แพทย์ ชี้ วัคซีนโควิดทุกตัวมีประสิทธิภาพเท่ากัน ให้ดูผลการใช้จริง

วัคซีน
Photo by GREG BAKER / AFP

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เผยวัคซีนโควิดทุกยี่ห้อประสิทธิภาพไม่ต่างกัน ป้องกันอาการหนัก-เสียชีวิตได้ เกือบทุกตัว ชี้ “แอสตร้าเซนเนก้า” ไม่ได้ด้อยไปกว่า “ไฟเซอร์” ขอประชาชนอย่าดูแค่ตัวเลขรายงานเพราะวิจัยหลายที่ ให้ดูผลการใช้จริง

วันที่ 6 พ.ค.2564 รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ กล่าวถึงประสิทธิภาพและประโยชน์จากการฉีดวัคซีนว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันโรคระบาด เพื่อไม่ให้ผู้ที่ติดเชื้อแล้วมีอาการหนัก ต้องเข้าใจว่าวัคซีนนี้เกิดขึ้นในยามฉุกเฉินและเกิดภายหลังมีโควิดประมาณ 10 เดือนเท่านั้น ฉะนั้นไม่มีอะไรที่สมบูรณ์หมด สิ่งสำคัญ ต้องมีการชั่งน้ำหนักว่า ประโยชน์กับโทษอันไหนมีมากกว่ากัน ซึ่งแน่นอนว่าทั่วโลกมีแนวคิดเหมือนกันคือ วัคซีนมีประโยชน์มากกว่าโทษแน่นอน

ชี้ตัวเลขประสิทธิภาพมาจากหลายแห่ง

อย่างข้อมูลที่ผ่านมามีรายงานเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละยี่ห้อ อย่างไฟเซอร์ระบุว่ามีประสิทธิภาพ 95% โมเดอร์น่า 94% สปุตนิกไฟท์ 92% นาโนแวค 89% แอสตร้าเซนเนก้า 67% และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 66% ซึ่งข้อมูลนี้ไม่มีซิโนแวก เพราะเป็นตัวที่ออกทีหลัง ซึ่งหลายคนมักยึดติดตัวเลขเหล่านี้ ทั้งที่จริงแล้วตัวเลขประสิทธิภาพมาจากหลายที่ ไม่ใช่ที่เดียวกัน

เพราะการวิจัย 1.จะวิจัยในประเทศเดียวกันไม่ได้ ต้องกระจายกัน 2.การวิจัยจะทำเวลาเดียวกันก็ไม่ได้ เพราะเวลานั้นมีการระบาดหรือไม่ระบาดอันนี้ก็มีผล 3.แม้แต่จะวิจัยในเผ่าพันธุ์เดียวกันทั้งหมดก็ไม่ได้อีก 4.วิจัยในการแพร่กระจายเชื้อแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน เพราะบางแห่งมีการกลายพันธุ์

ดังนั้นอย่าไปดูเฉพาะตัวเลขอย่างเดียวเพราะตัวเลขแต่ละตัวมีข้อกำกับ สิ่งที่ทางการแพทย์อยากเห็นคือวัคซีนเกือบทั้งหมดป้องกันการเสียชีวิตได้เกือบ 100% และป้องกันการนอนโรงพยาบาล และไอซียู ได้เกือบหมด

ประสิทธิภาพซิโนแวก

สำหรับวัคซีนซิโนแวก ซึ่งเป็นตัวแรกที่ประเทศไทยใช้ จากการประเมินผลป้องกันอาการรุนแรงได้ 100% ป้องกันอาการปานกลาง เช่น ป่วยไข้ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ไม่ถึงอาการรุนแรงจนถึงต้องเจาะคอ หรือใส่เครื่องช่วยหายใจ พบว่าป้องกันได้ถึง 83.7% และในกลุ่มที่ไม่มีอาการ ป้องกันการติดเชื้อได้อีก 50%

แอสตร้าเซนเนก้าได้ผลดีต่อสายพันธุ์อังกฤษ

ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ที่จะเข้ามาในล็อตใหญ่เดือน มิ.ย.2564 ตอนนี้เราใช้กับคนที่อายุ 18 ปีขึ้นไป จนกระทั่งถึงอายุมาก60ปีขึ้นไป โดยฉีดไปเข็มเดียวน่าจะป้องกันได้อย่างน้อย 3 เดือน

อย่างผมฉีดไปเมื่อ 6 สัปดาห์ที่ผ่านมามีภูมิคุ้มกันป้องกันโรคได้ และแน่นอนป้องกันได้ไม่ต่ำกว่าครึ่งเพราะดูจากข้อมูลการศึกษาวิจัย ประสิทธิภาพที่ฉีด 2 เข็ม มีประสิทธิภาพตั้งแต่ 62-81.5% ซึ่งศึกษาหลายที่ และศึกษาในช่วงที่มีโรคระบาด ถ้าย้อนไปตอนวัคซีนไฟเซอร์กับโมเดอร์นา เขาศึกษาตอนที่โรคยังไม่ค่อยระบาดมาก โดยเฉพาะในบราซิล ศึกษาในบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งกำลังมีการติดเชื้อจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นเชื้อกลายพันธุ์ด้วย ฉะนั้นจึงมีการศึกษาว่า แอสตร้าเซนเนก้ามีผลต่อเชื้อกลายพันธุ์หรือไม่พบว่ายังมีผลดี เช่น สายพันธุ์อังกฤษ ได้ผลประมาณเกือบ 70% ในขณะที่สายพันธุ์ดั้งเดิม ป้องกันได้ประมาณ 81% ขึ้นไป หลังจากนี้ก็มีสายพันธุ์อื่นเกิดขึ้น
แต่สายพันธุ์ที่ป้องกันไม่ดีเลยคือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ B1351 แต่สายพันธุ์อื่น ๆอย่างบราซิล อังกฤษ ค่อนข้างดี อันนี้ข้อมูลของไฟเซอร์กับโมเดอร์นากำลังศึกษาอยู่ว่าจะป้องกันได้ดีไหม ถึงอย่างนั้นก็ยังพบว่า แอสตร้าเซนเนก้า ผลข้างเคียงเข็มที่ 1 มีมากกว่าเข็มที่ 2 ซึ่งย้ำว่าวัคซีนทุกชนิดมีผลข้างเคียงหมด

แอสตร้าเซนเนก้าไม่ด้อยกว่าไฟเซอร์

นพ.ทวี ได้ยกตัวอย่างการศึกษาวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า และ ไฟเซอร์ ในสกอตแลนด์ พบว่าประสิทธิภาพไม่ด้อยไปกว่ากัน แต่ของแอสตร้าเซนเนก้ามีแนวโน้มจะดีกว่าด้วยซ้ำในการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ฉะนั้นสรุปว่า แอสตร้าเซนเนก้า ไม่ได้ขี้เหร่ไปกว่า ไฟเซอร์ จากผลศึกษาวิจัยหลังจากเข็มที่ 1 เริ่มป้องกันโรคตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 เป็นต้นไป แต่ระหว่างทางที่ใช้มีปัญหาบ้าง เช่น เกิดลิ่มเลือดอุดตันต่าง ๆ องค์การอนามัยโลกก็หาข้อมูลออกมาว่าการเกิดลิ่มเลือดในกลุ่มวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จะพบประมาณ 4 ใน 1 ล้านเข็ม ซึ่งคือ 1 ต่อ 2.5 แสนเข็ม ในขณะที่พบเสียชีวิตแค่ 1 ใน 4 ราย หรือ 1 ในล้านเข็มที่เสียชีวิตจากโรคลิ่มเลือด

แต่โรคลิ่มเลือดเกิดขึ้นในคนไข้ที่เป็นโควิด พบว่าคนไข้โควิด 8 คนจะมี 1 คนเป็นโรคลิ่มเลือดด้วย เพราะโรคลิ่มเลือดเกี่ยวข้องกับโควิดเช่นกัน ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตโควิด 2 ใน 100 และนอกจากนั้นโรคลิ่มเลือดยังเกิดในคนสูบบุหรี่จัดด้วย พบถึงประมาณ 1.7 พันกว่าคนต่อล้านประชากรที่มีการสูบบุหรี่จัด

“เพราะฉะนั้นโรคลิ่มเลือด เป็นโรคของคนต่างชาติ ฝั่งอเมริกัน ไม่ใช่โรคคนเอเชีย ซึ่งตอนนี้เรายังใช้น้อย ยังไม่เห็น แต่เมื่อใช้เยอะๆ เราก็เฝ้าระวังอยู่ แต่ส่วนตัว ผมเชื่อว่าจะค่อนข้างน้อย ด้วยหลายสาเหตุ โดยส่วนหนึ่งคือ สาเหตุจากพันธุกรรมด้วย”

“อย่างไรก็ตาม ถ้าสรุปโดยรวม สิ่งที่เราอยากเห็นที่สุดคือวัคซีนการป้องกันการป่วยได้เท่าไหร่ ซึ่งตัวเลขแต่ละยี่ห้อแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่อย่ากังวลตัวเลขที่รายงานออกมา เพราะมาจากการวิจัยหลายแห่ง ไม่ใช่ที่เดียว ซึ่งทุกตัวป้องกันป่วยหนักได้ 100% ทั้งหมด และป้องกันการแพร่เชื้อได้บ้าง เช่น ไฟเซอร์ กับแอสตร้าเซนเนก้า ที่เพิ่มตีพิมพ์ไปสัปดาห์ก่อนในต่างประเทศพบว่า ทั้งคู่สามารถป้องกันการแพร่เชื้อในครอบครัวได้ถึงครึ่งหนึ่ง ดังนั้นก็ขอให้ศึกษาข้อมูลวัคซีน และต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ตอนนี้วัคซีนกำลังเรียงคิวเข้ามา ในอนาคตอันใกล้อาจจะมีตัวอื่น ๆ เข้ามาอีก แต่ยังตอบไม่ได้ว่าอันไหนจะมาก่อนมาหลัง”