กางกฎหมาย ดูหมิ่นโดยการโฆษณา ปรับ 2 พันบาท จากคดี “มิลลิ”

กฎหมายหมิ่นประมาทและดูหมิ่น
ภาพโดย 3D Animation Production Company จาก Pixabay

ชวนศึกษากฎหมาย หลังนักร้องดัง “มิลลิ” ถูกปรับเป็นเงิน 2,000 บาท ตามข้อหาดูหมิ่นโดยการโฆษณา มาตรา 393 

วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 กรณี น.ส.ดนุภา คณาธีรกุล หรือ มิลลิ นักร้องวัยรุ่นชื่อดัง ถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดูหมิ่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ผ่านการโพสต์ข้อความวิจารณ์การทำงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัว เผยแพร่สู่สาธารณะ ซึ่งเจ้าตัวยอมรับสารภาพว่าโพสต์ข้อความจริง ซึ่งทางผู้กล่าวหาไม่ติดใจเอาความ ทางตำรวจจึงได้เปรียบเทียบปรับ เงิน 2,000 บาท ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษา ดังนี้

การดูหมิ่นซึ่งหน้าและการดูหมิ่นโดยการโฆษณา

ตามประมวลกฎหมายอาญาภาค 3 ความผิดลหุโทษในมาตรา 393 บัญญัติว่า ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เว็บไซต์ทีมทนายอิทธิกร อธิบายคำจำกัดความ 3 คำ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) การดูหมิ่น 2) ซึ่งหน้า และ 3) ด้วยการโฆษณา ดังนี้

การดูหมิ่น คือการกระทำ การเหยียดหยาม การสบประมาท การทำให้อับอาย ซึ่งอาจจะเป็นการกระทำโดยทางกาย หรือวาจาก็ได้ และการกระทำนั้นเป็นการลดคุณค่าผู้ถูกดูหมิ่นลงโดยผู้ที่หมิ่น ดังนั้นจึงอาจเป็นคำด่า คำหยาบ สบประมาท เช่น ยกเท้า เปลือยกาย ให้ของลับ ก็เข้าได้ จะเห็นได้ว่ามีความหมายกว้างกว่าการหมิ่นประมาทมาก

การดูหมิ่นนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ดูหมิ่นต้องการลดคุณค่าของผู้ที่ถูกดูหมิ่นลง อาจเป็นการกระทำซึ่งหน้า หรือด้วยการโฆษณาก็ได้ ในการพิจารณานั้น เราต้องพิจารณาประกอบกับกริยาวาจาของถ้อยคำด้วยเช่นกัน

เมื่อการดูหมิ่นเป็นการลดคุณค่าของผู้ที่ถูกดูหมิ่นลง ดังนั้นการดูหมิ่นจึงพิจารณาเฉพาะผู้รับรู้เท่านั้น โดยปกติคือผู้ที่ถูกดูหมิ่นนั่นเองว่าเขาทราบและเข้าใจข้อความที่เป็นการดูหมิ่นนั้นหรือไม่ ส่วนบุคคลที่ 3 จะรับรู้หรือไม่นั้นไม่ใช่สาระสำคัญ ต่างกับความผิดฐานหมิ่นประมาท

ซึ่งหน้า หมายถึงการกระทำที่สามารถเข้าถึงตัวอีกฝ่ายหนึ่งได้ อาจมีการเข้าถึงตัวก่อเหตุร้ายได้ในทันทีทันใด การกระทำเราไม่ได้ถือเอาการเห็นหน้าเป็นสำคัญ อยู่คนละห้องมีฝากั้นแต่ได้ยินแล้วไปถึงตัวอีกฝ่ายได้ทันที หรือใช้เครื่องกระจายเสียง แม้ไม่เห็นหน้าแต่ก็เป็นซึ่งหน้าได้

ด้วยการโฆษณา การโฆษณาในความผิดฐานนี้คือ การทำให้ทราบถึงผู้อื่น เป็นการทำให้แพร่หลายในลักษณะการป่าวร้องให้รู้กันหลาย ๆ คน เช่น ด่ากลางตลาด ถ้าการป่าวร้องนั้นเป็นการป่าวร้องต่อหน้าผู้ถูกดูหมิ่นด้วย การกระทำนั้นอาจจะเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้า และการดูหมิ่นด้วยการโฆษณา

มีสื่อใดที่ถือเป็นการลงโฆษณาบ้าง ?

นอกจากนี้หนังสือพิมพ์แล้ว เว็บไซต์ทีมทนายอิทธิกรระบุว่า สิ่งที่ให้ผลคล้ายกันคือ แอปพลิเคชั่นติดต่อสื่อสารต่าง ๆ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ฯลฯ ที่ทำให้การเขียนหรือพิมพ์ข้อความลงสู่สังคมออนไลน์ มีโอกาสที่จะเป็นการหมิ่นประมาท หรือหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาได้เช่นเดียวกับการพิมพ์ข้อความลงหนังสือพิมพ์ แต่จะผิดอย่างไรนั้นต้องพิจารณาองค์ประกอบของกฎหมายเป็นกรณีไป

ยกตัวอย่าง ไลน์ หากมีการพิมพ์ข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาทลงที่ใดในไลน์ หากเป็นไทม์ไลน์ ซึ่งบุคคลทั่วไปอาจเข้าถึงได้โดยการเปิดเป็นสาธารณะ มีโอกาสเข้าฐานความผิดของการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

แต่ถ้าพิมพ์ข้อความส่งทางไลน์กลุ่ม กฎหมายมองว่าเป็นการแจ้งข่าวเฉพาะผู้ซึ่งอยู่ในกลุ่มเท่านั้น ยังไม่ถึงกับว่าเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณะชน ทำให้การพิมพ์ข้อความลงไลน์กลุ่มจึงยังไม่เข้าในฐานความผิดของการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา แต่อาจเข้าฐานความผิดของการหมิ่นประมาทได้

ขณะที่การหมิ่นประมาททางเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ ต้องพิจารณาว่าเปิดเป็นสาธารณะหรือไม่เช่นกัน ถ้าหากเปิดเป็นสาธารณะ ซึ่งผู้อื่นสามารถส่งต่อให้ผู้อื่นอ่านได้ อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาได้ และแม้ไม่ได้เปิดเป็นสาธารณะก็อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทธรรมดาได้ เช่นเดียวกันกับข้อความทางไลน์

ความแตกต่างระหว่างดูหมิ่นกับหมิ่นประมาท

เพจเฟซบุ๊กทนายมด Law-เรื่องเล่าทนายมด อธิบายว่า การดูหมิ่นให้พิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า หรือด้วยการโฆษณาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนการหมิ่นประมาท ให้พิจารณาตามมาตรา 326 ที่บัญญัติว่า ผู้ใด ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ดูหมิ่นซึ่งหน้าเป็นการดูหมิ่น ผู้ที่ถูกดูหมิ่น ซึ่งเป็นการกระทำต่อหน้า ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีบุคคลที่ 3 หรือไม่ หากซึ่งหน้าแล้วเป็นความผิดสำเร็จ

แต่หมิ่นประมาทนั้นจะต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่ 3 ดังนั้นบุคคลที่ 3 ถือเป็นองค์ประกอบความผิด ถ้าไม่มีบุคคลที่ 3 มารับรู้การกระทำอันเป็นการหมิ่นประมาทนั้นถือว่าไม่ครบองค์ประกอบความผิด ผู้กระทำจะไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท