ศบค. แจง ข้อเสนอล็อกดาวน์ กทม. 7 วัน จากแพทย์

ทวีศิลป์

หมอทวีศิลป์ ชี้แจง ข้อเสนอจากแพทย์ “ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ 7 วัน” ยกโมเดล Bubble & Seal สมุทรสาคร ชี้ กทม. ทำได้ยากกว่า

วันที่ 23 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มียอดผู้ติดเชื้อถึงหลักพันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งยังเสนอทางออกสำหรับวิกฤตโควิดในการระบาดระลอกนี้ ว่า “การล็อกดาวน์” กรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 7 วัน คือคำตอบสุดท้าย เพื่อเร่งจัดการปัญหาเก่าและลดปัญหาใหม่ ที่สำคัญต้องไม่ให้คน กทม.เดินทางออกต่างจังหวัดเหมือนในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา

ล่าสุด นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ชี้แจงถึงกรณีข้อเสนอดังกล่าว ภายหลังการแถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า การล็อกดาวน์ เป็นเรื่องที่ได้ผลดี แต่อย่างไรก็ตามในการปฏิบัติขณะนี้ก็ได้ดำเนินการอยู่ แต่ว่าจะเป็นในลักษณะเฉพาะจุด เฉพาะที่ เกิดเหตุตรงไหนก็จัดการตรงนั้น ทั้งแคมป์คนงาน โรงงานหลายแห่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งทุกมาตรการมีทั้งเชิงบวก เชิงลบ ที่จะต้องนำมาไตร่ตรอง

ส่วนการล็อกดาวน์กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ทวีศิลป์ ระบุว่า จริง ๆ แล้วคนกรุงเทพไม่ได้มีจำนวนมาก และส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานที่มาจากต่างจังหวัด หากมีการปิดพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะทำให้คนที่ไม่มีงานทำ อาจเคลื่อนย้ายกลับไปต่างจังหวัด ทำให้เกิดการติดเชื้อในต่างจังหวัดด้วยก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีการพิจารณาไตร่ตรองเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังยกตัวอย่างให้เห็นโมเดล Bubble & Seal ใน จ.สมุทรสาคร ช่วงที่มีการระบาดหนัก ที่ยอมให้โรงงานเปิดกิจการได้ แต่การดูแลแรงงานระหว่างนำมาส่งที่โรงงานที่ได้ผลดีนั้น มีการปฏิบัติกันอย่างไร ในส่วนของกรุงเทพมหานครก็ต้องดำเนินการอย่างนั้น

อย่างไรก็ตาม การทำ Bubble & Seal ในกรุงเทพมหานคร เป็นสิ่งที่ยากกว่า จ.สมุทรสาคร เนื่องจากมีจำนวนคน รวมถึงแรงงานต่างชาติที่มากกว่า ความซับซ้อนขององค์กร และสถานที่ก็มากกว่า เพราะฉะนั้นการแบ่งเขตในการดำเนินการก็ขึ้นอยู่กับรองปลัดกรุงเทพมหานคร ที่จะต้องลงไปควบคุมแต่ละพื้นที่ พร้อมให้มีการกำชับว่า มีแหล่งพบเชื้อที่ไหนก็ให้จัดการเฉพาะพื้นที่นั้น

“เพราะฉะนั้นข้อเสนอตรงนี้ ที่จะเกิดขึ้นจากการที่บุคลากรทางการแพทย์เสนอขึ้นมา ก็นำมาสู่การคิดและหาหนทางในการปฏิบัติให้ได้ ผสมผสานกันกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และจะต้องไม่มีผลกระทบกับพี่น้องในต่างจังหวัด ขอบคุณทุกข้อเสนอครับ”