100% มีแต่บอกได้ว่าทำให้ไม่ป่วยหนักและไม่ตาย
- ประเทศที่ฉีดวัคซีนมากแล้ว ก็ยังต้องเน้นการป้องกันโรคส่วนบุคคล จึงสามารถควบคุมโรคได้ เช่น อิสราเอล และอังกฤษ
- ประเทศที่ฉีดวัคซีนมากแล้ว แต่ประมาท ละเลยการป้องกันส่วนบุคคล กลับมีการระบาดใหม่ที่รุนแรงอีกครั้ง เช่น ชิลี
- ดังนั้น วัคซีนจึงเป็นเพียงอีกตัวช่วยหนึ่งในการกด curve ให้ต่ำลง ไม่ใช่เป็นมาตรการที่ทดแทนกฎพื้นฐานเดิมได้
- การฉีดวัคซีนจึงไม่ใช่การสิ้นสุด “การใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง” และการไม่ฉีดวัคซีนหรือไม่มีวัคซีนฉีด ก็ไม่ใช่ความสิ้นหวังเหมือนโลกกำลังจะแตกดับ
- ตรงกันข้าม การฉีดวัคซีนอาจทำให้เกิดความประมาท แพทย์พยาบาลในบางประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้ว แต่ไม่ระมัดระวัง หย่อนวินัยในการป้องกัน กลับติดโควิดมากขึ้น
- อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงทั้งจากการทำงานดูแลผู้ป่วย การประกอบธุรกิจบริการ และผู้มีโรคประจำตัว ยังต้องเดินหน้าต่อไป ควบคู่กับการกำชับเรื่องการป้องกันส่วนบุคคล
- ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนที่มีมากขึ้นทุกวัน ชี้ให้เห็นว่า การจำกัดวัคซีนเพียง 2 ยี่ห้อ เป็นนโยบายที่ผิดพลาด เพราะวัคซีนยี่ห้อต่าง ๆ มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง ยิ่งมีการกลายพันธุ์ของโควิด ยิ่งทำให้เราต้องมีทางเลือกมากกว่านี้
- รัฐมีหน้าที่แสวงหาวัคซีนอย่างสุดความสามารถ การรอคอยให้ผู้ผลิตมาขึ้นทะเบียนก็ดี การขอให้เอกชนทำหน้าที่แทนก็ดี หรือการอ้างว่าวัคซีนขึ้นทะเบียนฉุกเฉินมีข้อจำกัดในการฉีดก็ดี แสดงให้เห็นว่า ผู้รับผิดชอบไม่ได้ติดตามสถานการณ์ของวัคซีนอย่างใกล้ชิด และทำงานเชิงรับมากกว่าเชิงรุก
- ในขณะเดียวกัน การประโคมข่าวว่า การระบาดระลอก 3 ? อาจรุนแรงขึ้น 170 เท่า เป็นการสร้างความหวาดกลัวเกินจริง ไม่มีหลักฐานใด ๆ ทางระบาดวิทยา
- นอกจากการบอกประชาชนว่า การระบาดของสายพันธุ์อังกฤษง่ายกว่าเดิม 1.7 เท่าแล้ว ควรบอกด้วยว่า อัตราตายของสายพันธุ์อังกฤษลดลงจากสายพันธุ์เดิมกว่า 4 เท่าด้วย แม้มีข้อมูลว่า อัตราตายสูงขึ้นจาก 6 คนใน 1,000 คน เป็น 9 คนใน 1,000 คน แต่นั่นเป็นในกลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนคนวัยทำงานจำนวนมากแทบไม่มีอาการ และอัตราตายน้อยลงมาก ดังนั้น จึงควรเตือนให้ระมัดระวังในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ไม่สร้างความตื่นตระหนกเกินจริงในกลุ่มคนทั่วไป
- มาตรการในปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้ว 10 เท่า ไม่ได้หมายความว่า การติดโรคจะเพิ่มขึ้น 10 เท่า เพราะมาตรการเดิมเป็นการ “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” เช่น การปิดเมืองอย่างเหวี่ยงแห ปิดเมืองนานเกินไป ปิดกระทั่งธุรกิจที่ความเสี่ยงต่ำ การประกาศเคอร์ฟิว การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯลฯ เหล่านี้ไม่ใช่มาตรการที่ได้ผลในการควบคุมโรค แต่เป็นมาตรการที่เกิดจาก “ความไม่รู้” และ “การสร้างกระแสความกลัว”
- ดังนั้น รัฐบาลและผู้รับผิดชอบต้องมีสติ ไม่สับสน รู้ว่ามาตรการไหนได้ผลจริงหรือไม่ได้ผลจริง ขณะเดียวกันก็เตรียมจัดระบบการตรวจหาเชื้อ การรองรับผู้ป่วย และการเร่งหาวัคซีนเพื่อพร้อมรับมือในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด แต่ที่สำคัญคือ ต้องไม่สร้างความหวาดกลัวเกินจริงในหมู่ประชาชน
- ส่วนประชาชนต้องมีสติ พิจารณาเรื่องโควิดอย่างรู้เท่าทัน ไม่ตื่นกลัวแต่ไม่ประมาท และป้องกันส่วนบุคคล ทั้ง “ใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง” อย่างจริงจัง ผมมั่นใจว่า ถึงยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เราก็ป้องกันโควิดได้ 100 % ด้วยตัวเราเอง