ติดโควิด ไม่มีอาการ ไปอยู่ “รพ. สนาม” จะได้รับเชื้อเพิ่มหรือไม่?

รพ.สนาม
Handout / BANGKOK METROPOLITAN ADMINISTRATION / AFP

หมอทวีศิลป์ยัน ” โรงพยาบาลสนาม” ปลอดภัย เชื่อผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยจะไม่ได้รับเชื้อเพิ่ม หรือทำให้อาการรุนแรงขึ้น เหตุอยู่ในความดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ ชี้มาตรฐานรพ.สนามสูงกว่าอยู่บ้านหรือในชุมชน 

วันที่ 22 เมษายน 2564 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน กรณีที่หากผู้ป่วยมีผลการตรวจเชื้อโควิด-19 ออกมาเป็นบวก หรือ เป็น Positive แล้วไปอยู่รวมกันที่โรงพยาบาลสนาม จะทำให้คนที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย รับเชื้อเพิ่มหรือเปล่า และจะนำไปสู่การรับเชื้อซ้ำซ้อน การกลายพันธุ์ของเชื้อ หรือจะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นหรือไม่

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวตอบว่า ระบบของการที่เราเรียกว่าเอาคนไปอยู่รวมกัน ไม่ว่าจะเรียกว่าโรงพยาบาลสนาม หรือภาษาต่างประเทศเรียกว่า Cohort Ward (หอผู้ป่วยรวมแยกโรค) คือเอาคนกลุ่มเดียวกัน โรคเดียวกัน มาอยู่ที่เดียวกันนั้น มีวัตถุประสงค์หลังการเกิดโรคระบาด จะต้องใช้ทรัพยากร ทั้งหมอ พยาบาล สถานที่ ชุดอุปกรณ์ อะไรต่างๆมากมาย

สำหรับ การมาอยู่ร่วมกัน ไม่ได้ให้เขามาอยู่แบบสบายๆ หรือไม่ได้ให้มาคลุกคลีกัน แต่ที่เรากำหนดไว้ว่า จะต้องมีการเว้นระยะห่าง และที่สำคัญทุกคนต้องใส่หน้ากาก อย่างน้อยต้องเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกมาได้

นายแพทย์ทวีศิลป์ย้ำว่า การอยู่รวมกันตรงนี้ และอยู่ในความดูแลของบุคลกรทางการแพทย์ เป็นมาตรฐานที่สูงกว่าการอยู่ที่บ้านแน่นอน และก็สูงกว่าการอยู่ในชุมชน เพราะฉนั้นสิ่งที่มีการออกแบบระบบนี้ออกมาก็มั่นใจในระดับหนึ่ง และไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ประเทศไทยเท่านั้น ในอู่ฮั่นที่จีนก่อนหน้านี้ ที่ทำกันในระลอกแรกที่เราเห็นเขาสร้างโรงพยาบาลสนามก็สามารถจัดการได้

ซึ่ง ณ ตอนนี้มาเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร หรือทางเชียงใหม่ ซึ่งเราก็พิสูจน์แล้วว่า อย่างที่เชียงใหม่ก็เรียบร้อยดี กรุงเทพมหานครก็ดูดี แต่สิ่งต่างๆต้องเกิดความร่วมมือกันของผู้ป่วยที่อยู่ภายในด้วย ซึ่งสำคัญมากๆ

“แน่นอนว่าทฤษฎีของการมาเจอเชื้อกัน ผสมโรคกัน นู่น นี่ นั่น ตามที่ท่านเคยได้ยินข่าวมา จะทำให้เกิดการกลายพันธุ์ หรืออะไรทั้งหลาย แต่อย่างที่บอกว่า ถ้าเรามีสุขอนามัยส่วนตัวส่วนบุคคลที่ดี เรื่องแบบนี้แทบจะไม่เกิด ขอยืนยัน” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว


ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ เราอบรมกันมา เรารู้อยู่แล้ว แต่ผู้ป่วยที่อยู่ในนั้น อาจจะเป็นของใหม่ ประชาชนคนทั่วไปก็เป็นของใหม่ ฝากท่านเรียนรู้ไปด้วยกัน พร้อมๆกัน และเป็นผู้ป่วยทีดี ปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง จะทำให้เราจะผ่านพ้นตรงนี้ไปด้วยกัน