ทีมสื่อสาร ศบค. ชี้แจงข้อเท็จจริง “โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้”

ทีมสื่อสารศบค.ชี้แจงโควิดแอฟริกาใต้

ที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศบค. โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงข้อเท็จจริง กรณี “โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้” ย้ำให้รอติดตามการแถลงของ ศบค. วันนี้

วันที่ 23 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี กลุ่ม COVID-19 Network Investigations หรือ CONI เผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการระบาดในประเทศของเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สายตระกูล B.1.351 (20H/501Y.V2) หรือที่มักเรียกกันในสื่อว่าเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้

ก่อนหน้านี้กลุ่ม CONI ได้รับการได้รับการประสานจากทางกระทรวงสาธารณสุขให้ร่วมสืบสวนคลัสเตอร์ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยได้รับข้อมูลว่าอาจเป็นคลัสเตอร์ติดเชื้อต่อเนื่องในประเทศไทย จากผู้ลักลอบเข้าเมือง ซึ่งจากการถอดรหัสพันธุกรรมระดับจีโนมพบว่าเป็นเชื้อสายตระกูล B.1351 ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อคืนที่ผ่านมา ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ พร้อมย้ำให้ประชาชนรอฟังแถลงข่าวจาก ศบค. ในวันนี้ โดยข้อความที่ ผศ.ดร.วรัชญ์ โพสต์ มีเนื้อหาดังนี้

สรุป กรณีโควิดสายพันธ์ุแอฟริกาใต้ เท่าที่มีข้อมูลในขณะนี้ (22 พ.ค. 22.00 น.)

  1. ข่าวที่บอกว่ามีการติดเชื้อในเรือนจำ จ.นราธิวาส ไม่เป็นความจริง
  2. กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้ทีมสืบสวนโรคชื่อ CONI ตรวจรหัสพันธุกรรม แล้วพบว่าตัวอย่างที่ได้จากคลัสเตอร์ ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้จริง แต่ไม่ได้บอกจำนวนผู้ติดเชื้อ
  3. คลัสเตอร์เกาะสะท้อนนั้น มีการตรวจคัดกรองมาตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค. รวมมากกว่า 500 คน และพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก (ยอดสะสมประมาณ 60 คน) ทำให้ทางจังหวัดสั่งปิดทั้ง 9 หมู่บ้านของตำบลเกาะสะท้อน มาตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. จึงไม่มีคนเข้าออกตำบลนี้มา 10 กว่าวันแล้ว
  4. แม่ทัพภาค 4 ยังไม่ยืนยันว่าเป็นโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้จริงหรือไม่
  5. โควิดสายพันธ์แอฟริกาใต้ มีแนวโน้มทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง แต่จากการวิจัยพบว่า วัคซีนแอสตราเซเนก้า สามารถป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ 100% (ส่วนซิโนแวกยังไม่มีการศึกษา แต่ผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ก็เชื่อว่าวัคซีนทุกตัวสามารถจะช่วยลดความรุนแรงของทุกสายพันธุ์ได้)
  6. มีแนวโน้มว่าสายพันธุ์นี้สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าเดิม แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าจะทำให้การติดเชื้อรุนแรงขึ้นกว่าสายพันธุ์อื่น

รายละเอียดเพิ่มเติม รอฟังแถลงข่าวจาก ศบค. พรุ่งนี้นะครับ