ฟาวิพิราเวียร์: เปิด 4 แนวทางใหม่ ใช้กับผู้ป่วยโควิด

ยาฟาวิพิราเวียร์

เผยแนวทางใหม่ ในการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ สำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ใครใช้ได้-ไม่ได้ ดูได้ที่นี่

วันที่ 9 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เปิดเผย แนวทางใหม่ในการใช้ฟาวิพิราเวียร์ สำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยระบุว่า ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ ต่อมาพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19

จากการเก็บข้อมูลในไทยพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์มีความปลอดภัยและช่วยลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 ได้ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ประกาศแนวทางการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ใหม่ โดยระบุให้

  1. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เพราะส่วนมากหายเองได้ และอาจได้รับผลข้างเคียงจากยา
  2. ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วม แพทย์จะพิจารณาให้ยาโดยเร็ว แต่หากตรวจพบเชื้อเกิน 7 วัน อาจไม่จำเป็นต้องให้ยา เพราะผู้ป่วยน่าจะหายเองได้ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
  3. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วม ให้ยานาน 5 วันหรือมากกว่าขึ้นอยู่กับอาการ
  4. ผู้ป่วยที่มีปอดบวมหรือมีภาวะลดลงของระดับออกซิเจนในเลือด ให้ยาเป็นเวลา 5 – 10 วันขึ้นอยู่กับอาการ

นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า ปัจจุบันยาฟาวิพิราเวียร์ (ฟาเวียร์) ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตและกระจายให้ผู้ป่วยได้ในเดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

กรมการแพทย์ตอบ ทำไมไม่ให้ยาทุกคน

วันที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา กรมการแพทย์ เผยข้อมูลเกี่ยวกับยาฟาวิพิราเวียร์ ระบุว่า เป็นยาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์ในการยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส ในกลุ่มที่มีอาการ ซึ่งขึ้นกับการตอบสนองของร่างกายแต่ละคน อย่างไรก็ตาม พบว่ายานี้เป็นยาอันตราย ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ผลข้างเคียงของยาที่พบ เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน อาจทำให้ทารกในครรภ์มีความพิการ หากรับประทานยาในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ เมื่อรับประทานร่วมกับยาบางชนิด มีผลต่อการทำงานของตับ ดังนั้นไม่ควรรับประทานร่วมกับยาฟ้าทะลายโจร หรือยาที่มีผลต่อตับ จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

สิ่งที่ต้องระวัง เนื่องจากไวรัสปรับตัวเร็ว มีหลายสายพันธุ์ที่เริ่มดื้อยา ถ้าใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ฟุ่มเฟือย โดยไม่มีข้อบ่งชี้อาจเกิดเชื้อดื้อยา ทำให้ไม่มียารักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรง จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตมากขึ้นได้

รพ.สนามธรรมศาสตร์ เตือน ยาอาจขาดแคลน

วันที่ 1 สิงหาคม 2564 เฟซบุ๊ก โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ โพสต์ถึงสถานการณ์ยาฟาวิพิราเวียร์ ระบุว่า สภาเภสัชกรรมออกแถลงการณ์เตือนว่า ต่อให้องค์การเภสัชกรรมจะผลิตฟาวิพิราเวียร์ได้เองแล้ว แต่ในหลายเดือนจากนี้ไป ศักยภาพการผลิตจะอยู่ที่เดือนละ 2-3 ล้านเม็ดและหากผู้ป่วยใหม่อยู่ในระดับนี้ และมีนโยบายให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาอย่างเร็วตามที่ สธ.กำหนด

จะต้องใช้ยาถึงวันละหนึ่งล้านเม็ด (ผู้ป่วยคนหนึ่งใช้ยาโดสละ 50 เม็ด) และภายในสัปดาห์หน้า ประเทศจะขาดยาฟาวิพิราเวียร์อย่างแน่นอน ถ้าหากรัฐบาลไม่เร่งดำเนินการให้โรงงานผลิตยาของเอกชนที่มีมาตรฐานสูงในระดับเดียวกันเข้ามาช่วยผลิตยาเพิ่มจากที่องค์การเภสัชกรรมทำอยู่