สั่งตั้งโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ ‘รัฐ-เอกชน’ กู้วิกฤตกรุงเทพ

กทม.วิกฤต คนติดโควิดทะลัก สปสช.ผนึก 6 องค์กร ผุดโครงการส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา จัดเครื่องบิน-รถไฟบริการทั่วประเทศ ทบ.ส่ง C 295 ช่วย มหาดไทยสั่ง 76 จังหวัดตั้งโรงพยาบาลสนามรับ “ยโสธร บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ” คนแห่กลับเพียบ “โคราช” ป่วยล้นเตียง เอกชนหนุนรัฐกู้กรุงเทพฯ ชี้ล็อกดาวน์ยาวทุบ ศก. ทั้งปีหด 0.8%

แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้เตรียมความพร้อมโดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั้งในพื้นที่ และในกรณีที่ต้องรับผู้ป่วยที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง โดยให้มีการคัดแยกผู้มีความเสี่ยงให้เข้าพักในสถานที่ควบคุมเพื่อสังเกตอาการ (quarantine) การเข้าพักในศูนย์พักคอย และการแยกกักตัวที่บ้านตามแต่กรณี

สั่ง 76 จว.ตั้ง รพ.สนาม

โดยให้ผู้ว่าฯ หรือรองผู้ว่าฯ ที่ได้รับมอบหมายภารกิจ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมพื้นที่ โดยอาจใช้สถานที่ของส่วนราชการ และเอกชน อาทิ โรงเรียน มหาวิทยาลัย หอประชุม สถานที่ปฏิบัติธรรม ศาลาวัด โรงแรม อาคารที่พักของเอกชน วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ รถสำหรับบริการรับส่ง หรือสถานที่ราชการ สถานที่ของเอกชนอื่น ๆ รองรับ สำหรับจัดทำเป็นโรงพยาบาลชั่วคราวหรือโรงพยาบาลสนามทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ หลังสถานการณ์โควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) วิกฤตหนัก โรงพยาบาลรัฐเกือบทุกแห่งมีผู้ป่วยผู้ติดเชื้อล้น ไม่มีเตียงรองรับได้เพียงพอ ต้องให้ผู้ติดเชื้อบางส่วนกักตัวนอนรอเตียงอยู่ที่บ้าน

รับผู้ป่วย-แรงงาน 13 จังหวัด

เป้าหมายหลักนอกจากต้องการแยกผู้ติดเชื้อโควิดในพื้นที่ ออกจากครอบครัว ชุมชนแล้ว ให้เตรียมการรองรับผู้ป่วย แรงงาน ตลอดจนประชาชนกลุ่มที่มีความเสี่ยงกลุ่มอื่น ๆ ที่ต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่อยู่ใน 13 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง พื้นที่ควบคุมและเข้มงวดสูงสุด ได้แก่ กทม. ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพื้นที่ กทม. หลังรัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์ คุมเข้มสูงสุด ปิดไซต์ก่อสร้าง สถานประกอบการเสี่ยงทุกประเภท ส่งผลให้แรงงาน พนักงานทั้งที่ติดเชื้อ มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด ต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งมีทั้งที่ประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ล่วงหน้า และที่ย้ายครอบครัวกลับภูมิลำเนาชั่วคราว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ แก้ปัญหาโรงพยาบาล สถานพยาบาล โรงพยาบาลสนาม ใน กทม.และจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม เตียงแน่น ระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว

เช่าโรงแรม-อพาร์ตเมนต์

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในการดำเนินการ ให้ผู้ว่าฯสั่งการให้ราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดหา และใช้พื้นที่ของส่วนราชการเป็นอันดับแรกในการจัดตั้งศูนย์พักคอย แต่หากไม่สามารถใช้พื้นที่ของส่วนราชการได้ หรือสถานที่ดังกล่าวไม่เหมาะสมก็ให้เช่าสถานที่ของภาคเอกชน อาทิ โรงแรม อพาร์ตเมนต์ บ้านเช่า หรือสถานที่อื่น ๆ ได้ตามความจำเป็น และให้สามารถปรับปรุงสถานที่ให้สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์

จัดหายา-เครื่องช่วยหายใจ

ขณะเดียวกันให้โรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ในการดูแล และป้องกันผู้ป่วยทั้งภาครัฐและเอกชนจัดหายา เวชภัณฑ์ เครื่องมือสำหรับใช้ในการตรวจโรค เครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น เตรียมบุคลากรทางการแพทย์ สถานที่กักกัน สถานที่ควบคุมเพื่อคอยสังเกตอาการ รองรับผู้ป่วยที่อาจมีเพิ่มขึ้นโดยดัดแปลงอาคารสถานที่ต่าง ๆ รองรับ รวมทั้งจัดเตรียมงบประมาณให้สามารถเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติราชการ อาทิ เบี้ยเลี้ยงเดินทาง ค่าเช่าที่พัก ค่าพาหนะ ค่าอาหาร ฯลฯ

6 หน่วยงานผนึกกำลังช่วย

ล่าสุด 6 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กองทัพบก (ทบ.) กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ร่วมจัดทำโครงการ “ส่งผู้ติดเชื้อโควิดกลับภูมิลำเนา” ตามนโยบายพาคนกลับบ้านของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข โดย สปสช.เปิดให้ผู้ป่วยโควิดที่ต้องการขอกลับภูมิลำเนาลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ จากนั้นกระทรวงคมนาคม ร.ฟ.ท. และ ทบ.จะจัดรถรับส่งผู้ป่วยไปยังภูมิลำเนา พร้อมมีทีมแพทย์วิดีโอคอลให้คำปรึกษาระหว่างการเดินทาง

ทบ.ใช้เครื่องบิน C 295 ส่งคนไข้

ในส่วนของกองทัพบก (ทบ.) พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ได้สั่งการให้ ทบ.นำขีดความสามารถและทรัพยากรที่ ทบ.มีมาช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติม โดยให้นำอากาศยานของ ทบ. อาทิ เครื่องบินลำเลียงแบบ 295 เป็นพาหนะในการเคลื่อนย้าย ส่งผู้ป่วยไปยังพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ พร้อมทีมแพทย์เวชศาสตร์การบินจากกรมการแพทย์ทหารบก ผู้ป่วยที่มีความประสงค์จะกลับไปรักษายังภูมิลำเนา ติดต่อได้ที่ศูนย์ประสานงานต้านภัยโควิด ทบ. (กทม.) โทร.0-2270-5685-6

กรมท้องถิ่นซ้อมแผนเบิกจ่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2564 กรณีผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดตั้งสถานที่ควบคุมเพื่อสังเกตการเริ่มป่วย (quarantine) ศูนย์พักคอยและการแยกกักตัวที่บ้าน (community isolation และ home isolation) เพื่อให้ อปท.ถือปฏิบัติ เพื่อขอรับค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุข กรณีโควิด-19 จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในปีงบประมาณ 2564

ค่าอาหารหัวละ 1,600 บาท

เป็น 1.ค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลรักษาในที่พักระหว่างรอเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาล (home isolation) และการดูแลรักษาในโรงพยาบาลสนามสำหรับคนในชุมชน (community isolation) โดยมีค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันติดเชื้อ จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,600 บาทต่อครั้งบริการ ค่าอาหาร 3 มื้อ และติดตามประเมินอาการ การให้คำปรึกษา จ่ายแบบเหมาจ่าย 1,000 บาทต่อวัน ไม่เกินจำนวน 14 วัน

นอกจากนี้ ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนให้แก่ผู้ป่วยเป็นรายบุคคล ประกอบด้วย ปรอทวัดไข้แบบดิจิทัล เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และอุปกรณ์อื่น ๆ ไม่เกิน 1,100 บาทต่อราย ค่ายาจ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาทต่อราย หรือชดเชยเป็นยา ค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วยระหว่างที่พัก โรงพยาบาลชุมชนและหน่วยบริการ โดย สปสช.จะชดเชยให้ทั้งการส่งต่อในจังหวัดและข้ามจังหวัด จ่ายตามจริงไม่เกิน 3,700 บาทต่อครั้งที่มีการส่งต่อผู้ป่วย

บุคลากรการแพทย์เบิก 740/วัน

สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแลรักษาในโรงพยาบาลสนามสำหรับในชุมชน จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล อุปกรณ์อื่นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ฯลฯ จ่ายตามจริงไม่เกินวันละ 740 บาทต่อราย

2.ค่าใช้จ่ายสำหรับบริการถ่ายภาพรังสีทรวงอก คัดแยกระดับความรุนแรงของโรคและภาวะปอดอักเสบของผู้ป่วยโควิด ครอบคลุมสำหรับการดูแลรักษาในที่พักระหว่างรอเข้ารักษา home isolation และการดูแลรักษาในโรงพยาบาลสนาม 100 บาท/ครั้ง

กู้วิกฤตเมืองกรุง

แหล่งข่าวจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยระบุว่า มาตรการส่งผู้ป่วยโควิดกลับภูมิลำเนาสอดคล้องข้อเสนอของภาคธุรกิจเอกชนที่ต้องการให้รีบเร่งแก้ปัญหาสถานการณ์โควิดใน กทม.-ปริมณฑลที่วิกฤตหนัก เตียง สถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือทางการแพทย์ ไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ การจัดส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาถือเป็นการแบ่งเบาภาระระบบสาธารณสุขส่วนกลางที่รับไม่ไหว

ขณะเดียวกันก็เป็นไปตามความต้องการของผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องการเดินทางกลับไปรักษาอาการในภูมิลำเนา ประกอบกับอยู่ในช่วงล็อกดาวน์ ไซต์ก่อสร้าง สถานประกอบการจำนวนมากปิดดำเนินการ ทำให้แรงงาน พนักงานที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัดไม่มีรายได้ โครงการนี้จึงน่าจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย ขณะเดียวกันจะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ดีขึ้น วิกฤตจะค่อย ๆ คลี่คลาย ส่งผลด้านบวกต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

สปสช.อัดงบฯ 9.8 พันล้านหนุน

ขณะที่แหล่งข่าวจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีหลายจังหวัด รวมทั้งโรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้ประกาศรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษาให้กลับมารักษาตามภูมิลำเนาของตน สปสช.จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในเรื่องนี้ ทั้งมหาดไทย สาธารณสุข สพฉ. ฯลฯ โดย สปสช.ได้ออกเกณฑ์อำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วย อาทิ ค่ารถ ค่าอุปกรณ์ ค่าอาหาร เป็นต้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สปสช.ได้ข้อเสนอการขอรับงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ปี 2563 รอบ 3 เพื่อนำมาใช้จ่ายในช่วงเดือน เม.ย.-ก.ย. 2564 ประมาณ 9,800 ล้านบาท

เลวร้ายล็อกดาวน์ 3 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรชี้ว่า การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 อาจมีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่หลายฝ่ายประเมิน อาจไม่จบได้เร็วเหมือนปีก่อน ทั้งจากไวรัสที่ระบาดเป็นสายพันธุ์เดลต้าระบาดรุนแรงกว่าเดิมมาก ประกอบกับมาตรการล็อกดาวน์ที่เริ่มต้นช้า นโยบายตรวจโรคที่เป็นข้อจำกัดอาจทำให้ประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าความจริง และสัดส่วนคนที่มีภูมิคุ้มกันมีน้อยมากจากอัตราการฉีดวัคซีนที่ทำได้ช้า และวัคซีนมีประสิทธิผลป้องกันเชื้อเดลต้าได้ต่ำ

ประเมินว่าการระบาดระลอกปัจจุบันต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างน้อย 3 เดือน จึงจะบรรเทาความรุนแรงลง ซึ่งจะกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจจากการบริโภค การลงทุนที่จะลดลงช่วงไตรมาส 3 ส่งผลให้การบริโภคทั้งปีติดลบ และกระทบการคาดการณ์ GDP ปี 2564 จากการเติบโตที่ 1.5% เหลือเพียง 0.5% แม้ส่งออกจะขยายตัวได้ดีขึ้น

และในกรณีเลวร้าย หากจำเป็นต้องล็อกดาวน์ยาวนานกว่า 3 เดือน หรือต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่มีข้อจำกัดมากขึ้น กระทบภาคการผลิตและการส่งออกซึ่งเป็นความหวังสุดท้ายของเศรษฐกิจไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบเพิ่มอีก -1.3% ทำให้เศรษฐกิจปีนี้หดตัวลง 0.8%

ธปท.ชงข้อมูลตัวเลข ศก.

ด้านนางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ “ส่องเศรษฐกิจไทยในวิกฤตโควิด” ว่า ประเมินภาพเศรษฐกิจล่าสุดเมื่อ 19 ก.ค.พบว่า การระบาดของโควิดและการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์เดลต้าส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงกว่าที่คาด และขยายวงกว้าง การบริหารจัดการควบคุมทำได้ยากมากขึ้น ประกอบกับประสิทธิผลของวัคซีนลดน้อยลง ซึ่ง ธปท.จะประมวลข้อมูลเสนอคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อพิจารณาตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในรอบการประชุมถัดไป

ในแง่มาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญ และมีมาร์เก็ตแชร์ของเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนสูงกับประสิทธิผลของมาตรการหากล็อกดาวน์ยืดเยื้อ

อุบลฯเปิดทุกอำเภอ

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า เตรียมแผนรองรับคนกลับภูมิลำเนาในจังหวัดพร้อมแล้ว ข้อมูลผู้ป่วยเดินทางกลับอุบลราชธานีขณะนี้ 2,000 คน

“ตอนนี้เตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิดของอุบลราชธานีตึง ๆ ถูกใช้ไป 95% ส่วนโรงพยาบาลทั้งหมดรับผู้ป่วยโควิดได้ 1,179 เตียง เป็นเตียงกลุ่มผู้ป่วยสีแดงไม่ถึง 50 เตียง และมีผู้รักษาหายและออกจากโรงพยาบาลเฉลี่ย 30-40 รายต่อวัน”

ยโสธรจัด 100 เตียงรับกลับบ้าน

นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวว่า ยโสธรร่วมโครงการรับผู้ติดเชื้อโควิดจากพื้นที่เสี่ยงกลับมารักษาที่บ้าน ตอนนี้มีผู้ป่วยเฉลี่ย 50 รายต่อวัน ส่วนเตียงผู้ป่วยมีรองรับกว่า 700 กว่าเตียง แบ่งออกเป็น โรงพยาบาลสนาม 2 แห่ง 400 เตียง โรงพยาบาลรัฐ และเอกชน รวม 300 เตียง มีผู้ป่วยกว่า 500 คน กำลังรักษาตัว และจะเพิ่มเตียงในโรงพยาบาลสนาม (ค่ายบดินทรเดชา) 100 เตียง รองรับผู้ป่วยที่เดินทางกลับบ้าน

บุรีรัมย์คนกลับบ้าน 2.7 หมื่น

รายงานข่าวจากจังหวัดบุรีรัมย์แจ้งว่า มีประชาชนและกลุ่มแรงงานเดินทางกลับบ้านใน จ.บุรีรัมย์ จากพื้นที่สีแดงเข้ม สีแดง และสีส้ม 27,824 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคทั้งหมด 1,396 ราย ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังต้องกักตัวทั้งหมด แบ่งเป็นกักตัวที่บ้าน 22,883 ราย สถานที่กักตัวในท้องถิ่น 4,941 ราย กักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้ในท้องถิ่น 4,941 คน ส่วนเตียงรองรับผู้ป่วยมีทั้งหมด 862 เตียง และภาครัฐและเอกชนในจังหวัดได้เตรียมโรงพยาบาลสนาม 1,500 เตียง รองรับผู้ป่วยชาวบุรีรัมย์ที่จะเดินทางกลับบ้านเพิ่มอีกส่วนหนึ่ง

อำนาจเจริญกลับบ้าน 2.6 หมื่น

ส่วน จ.อำนาจเจริญ มีผู้เดินทางกลับมาจากจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุม ตั้งแต่ 1 เม.ย.ถึง 22 ก.ค. 64 รวม 26,635 ราย มีเตียงรองรับผู้ป่วย 417 เตียง ใช้ไปแล้ว 275 เตียง เหลือ 142 เตียง ปัจจุบันมีขณะที่ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การเฝ้าระวังสะสม 856 ราย

โคราชวิกฤตป่วยล้นเตียง

รายงานข่าวจาก จ.นครราชสีมาเปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้เดินทางมาจากจังหวัดควบคุมสูงสุดเข้มงวด รวม 7,067 ราย และผู้เดินทางจากจังหวัดควบคุมสูงสุด 4,186 ราย สถานการณ์เตียงผู้ป่วยโรงพยาบาลสนาม 2 แห่ง ที่อาคารชาติฮอลล์ และอาคารลิปตพัลลภฮอลล์ ภายในสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อ.เมืองนครราชสีมา มีเตียงผู้ป่วยทั้งหมด 252 เตียง ขณะนี้เต็มหมดแล้วทุกเตียง และการเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์มีจำกัด

คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมาจึงจำเป็นต้องเร่งเปิดสถานที่กักตัวชุมชน community isolation (คอมมิวนิตี้ไอโซเลชั่น) หรือ CI ในพื้นที่ทั้ง 32 อำเภอ เพื่อกระจายผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวกลับไปรักษาตัวต่อยังภูมิลำเนา

ขอนแก่นเปิด รพ.สนาม

ด้านนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางจังหวัดขอนแก่นใช้งบประมาณในการจัดการบริหารสถานการณ์โควิด-19 จาก 2 ส่วน คือ 1.จากกระทรวงสาธารณสุข 2.จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควบคู่กับงบฯป้องกันของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ให้อำนาจทางจังหวัดจัดการ ส่วนงบประมาณตามที่ทางกระทรวงมหาดไทยแจ้งมาต้องดูสถานการณ์ด้วยความรอบคอบต่อไป

สำหรับผู้มาจากพื้นที่เสี่ยง 13 จังหวัดรวม 39,483 คน เฝ้าดูอาการอยู่ 1,615 คน พ้นระยะเฝ้าระวังแล้ว 37,868 คน พบติดเชื้อ 98 คน เฉลี่ยคนที่กลับเข้ามา 63 คนต่อวัน และพบผู้ป่วยประมาณ 25% จากที่เข้ามา และในศูนย์พักคอยมี 1,319 เตียง มีผู้มาใช้ 154 เตียง จาก 22 ศูนย์ และจะเปิดเพิ่มอีกประมาณ 150 เตียง ส่วนโรงพยาบาลมี 1,546 เตียง มีผู้ป่วยทุกกลุ่มรวมแล้ว 1,451 คน เตียงสีแดง 32 ราย และกำลังจะเปิดโรงพยาบาลแห่งที่ 6 ต่อไป ขณะเดียวกันบุคลากรแพทย์ก็ถือว่าตึงตัวมาก