รพ.สนามธรรมศาสตร์ หวั่น ยาฟาวิพิราเวียร์ขาดแคลน หากผู้ติดเชื้อยังไม่ลด

หวั่นฟาวิขาด
แฟ้มภาพ

รพ.สนามธรรมศาสตร์ เตือน หากสัปดาห์หน้ายอดผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับเดิม ขาดยาฟาวิพิราเวียร์แน่ เผยต้องใช้วันละหนึ่งล้านเม็ด แต่ อภ.ผลิตได้เพียงเดือนละ 2-3 ล้านเม็ด

วันที่ 2 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (1 ส.ค.) เฟซบุ๊ก โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ โพสต์ถึงสถานการณ์ยาฟาวิพิราเวียร์ ระบุว่า เมื่อวันก่อน สภาเภสัชกรรมออกแถลงการณ์เตือนมาแล้วว่า ต่อให้องค์การเภสัชกรรมของเราจะผลิต Favipilavir ได้เองแล้ว แต่ในหลายเดือนจากนี้ไป ศักยภาพการผลิตของเราจะอยู่ที่เดือนละ 2-3 ล้านเม็ด

และหากผู้ป่วยใหม่อยู่ในระดับนี้ และมีนโยบายให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาอย่างเร็วตามที่ สธ.กำหนด เราจะต้องใช้ยาถึงวันละหนึ่งล้านเม็ด (ผู้ป่วยคนหนึ่งใช้ยาโดสละ 50 เม็ด) และภายในสัปดาห์หน้า ประเทศจะขาดยา Favi อย่างแน่นอน ถ้าหากรัฐบาลไม่เร่งดำเนินการให้โรงงานผลิตยาของเอกชนที่มีมาตรฐานสูงในระดับเดียวกันเข้ามาช่วยผลิตยาเพิ่มจากที่องค์การเภสัชกรรมทำอยู่

คำเตือนของสภาวิชาชีพเภสัชกรรมนี้ เป็นการประเมินความต้องการใช้ยาของประเทศที่น่าเชื่อถือมากที่สุด เพราะยา Favi ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสชนิดเดียวที่มีใช้อยู่ในประเทศ ที่ใช้กับผู้ป่วยโควิดทุก ๆ เม็ดในทุก ๆ โรงพยาบาล ถูกสั่งจ่ายออกไปโดยสมาชิกของสภาวิชาชีพนี้ทั้งสิ้น เราหวังว่ารัฐบาลจะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างรวดเร็วที่สุด และการตัดสินใจว่าจะไม่ตัดสินใจ ก็จะต้องมีคำอธิบายที่ดีสำหรับประชาชนด้วยนะ

เพราะถ้าไม่ได้ทำอะไรเลย ประมาณกลางเดือนสิงหาคม ~อีกสักสองสัปดาห์~ เราก็จะได้ยินเพิ่มว่า นอกจากวัคซีนขาด เตียงขาดแล้ว ยารักษาโควิดยังขาดอีกด้วย ที่น่าเศร้าก็คือ เรื่องนี้จะเกิดขึ้นในประเทศที่เคยถูกยกย่องว่า มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกติดต่อกันมาหลายปีแล้ว

อภ.เร่งผลิตฟาเวียร์ เป้า ต.ค. 40 ล้านเม็ดต่อเดือน

วันที่ 2 สิงหาคม 2564 นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า หลังจากองค์การเภสัชฯ ได้วิจัยและพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์ ภายใต้ชื่อ ฟาเวียร์ ขนาด 200 มก. และได้ผ่านการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา (อย.) เมื่อ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ อภ. ได้มีการปรับแผนขยายการผลิตเพิ่มเพื่อลดการจัดหาจากต่างประเทศ โดยในเดือนสิงหาคม 2564 จะดำเนินการผลิตแบบบรรจุแผง จำนวน 2.5 ล้านเม็ด และจะเพิ่มการผลิตแบบบรรจุใส่ขวด ซึ่งคาดว่าจะได้รับอนุมัติแบบบรรจุขวด จาก อย. ภายในเดือนสิงหาคม 2564 นี้ ส่วนในเดือนกันยายนจะผลิตยาได้ จำนวน 23 ล้านเม็ด และตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไปจะสามารถผลิตได้ไม่น้อยกว่า 40 ล้านเม็ดต่อเดือน