สธ. ยกระดับมาตรการคุมโควิด กทม. เร่งศึกษาวัคซีนบูสเตอร์แก่แพทย์

วัคซีนโควิด

กระทรวงสาธารณสุข ยกระดับ มาตรการคุมโควิด กทม. ระดมฉีดวัคซีนกลุ่ม ผู้สูงวัย-โรคเรื้อรังให้ได้ 70% ภายใน 2 สัปดาห์ พร้อมศึกษาวัคซีนบูสเตอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์

วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวในการแถลงข่าวการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในสถานการณ์โควิด-19 ว่า จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มสูงขึ้นมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่กทม. ปริมณฑล สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเกิดการกลายพันธุ์ ซึ่งสธ.ไม่ได้มีอำนาจโดยตรงในการดูแลพื้นที่ กทม. แต่เนื่องจากเป็นเมืองใหญ่ ทั้งยังมีการติดเชื้อสูง จึงเข้ามาช่วยเหลือดูแลร่วมกับกทม.ตั้งแต่การควบคุมโรค การบริหารจัดการเตียง และให้นโยบายวัคซีน เพื่อการควบคุมโรคให้เร็วที่สุด และช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยให้เร็วที่สุด อย่างล่าสุดได้มีการนำบุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุขจากจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อน้อยมาช่วยเหลือในกทม.แล้วบางส่วน

4 มาตรการคุมโควิด

ทั้งนี้สธ.โดยกรมควบคุมโรคได้เสนอมาตรการปรับวิธีการควบคุมโรคให้เหมาะสม 4 มาตรการ ได้แก่ 1.การค้นหาผู้ติดเชื้อใหม่ 2.ปรับระบบรักษาดูแลผู้ป่วย 3.มาตรการวัคซีน และ 4.มาตรการสังคม เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากล้างมือ

ซึ่งจะเป็นการควบคุมโรคที่จะใช้ในกทม. โดยทันที เพื่อพยายามควบคุมให้ได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยการค้นหาผู้ติดเชื้อใหม่ จะเน้นไม่ให้เกิดกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ใหญ่ หาจุดเสี่ยงที่จะมีการระบาดให้ทันเวลา และสอบสวนเฉพาะราย หรือการหาไทม์ไลน์ (timeline) ก็จะให้แต่ละจุดตรวจเป็นผู้ดำเนินการแทน และเน้นควบคุมเชิงรุกจะเน้นย้ำระวังในกลุ่มซูเปอร์ สเปรดเดอร์ (Super spreader) หรือผู้ที่ทำให้มีการกระจายเชื้ออย่างกว้างขวาง รวมทั้งมาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล (Bubble and seal) ในแรงงานต่างด้าว โรงงาน สถานประกอบการ แคมป์คนงาน ตลาดสด ตลาดขนาดใหญ่ เรือนจำ รวมทั้งแหล่งที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก และสถานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นมาตรการที่เราจะเสนอและดำเนินการร่วมกับ กทม. เพื่อลดปริมาณผู้ติดเชื้อและให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีขึ้น ส่วนการรักษา ล่าสุดมีการใช้มาตรการแนวทางแยกกักที่บ้าน (Home isolation) ซึ่งจะมีระบบดูแลรักษาผู้ป่วย แต่หากมีอาการมากขึ้นก็จะส่งต่อตามระบบต่อไป ทุกคนต้องได้รับการรักษา

ศึกษาวัคซีนเข็ม 3 บุคลากรแพทย์

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า ในส่วนของด้านมาตรการวัคซีน สธ.ปรับนโยบายวัคซีน 2 ประการ คือ 1.เตรียมพร้อมจัดวัคซีนบูสเตอร์โดส (Booster dose) ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า หรือกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนเข็มที่ 3 ซึ่งทางวิชาการจะเร่งพิจารณาว่าจะให้วัคซีนตัวไหน เมื่อไหร่ เพื่อปกป้องระบบสาธารณสุขให้คงไว้ดูแลประชาชนได้ ซึ่งการบูสเตอร์โดสก็ต้องพิจารณากรณีการกลายพันธุ์ด้วย ไม่เช่นนั้นบุคลากรก็จะติดเชื้อ และปฏิบัติงานไม่ได้ จึงต้องพิจารณาให้ดี ยิ่งวัคซีนที่จะมากระตุ้นก็ต้องพิจารณาถึงประสิทธิภาพเป็นสำคัญ

2.การให้วัคซีนแก่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่ม เป็นอันดับแรก โดยต้องให้คนกลุ่มนี้ไม่น้อยกว่า 80% ของวัคซีนที่ได้มาในเดือนนี้ เพื่อลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต เพราะข้อมูลพบว่า 2 กลุ่มนี้มีความเสี่ยงมากที่สุด

“สำหรับการฉีดวัคซีนแบบปูพรมจะลดลง จะฉีดกลุ่มเฉพาะที่ มุ่งเน้นพื้นที่มีการระบาด โดยจะวางมาตรการ เช่น หากมีพื้นที่ไหนพบการติดเชื้อมากก็จะฉีดวัคซีนจุดนั้น และในเดือนต่อไปก็จะฉีดให้กับประชาชนมากขึ้น นโยบายการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ย้ำว่า วัคซีนที่มีในเดือนกรกฎาคมนี้ จะเทให้กับ 2 กลุ่มนี้ ให้ได้ไม่น้อยกว่า 80% ของวัคซีนที่ได้มา เพื่อลดอัตราการป่วยหนัก หรือการเสียชีวิต”

ระดมฉีดวัคซีนกลุ่ม ผู้สูงวัย-โรคเรื้อรัง 70%

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในส่วนของวัคซีน เดือนมิถุนายน มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 6 ล้านโดส แต่สำหรับเดือนกรกฎาคมนี้ตั้งเป้าอย่างน้อย 10 ล้านโดส และจะกระจายวัคซีนทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 – 2.5 ล้านโดส โดยเฉพาะกทม.และปริมณฑล และเตรียมเปิดพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ดำเนินการได้ราบรื่น ก่อนขยายสมุย พะงันในลำดับต่อไป


ทั้งนี้การระดมฉีดวัคซีน ในกทม.มีผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง 1.8 ล้านคน โดยจะระดมฉีดให้ได้อย่างน้อย 70% ภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนปริมณฑลจะฉีดให้ได้กรกฏาคม 2564 ส่วนจังหวัดอื่นๆ ใน 2 กลุ่มนี้อีก 17.85 ล้านคน ภายในสิงหาคม 2564 ทั้งนี้ยังต้องดำเนินควบคู่ไปกับมาตรการทางสังคมและองค์กรด้วย จะต้องมีการใช้ Work From Home ในหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่หน่วยบริการ และเอกชนขนาดใหญ่อย่างน้อย 70%