มีโทษปรับ 3 ระดับ “ไม่สวมแมสก์” ออกจากบ้านตั้งแต่ 6,000-20,000 บาท

คนใส่หน้ากาก

หลังจาก ”กทม.-กรุงเทพมหานคร” งัดกฎเหล็ก ให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พำนัก และนั่งในรถตั้งแต่ 2 คน หากฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 20,000 บาท เพื่อสกัดการระบาดของโควิด

กทม. ประเดิมปรับ ”บิ๊กตู่” คนแรก

ประเดิมวันแรก 26 เม.ย. 2564 ด้วยเคส ”พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ที่กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ 

หลังมีการแพร่ภาพ ”นายกรัฐมนตรี” ไม่ใส่หน้ากากอนามัยระหว่างประชุมที่ปรึกษาเกี่ยวกับการจัดหาและการกระจายวัคซีนเมื่อช่วงเช้า และเกิดคำถามว่าขัดคำสั่ง กทม.หรือไม่

บ่ายแก่ ๆ ”พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต บุกถึงทำเนียบพบ ”พลเอกประยุทธ์” เปรียบเทียบปรับตามความผิดตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 

ซึ่งความผิดดังกล่าว พนักงานสอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ ตามระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบ 2563 โดยมีอัตราการเปรียบเทียบปรับตามบัญชีท้าย เป็นจำนวนเงิน 6,000 บาท ซึ่งนายกรัฐมนตรียินยอมให้เปรียบเทียบปรับตามที่กฎหมายกำหนด

งานนี้แสดงให้เห็น กทม.เอาจริง เจอปุ๊ปจับปรับทันที ไม่เว้นแม้แต่ผู้นำประเทศ แต่ยังไม่วายยังมีคนสงสัย ทำไม กทม.ถึงปรับนายกรัฐมนตรีแค่ 6,000 บาท 

เปิดบทลงโทษ

จากข้อมูลตามบัญชีอัตราการเปรียบเทียบแนบท้ายระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบ 2563 ระบุถึงโทษความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ว่า

“มาตรา 51 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 34 (1) (2) (5) หรือ (6), มาตรา 39 (1) (2) (3) หรือ (5), มาตรา 40 (5) หรือไม่อํานวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 39 (5) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

โดยมีการจำแนกอัตราค่าปรับใน 2 แบบ แบบที่ 1 มาตรา 34 (5) หรือ (6) ครั้งที่ 1 จำนวน  6,000 บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 12,000 บาท และตั้งแต่ครั้งที่ 3 เป็นต้นไป 20,000 บาท 

และมาตรา 34 (1) (2), มาตรา 39 (1) (2) (3) หรือ (5), มาตรา 40 (5) และมาตรา 39 (4) ปรับในอัตราเดียว 20,000 บาท 

ห้ามตำรวจเปรียบเทียบปรับเอง

ว่าด้วยเรื่องค่าปรับในวันนี้เกิดกรณีแชร์ภาพค่าปรับ 500 บาท เพราะไม่สวมหน้ากากขณะขับรถ ทาง พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 1 ชี้แจงว่า เป็นเรื่องที่คณะกรรมการ อ.บางปะหัน จ.อยุธยา มอบให้ผู้ใหญ่บ้านไปตรวจสอบหลังพบว่า พ่อค้าแม่ค้าขายกะทิในตลาดสดแห่งหนึ่งไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ขัดกับคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด จึงนำตัวมาส่งพนักงานสอบสวนให้เปรียบเทียบปรับ 

ทั้งนี้ยอมรับว่าพนักงานสอบสวน เข้าใจไปว่ามีอำนาจตามกฎหมายควบคุมโรคให้เปรียบเทียบปรับได้เอง จึงสั่งปรับเป็นเงิน 500 บาท แต่กรณีนี้พนักงานสอบสวน ต้องปรับในอัตราขั้นต่ำเป็นเงิน 6,000 บาท เพราะตามกฎหมายควบคุมโรคติดต่อและตามประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัด อัตราโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท พนักงานสอบสวนไม่สามารถปรับเป็นเงิน 500 บาทได้

“กรณีนี้ ผู้ถูกกล่าวหาขอให้พนักงานสอบสวน ทำสำนวนส่งฟ้องศาลแขวง เพื่อให้ศาล ใช้ดุลยพินิจในการสั่งปรับแทน ซึ่งผู้ถูกกล่าวหา เชื่อว่าน่าจะปรับได้ต่ำกว่าเงิน 6,000 บาท“

กำชับตำรวจภูธร 9 แห่งทำตามกฎ

จากกรณีนี้จึงใช้อำนาจของผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 สั่งเพิกถอนการเสียค่าปรับ 500 บาทไปแล้ว โดยให้ส่งศาลพิจารณา  จากนี้จะกำชับไปยังตำรวจภูธร 9 จังหวัดที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ให้ปฏิบัติเป็นไปตามแนวทางเดียวกันแล้ว

ชี้ขับรถคนเดียวไม่ใส่หน้ากากก็ถูกปรับได้

กรณีมีคำถามขับรถยนต์คนเดียว โดยไม่สวมหน้ากากอนามัยเข้าข่ายความผิดกฎหมายหรือไม่ หากตีความตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดถือว่าผิด เพราะแม้ว่าจะอยู่ในรถยนต์ส่วนตัว แต่คำสั่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ ดังนั้น จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนปฏิบัติตาม เพื่อให้เป็นการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อ หากมีความผิดตำรวจก็จำเป็นจะต้องดำเนินคดี