ศบค.พบ 518 โรงงาน ติดเชื้อโควิด 3.6 หมื่นคน เจออีก 6 คลัสเตอร์ใหม่

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.

ศบค.เผยกระทรวงอุตสาหกรรมรายงานพบ 518 โรงงาน ติดเชื้อโควิดกว่า 3.6 หมื่นคน อุตฯอาหารหนักสุด พบคลัสเตอร์ใหม่ 6 แห่ง ใน 5 จังหวัด ระบุมีต่างชาติเดินทางเข้าไทยติดเชื้อ 3 ราย โยง “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์-สมุยพลัส” ขณะที่ยอดป่วยหนักที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจทะลุพันราย เสียชีวิตที่บ้านเพิ่ม 9 คน

วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวระหว่างแถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อประจำวันว่า ข้อมูล ณ วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม 2564 เวลา 12.30 น. สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 มีผู้ป่วยรายใหม่ 17,345 ราย หายป่วยแล้ว 353,744 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 549,512 ราย เสียชีวิตสะสม 4,585 ราย

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้หายป่วยแล้ว 381,170 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 578,375 ราย เสียชีวิตสะสม 4,679 ราย

ป่วยหนักใส่เครื่องช่วยหายใจทะลุพันราย

สำหรับผู้ป่วยรักษาตัววันนี้มีจำนวน 192,526 ราย โดยเป็นการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 74,232 ราย รพ.สนามและอื่น ๆ 118,294 ราย มีอาการหนัก 4,595 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,012 ราย

ส่วนผู้รับการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 366,663 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 53,485 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 29 กรกฎาคม 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 17,011,477 โดส

ขณะที่สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ณ วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 197,365,402 ราย อาการรุนแรง 87,079 ราย รักษาหายแล้ว 178,517,335 ราย เสียชีวิต 4,214,617 ราย

ส่วนอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 35,584,272 ราย 2.อินเดีย จำนวน 31,571,295 ราย 3.บราซิล จำนวน 19,839,369 ราย 4.รัสเซีย จำนวน 6,218,502 ราย 5.ฝรั่งเศส จำนวน 6,079,239 ราย

สำหรับประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 44 ของโลก จากจำนวนผู้ป่วยสะสม 578,375 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันนี้ กทม.3,231 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 148,454 ราย รองลงมาเป็น สมุทรปราการ 1,386 ราย สมุทรสาคร 1,186 ราย ชลบุรี 914 ราย นนทบุรี 587 ราย ฉะเชิงเทรา 479 ราย นครปฐม 378 ราย อุบลราชธานี 350 ราย ปทุมธานี 330 ราย

เสียชีวิตที่บ้านเพิ่ม 9 คน

“ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้เขตตรวจราชการทั่วทั้งประเทศได้มีการช่วยกันให้มีการเพิ่มจำนวนของผู้ได้รับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง และหญิงตั้งครรภ์ และตอนนี้จะได้เพิ่มผู้ที่มีน้ำหนักมากขึ้นไปอีก” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

สำหรับผู้เสียชีวิต 117 รายในวันนี้ เป็นชาย 62 ราย หญิง 55 ราย มาจาก กทม. 55 ราย สมุทรปราการ 9 ราย สมุทรสงคราม 8 ราย ปทุมธานี 6 ราย นครปฐม 4 ราย เป็นต้น โดยมีค่ากลางของอายุอยู่ที่ 67 ปี (33-92 ปี) (ตามตาราง)

ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคยังมาจากโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคหัวใจ โรคอ้วนเป็นต้น

และปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อยังมาจากคนในครอบครัว ผู้ร่วมงาน อาศัยอยู่ในพื้นที่ระบาด เดินทางไปในที่แออัด และวันนี้มีผู้เสียชีวิตที่บ้านจำนวน 9 ราย อยู่ในกทม. 8 ราย ปทุมธานี 1 ราย

ต่างชาติติดเชื้อ 3 ราย โยงภูเก็ตแซนด์บอกซ์-สมุยพลัส

สำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศวันนี้ มีมาจากกาตาร์ 1 ราย เป็นเพศหญิง อายุ 34 ปี ผลตรวจพบเชื้อ แต่ไม่มีอาการ โดยเข้าพักที่ รพ.เอกชนในภูเก็ต ซึ่งรายนี้จะเกี่ยวข้องกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

และอีกรายมาจากสหราชอาณาจักร เพศชาย อายุ 44 ปี ผลตรวจพบเชื้อ แต่ไม่มีอาการ และจากสเปน 1 รายผลตรวจพบเชื้อ แต่ไม่มีอาการเช่นกัน โดยเข้าพักที่ รพ.เกาะสมุย ซึ่งรายนี้ก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของ สมุยพลัส ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งทั้งหมดได้รับการดูแลรักษาแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีชาวกัมพูชาและมาเลเซียที่เดินทางมาทางพรมแดนทางบกและผ่านช่องทางธรรมชาติด้วย

ส่วนยอดของผู้ติดเชื้อระหว่าง กทม.และปริมณฑล เปรียบเทียบกับในพื้นที่ต่างจังหวัด พบว่า สัดส่วนของต่างจังหวัด (71 จังหวัด) มีสัดส่วนอยู่ 57% ขณะที่ กทม.และปริมณฑลอยู่ที่ 43%

“ต่างจังหวัดมีการไล่แซงขึ้นมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ในช่วงที่มีการเคลื่อนย้ายกลับไปยังพื้นที่เดิม จะเห็นว่าหลายจังหวัดมีการนำเชื้อเข้าไปในพื้นที่ค่อนข้างมาก เช่น เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร

และจะเห็นภาพชัดคือในพื้นภาคอีสาน เช่นที่ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อุบลราชธานี สกลนคร หรือที่สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ เป็นต้น” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว และว่า

ขณะที่ในพื้นที่ภาคใต้จะเป็นการติดเชื้อในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ เหล่านี้คือภาพ หรือปรากฏการณ์ เป็นความสอดคล้องของสถานการณ์ที่มีการระบาดในปัจจุบัน

พบคลัสเตอร์ใหม่ 6 แห่ง 5 จังหวัด

นอกจากนี้ วันนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบถึงการพบคลัสเตอร์ต่าง ๆ ของทั้งประเทศ และมี “คลัสเตอร์ใหม่” ที่เกิดขึ้นในวันนี้คือ

  • สมุทรปราการ อ.เมือง เป็นบริษัทระบบกำลังไฟฟ้า พบผู้ติดเชื้อ 10 ราย
  • สมุทรสาคร อ. เมือง บรษัทยางรถยนต์ พบผู้ติดเชื้อ 14 ราย และโรงงานผลิตภัณฑ์ปลา พบผู้ติดเชื้อ 13 ราย
  • ชลบุรี อ.เมือง โรงงานเครื่องปรับอากาศ พบผู้ติดเชื้อ 15 ราย
  • ปทุมธานี อ.คลองหลวง บริษัทยางรถยนต์ พบผู้ติดเชื้อ 25 ราย
  • สงขลา อ.สะเดา โรงงานแม่แบบเซรามิค พบผู้ติดเชื้อ 13 ราย

โรงงาน 518 แห่ง มีผู้ติดเชื้อ 3.6 หมื่นราย

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ที่มีความสำคัญในวันนี้ ที่ประชุม ศบค. มีการประชุมผ่านเทเลคอนเฟอเรนซ์ โดยมีผู้แทนของกระทรวงอุตสาหกรรม นำเสนอชุดข้อมูล โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนถึง 29 กรกฎาคม 2564 พบว่า มีการระบาดของโรงงาน 518 แห่ง มีผู้ติดเชื้อจำนวน 36,861 คน ครอบคลุมพื้นที่ 49 จังหวัด

โดย 5 อันดับแรกที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่

  • เพชรบุรี จำนวน 4,464 คน
  • เพชรบูรณ์ 3,487 คน
  • ประจวบคีรีขันธ์ 2,538 คน
  • สมุทรสาคร 2,496 คน
  • สงขลา 2,209 คน

สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผกระทบมาก 5 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมอาหาร 99 โรงงาน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 74 โรงงาน อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 42 โรงงาน อุตสาหกรรมโลหะ 42 โรงงาน อุตสาหกรรมพลาสติก 36 โรงงาน (ตามตารางท้ายข่าว)

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวว่า จะเห็นการกระจายของแผนที่ไปหลายแห่งทั่วประเทศ แต่ก็ยังมีจังหวัดสีขาวอยู่ ซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้แจ้งว่า มีระบบของการตรวจสอบ และดูแลตามมาตรการต่าง ๆ ตามที่กรมอนามัย กระทรวงสาธาณสุขแนะนำ ตามเกณฑ์ Thai stop covid plus

โดยจากจำนวนโรงงาน 18,005 แห่ง มีการเข้าไปประเมินแล้วประมาณ 28 % หรือคิดเป็น 1 ใน 4 และโดยรวมมีโรงงานผ่านเกณฑ์ 12,256 แห่ง หรือคิดเป็น 68% และไม่ผ่านเกณฑ์ 5,749 แห่ง หรือคิดเป็น 31 % หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ที่ไม่ผ่านเกณฑ์