ประกาศแล้ว ! คำสั่ง กทม. สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 35

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.

มีผลบังคับใช้แล้ว ! กทม.ออกประกาศสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 35 การผ่อนคลายคำสั่งห้ามการก่อสร้างในโครงการก่อสร้างบางประเภท และการเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้าง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลตั้งแต่ 5 ก.ค. 2564 เป็นต้นไป

วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊กของกรุงเทพมหานคร ได้เผยแพร่ประกาศกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 35 ลงนามโดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (การผ่อนคลายคำสั่งห้ามการก่อสร้างในโครงการก่อสร้างบางประเภท และการเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้าง) เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และประโยชน์ด้านสาธารณสุข ดังนี้

การก่อสร้างโครงการก่อสร้างบางประเภท

  • โครงการก่อสร้าง ซึ่งหากหยุดก่อสร้างในทันทีหรือการดำเนินการล่าช้า อาจก่อให้เกิดความเสียหายเชิงโครงสร้างด้านวิศวกรรมจนยากต่อการแก้ไข หรือเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมาหรือชุมชนโดยรอบโครงการก่อสร้าง เช่น โครงการก่อสร้างใต้ดินที่มีความลึก การก่อสร้างชั้นใต้ดินที่ยังไม่ได้เทปูนปิดล้อม หรือการก่อสร้างอื่น ๆ
  • การก่อสร้างโครงสร้างชั่วคราว ซึ่งการหยุดก่อสร้างในทันทีหรือดำเนินการล่าช้าจะได้รับความเสียหายจนเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมาหรือชุมชนโดยรอบโครงการก่อสร้าง เช่น นั่งร้าน หรือแบบรอการเทปูนโดยเฉพาะแผ่นพื้น
  • การก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการจราจร เช่น ไฟสัญญาณจราจร แบร์ริเออร์กั้นช่องการจราจร หรือแผ่นเหล็กปิดงานก่อสร้างบนผิวจราจร
  • การก่อสร้างในสถานที่ก่อสร้างที่มีความเกี่ยวข้องกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 และเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือสถานที่ก่อสร้างอื่น ๆ ที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค

อนุญาตเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้าง เฉพาะกรณีการเคลื่อนย้ายแรงงานประเภทก่อสร้าง จากสถานที่พักชั่วคราวทั้งการเคลื่อนย้ายข้ามเขตจังหวัดหรือภายในกรุงเทพมหานคร เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคโควิด-19 เช่น การรักษาพยาบาล การควบคุมป้องกันโรค การตรวจสุขภาพ การตรวจวินิจฉัย หรือการฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ กรณีการเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้างข้ามเขตจังหวัดจะต้องได้รับการอนุญาตจากจังหวัดปลายทางด้วย

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป