สายพันธุ์เดลต้า กระจายทุกพื้นที่ เหลือจังหวัดเดียวยังตรวจไม่เจอ

นพ. ศุภกิจ
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยโควิดสายพันธุ์เดลต้า แพร่กระจายครบแล้ว 76 จังหวัด เหลือ จ.สุพรรณยังไม่เจอ แต่ไม่ใช่ว่าไม่มี 

วันที่ 10 สิงหาคม 2564 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการตรวจเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ต่างๆ กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 6 สิงหาคม 2564 ทั่วประเทศมีการตรวจรหัสพันธุกรรมไวรัสโควิด-19 จำนวน 1,632 ราย พบเป็นสายพันธุ์เดลต้า 1,499 ราย คิดเป็น 91.9% สายพันธุ์อัลฟา 129 ราย คิดเป็น 7.9% และสายพันธุ์เบต้า 4 ราย คิดเป็น 0.2% โดยพบในภาคใต้ทั้งหมด

เมื่อพิจารณาเฉพาะพื้นที่ กทม. มีการตรวจ 1,157 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์เดลตา 95.4% สายพันธุ์อัลฟาเหลือ 4.6% ส่วนภูมิภาคมีการตรวจ 475 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์เดลต้า 83.2% สายพันธุ์อัลฟา 16% และสายพันธุ์เบตา 0.8%

“พูดง่าย ๆ สายพันธุ์เดลต้าพบมากขึ้นและคงเบียดสายพันธุ์อัลฟาเรื่อย ๆ จนสุดท้ายเกือบทุกรายในประเทศ ก็น่าจะเป็นสายพันธุ์เดลต้าเป็นหลัก ซึ่งเมื่อดูจากกราฟ (ด้านล่าง) การตรวจพันธุกรรมในทุกสัปดาห์ สายพันธุ์เดลตาขึ้นทุกสัปดาห์มาค่อนข้างเร็ว และจะเห็นว่า สายพันธุ์เดลต้ามีอำนาจกระจายเร็วและแพร่เชื้อได้ง่าย จึงครอบครองพื้นที่เป็นส่วนใหญ่”

พบ “เดลต้า” ครบ 76 จว. เว้น จ.สุพรรณบุรี ยังไม่เจอ

ขณะที่ การรายงานการกระจายเชื้อสายพันธุ์เดลต้าในกรุงเทพมหานคร และ 75 จังหวัด พบว่า มีเพียง จ.สุพรรณบุรี ที่ยังไม่พบ โดยนายแพทย์ศุภกิจ ระบุว่า เข้าใจว่าอาจจะยังตรวจไม่พบ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ไม่มีสายพันธุ์ดังกล่าว จึงอาจสรุปได้ว่า ขณะนี้พบโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ครบทุกจังหวัดในประเทศไทยแล้ว

สายพันธุ์เบต้า แพร่เชื้อน้อย พบมากในภาคใต้

ส่วนสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาพบ 4 ราย คือ ภูเก็ต 3 ราย และพัทลุง 1 ราย โดยภาพรวมสายพันธุ์เบต้า 70% อยู่ที่ จ.นราธิวาส ที่เริ่มต้นจากการมีคนเดินทางข้ามมาจากประเทศมาเลเซียและนำสายพันธุ์นี้เข้ามาด้วย สายพันธุ์เบต้าอำนาจแพร่เชื้อไม่มาก ค่อนข้างจำกัดวงที่ภาคใต้

นอกจากนี้ ยังเคยเจอการระบาดของสายพันธุ์เบต้า อยู่นอกพื้นที่ภาคใต้ ที่ จ.บึงกาฬ เมื่อ 2 สัปดาห์ต่่อเนื่องกัน จำนวน 5 ราย ซึ่งขณะนี้ได้ยุติไปแล้ว ส่วน 3 ราย จ.สมุทรปราการอยู่ในสเตทควอรันทีน และ กทม. เคยเจอ 1 รายแรก และญาติ 2 ราย ก็จบแล้ว ไม่พบเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นกรณีของสายพันธุ์เบต้าไม่น่าเป็นปัญหานอกพื้นที่ชายแดนใต้ แต่ต้องเฝ้าระวังต่อไปจะแพร่กระจายที่อื่นหรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจจับได้จากระบบเฝ้าระวัง

“ขอให้ช่วยกัน เพราะอย่างที่ทราบกัน ธรรมชาติสายพันธุ์เดลต้ามีการแพร่กระจายติดเชื้อที่ค่อนข้างง่ายมากกว่าเดิมหลายเท่า ทำให้การแพร่กระจายถึงรวดเร็ว คนไข้เพิ่มหลัก 2 หมื่นรายต่อวัน ด้วยอำนาจแพร่เชื้อที่ง่ายทำให้ติดง่าย ดังนั้น ต้องเคร่งครัดใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง อย่ารวมกลุ่ม ให้คนไทยช่วยกัน ไม่มีอะไรดีกว่าที่เราช่วยกันหยุดยั้ง เพราะไวรัสไปเองไม่ได้ ไปกับผู้คน การทำกิจกรรมเสี่ยงทั้งหลาย”

“ถ้าเราหยุดการแพร่เชื้อเร็ว ควบคุมโรคเร็ว โอกาสกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่จะน้อยลง ซึ่งตอนนี้เรายังไม่เจอสายพันธุ์อื่น เช่น แลมบ์ดา โดยมีการเฝ้าระวังคนมาจากต่างประเทศ ทั้งในสเตท ควอรันทีน ชายแดน คลัสเตอร์แปลกๆ หรือคนไข้หนัก” นพ.ศุภกิจกล่าว