กรมวิทยาศาสตร์ฯแจงที่มา กทม. พบติดโควิด “แอฟริกาใต้” 1 ราย

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยข้อมูลสายพันธุ์โควิด-19 ภาพรวมเดลต้า (อินเดีย) เพิ่มสูงขึ้น สัปดาห์เดียวพบ 459 ราย คาดการณ์ไม่เกิน 2-3 เดือน เดลต้าอาจเข้ามาแทนอัลฟ่า ส่วนเบต้า (แอฟริกาใต้) พบกทม. 1 รายเชื่อมโยงลูกเดินทางจากนราธิวาสมาเยี่ยมที่กรุงเทพฯ

วันที่ 28 มิถุนายน 2564 ในงานแถลงข่าว “เฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 และพบสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) ในกรุงเทพ” นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่พบจำแนกตามสายพันธุ์สำคัญนั้น พบว่าภาพรวมสัปดาห์นี้ ตั้งแต่ 21-27 มิถุนายน 2564 สายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) จำนวน 2,218 ราย ขณะที่ก่อนหน้านี้ตั้งแต่เดือนเมษายน-20 มิถุนายน 2564 พบ 5,641 ราย รวมจำนวน 7,859 ราย คิดเป็น 86.31%

ส่วนสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ตั้งแต่ 21-27 มิถุนายน 2564 พบเพิ่ม 459 ราย ขณะที่ก่อนหน้านี้ตั้งแต่เมษายน-20 มิถุนายน 2564 พบ 661 ราย รวม 1,120 ราย คิดเป็น 12.30%

ขณะที่สายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) ข้อมูล 21-27 มิถุนายน 2564 พบเพิ่ม 89 ราย ขณะที่ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เมษายน-20 มิถุนายน 2564 พบป่วย 38 ราย ทำให้ภาพรวมตอนนี้ 127 ราย คิดเป็น 1.39%

ทั้งนี้ เมื่อแยกพื้นที่กรุงเทพฯ กับภูมิภาค พบว่า ตัวเลขภาพรวมสายพันธุ์เดลต้าเพิ่มขึ้นจาก 23.67% เป็น 25.66% ขณะที่ในภูมิภาค เพิ่มจาก 2.58% เป็น 5.05% นั่นหมายความว่าสายพันธุ์เดลต้ามีสัดส่วนมากขึ้น (Market share) ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าในต่างจังหวัด กว่า 90% ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ส่วนพันธุ์เดลต้าพบบ้างแต่พบชุกชุมในกรุงเทพฯ

สำหรับภาพรวมทั้งประเทศ สายพันธุ์เดลต้า อัตราเฉลี่ยสะสม 12.30% แต่ข้อมูลเฉพาะในสัปดาห์นี้ สัดส่วนของสายพันธุ์เดลต้า ขยับมาอยู่ที่ 16.59% และเพิ่มเยอะที่สุด คือ กทม. คิดเป็น 1 ใน 3 ของทั้งหมด ส่วนภูมิภาคสายพันธุ์เดลต้าขยับเพิ่มเป็น 7.34%

“ดังนั้น หากตัวเลขเป็นแบบนี้คาดว่า 2-3 เดือนสายพันธุ์เดลต้าในเขตกรุงเทพฯ จะเข้ามาแทนสายพันธุ์อัลฟ่า ซึ่งเราจะติดตามข้อมูลไปเรื่อย ๆ”

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า สำหรับสายพันธุ์เดลต้า ในสัปดาห์นี้มีเพิ่มที่ จ.พะเยา 1 ราย จ.เพชรบูรณ์ 1 ราย จ.อุตรดิตถ์ 4 ราย จ. อุทัยธานี 2 ราย จ.นครสวรรค์ 11 ราย จ.พระนครศรีอยุธยา 7 จ.ชลบุรี 1 ราย จ.ขอนแก่น 3 ราย จ.ร้อยเอ็ด 3 ราย จ.มหาสารคาม 1 ราย จ.กาฬสินธุ์ 6 ราย จ.อุดรธานีเพิ่มอีก 23 ราย จ.สกลนครเพิ่ม 22 ราย จ.นครพนม 3 ราย จ.บึงกาฬ 4 ราย จ.เลย 20 ราย จ.หนองคาย 2 ราย จ.หนองบัวลำภู 12 ราย
จะเห็นว่าเขตสุขภาพ 8 มีเกือบทุกจังหวัด และส่วนใหญ่ได้ข้อมูลว่ามาจากกรุงเทพฯ เป็นการเดินทางกลับบ้าน

“เป็นที่น่าสังเกตว่า เดิมทีสายพันธุ์เดลต้า ไม่มีในภาคใต้ แต่วันนี้พบที่นราธิวาสอีก 2 ราย จากการสอบข้อมูลเป็นคนข้ามมาจากรัฐเคดาห์ ส่วนกรุงเทพฯ เพิ่มมากสุด 331 ราย ส่วนใหญ่มาจากแคมป์คนงานที่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ๆ จะเจอสายพันธุ์นี้ด้วย ทำให้ทั้งสัปดาห์เพิ่มแล้ว 459 ราย”

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ส่วนสายพันธุ์เบต้า สัปดาห์นี้พบถึง 89 ราย โดยที่สุราษฏร์ธานี 1 ราย แต่ยังรอยืนยันอีก 2 ราย นราธิวาส 84 ราย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยระบาดเดิมมาก่อน จ.ยะลา 2 ราย จ.พัทลุง 1 ราย กรณีนี้สัมพันธ์กับโรงเรียน

ส่วนที่กำลังเป็นประเด็นคือ พบในพื้นที่กรุงเทพฯ 1 รายนั้น ซึ่งพบตั้งแต่วันพุธที่ 23 มิถุนายน แต่รอการยืนยันประมาณ 2 วัน กรณีนี้ไม่ได้มีต้นตอพบเชื้อที่กรุงเทพฯ จากการสอบสวนโรคพบสายสัมพันธ์ชัดเจน คือ เป็นคนงานในตลาดแห่งหนึ่ง ซึ่งลูกเดินทางมาเยี่ยมจาก จ.นราธิวาส ตอนนั้นยังไม่มีอาการก็เลยมาเยี่ยมพ่อแม่ เมื่อกลับไปแล้วไม่สบายก็ตรวจพบเชื้อ จึงได้ทำการตรวจเชื้อกับพ่อที่กรุงเทพฯ พบเป็นบวก ขณะนี้อยู่ในความดูแลแล้ว ส่วนญาติอีก 2 คนพบว่าติดเชื้อเช่นกัน แต่กำลังตรวจสายพันธุ์อยู่ ส่วนเพื่อนร่วมงาน ที่อยู่ 6-7 คนตรวจแล้วพบว่าไม่ติดเชื่อ

“ฉะนั้นถ้าพบผู้ป่วยรายเดียว เราล็อกอยู่ มีรายเดียว เพราะฉะนั้นสัปดาห์หน้าอาจจะไม่มี แต่ว่าเนื่องจาก เราไม่ได้ห้ามการเดินทางของผู้คนในประเทศ เราไม่ได้ห้ามขาด เพราะฉะนั้นก็มีโอกาสติดเชื้อ ก็อย่าไปแปลกประหลาดอะไร”

“ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งของสายพันธุ์เบต้า คือ แพร่กระจายเชื้อได้ไม่ค่อยมาก ยกเว้นกลุ่มคลัสเตอร์ที่อยู่ใกล้ชิดกันจริง ๆ ส่วนใหญ่ ในโลกนี้ก็เหมือนกันสายพันธุ์เบต้า ก็ไม่ได้เป็นสัดส่วนอะไรมาก เพราะฉะนั้นที่ค่อนข้างเป็นห่วงก็คือ สายพันธุ์เดลต้า ที่กำลังมีสัดส่วนมากขึ้น”