คลายล็อก-คนแน่นห้าง ศบค.จับตา 8 เขต กทม. ยอดโควิดพุ่ง 3 หลัก

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

ศบค. ส่งสัญญาณเตือน 8 เขตในกทม. ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่พุ่งขึ้นแตะระดับ 3 หลัก หลังปรับมาตรการ-คลายล็อกกิจการกิจกรรม คนแห่ใช้บริการแน่นห้าง รถติด เริ่มมีชุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ขณะที่ยอดป่วยหนักเริ่มลดลง ฉีดวัคซีนเข็ม 1 ครอบคลุมประชากรไปแล้ว 37.9%

วันที่ 13 กันยายน 2564 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวช่วงหนึ่งระหว่างแถลงสถานการณ์ประจำวันว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่วันนี้จำนวน 12,583 ราย อยู่ในกทม.จำนวน 3,329 ราย ถ้าลงไปดูรายละเอียดในแต่ละเขตของกทม.จาก 50 เขต จะพบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นผู้ป่วยอยู่ในกทม.จำนวน 2,875 ราย และเป็นผู้ป่วยที่อยู่ต่างจังหวัดเข้ารับการรักษาตัวโรงพยาบาลในกทม.จำนวน 454 ราย

10 เขตกทม.ยอดติดเชื้อสูงสุด

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวว่า ในจำนวนผู้ป่วยตามเขตต่างๆของกทม. พบว่า 10 เขตที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด พบว่ามี 8 เขตที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับ 3 หลัก ได้แก่ “เขตจอมทอง” ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุด 279 ราย

รองลงมาเป็นเขตหลักสี่ 186 ราย ดอนเมือง 155 ราย บางซื่อ 140 ราย ราษฎร์บูรณะ 116 ราย หนองแขม 144 ราย สายไหม 107 ราย คลองเตย 101 ราย ส่วนเลข 2 หลักมี 2 เขตคือ เขตธนบุรี 99 ราย ห้วยขวาง 98 ราย

“ข้อน่าสังเกตคือมีตัวเลขผู้ป่วย 3 หลักเพิ่มขึ้นมาถึง 8 เขต ซึ่งก็ต้องกราบเรียนพี่น้องประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ท่านได้หาข้อมูลเพิ่มเติม เพราะหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตั้งแต่การปรับมาตรการ มีการให้เปิดบางกิจการ บางกิจกรรมกันได้ ห้างร้านต่างๆก็มีคนไปอุดหนุนเป็นจำนวนมาก” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

ส่วนข้อสังเกตของกทม.มีตัวเลข 2 หลักไปจนถึงเขตที่ 46 คือมีจำนวนผู้ติดเชื้อตั้งแต่มากที่สุดคือจำนวน 91 รายในเขตบางแค ไปจนถึงเขต วังทองหลางคือ 10 ราย ส่วนอีก 4 เขตมีตัวเลขหลักเดียวคือเขตป้อมปราบฯ 9 ราย คันนายาว 8 ราย สะพานสูงและเขตสัมพันธวงศ์ เขตละ 6 รายเท่านั้น และยังมีตัวเลขที่ต้องติดตามผู้ป่วยอีก 103 ราย(ตามกราฟิก)

ห่วงตัวเลขป่วยเพิ่มหลังคลายล็อก

ต่อข้อถามที่ว่ากรณีมีอาจารย์หมอออกมาเตือนว่าการปรับรูปแบบมาตรการ ที่บางกิจการ กิจกรรมค่อนข้างผ่อนคลายกันมากขึ้นจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นหรือไม่

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวตอบว่า ไม่อยากให้เรียกว่า “การผ่อนคลาย” เพราะหากมีการผ่อนคลายก็จะเป็นบรรยากาศแบบนี้ ก็ขอใช้คำเดิมคือ “การปรับมาตรการ” เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจเดินไปได้ พร้อมๆไปกับการควบคุมโรค ซึ่งก่อนปรับมาตรการผู้ประกอบการ ร้านค้า ทั้งหลายก็มาพูดคุยกันในการดำเนินการตามาตรการที่ตกลงกัน

“พอปรับมาตรการไปแล้วสิ่งที่เป็นภาพสะท้อน ตอนนี้ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกัน ไปห้างคนก็แน่น ลงบนถนนรถติด รถเยอะ ไปตลาดก็เริ่มเห็นคนมีชุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ขึ้นมาหลายเรื่อง ผมเองก็ไม่สบายใจ หลายครั้งมีคนไปพาดหัวว่า โทษประชาชนอีกแล้ว ผมไม่เคยโทษใคร แต่เป็นเรื่องที่ต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนมากกว่า เราอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน อยู่ในแผ่นดินไทยเหมือนกัน มีข้อตกลงร่วมกัน ก็ขอให้ทุกท่านได้ร่วมมือร่วมกัน” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว และว่า

โรคนี้ความจริงมี 3 ประเด็นเท่านั้นคือ บุคคลเสี่ยง สถานที่เสี่ยง และกิจการกิจกรรมเสี่ยง เพราะฉะนั้นถ้าเห็นภาพดังกล่าวข้างต้นอย่างนี้ก็ไม่ต้องไปร่วมเสริมเติมกับเขา

ยอดป่วยหนัก-ใส่เครื่องช่วยหายใจลดลง

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก หรือปอดอักเสบ และผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจในภาพรวมของประเทศมีแนวโน้มลดลง รวมถึงใน 48 จังหวัด พื้นที่ภาคใต้ พื้นที่กทม.และปริมณฑล โดยภาพรวมลดลง ยกเว้น นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการที่เพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับภาพของผู้เสียชีวิตก็มีแนวโน้มลดลง ยกเว้นบางพื้นที่ เช่น นนทบุรี สมุทรปราการ และนครปฐม ที่ยังเพิ่มขึ้น (ตามกราฟ)

ส่วนผู้เสียชีวิตในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีจำนวน 132 ราย มีสัดส่วนของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 100 ราย คิดเป็น 76% และมีผู้ที่อายุน้อยกว่า 60 ปี แต่มีโรคเรื้อรังจำนวน 26 ราย คิดเป็น 20% ราย รวม 2 ส่วนนี้คิดเป็น 96% มีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 1 ราย อยู่ที่กำแพงเพชร และเสียชีวิตที่บ้าน 1 ราย อยู่ จ.ตาก(ชาวเมียนมา) ทั้งสองรายตรวจพบเชื้อหลังการเสียชีวิต

และจากจำนวนผู้เสียชีวิตวันนี้ 132 ราย อยู่ในกทม. 23 ราย ซึ่งลดลงค่อนข้ามาก รองลงมาเป็น สมุทรปราการ 19 ราย นครปฐม 12 ราย สมุทรสาคร 12 ราย นนทบุรี 6 ราย โดยปัจจัยเสี่ยงยังมาจากโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคไต ป่วยติดเตียง (ตามตาราง)

10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด

สำหรับ 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด  กทม.ยังอันดับหนึ่งจากจำนวนผู้ป่วย 3,329 ราย ชลบุรี 650 ราย ระยอง 647 ราย นนทบุรี 468 ราย สมุทรปราการ 443 ราย สมุทรสาคร 402 ราย นราธิวาส 401 ราย ยะลา 366 ราย สงขลา 301 ราย ราชบุรี 299 ราย

“โดยภาพรวมผู้ติดเชื้อรายวันทั้งประเทศยังทรงๆตัว และพื้นที่ต่างๆก็ยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง ก็ฝากให้ทุกท่านได้ช่วยกันในการที่จะดูแลสุขอนามัยส่วนตัวด้วย” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวย้ำ

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 มีผู้ป่วยรายใหม่ 12,583 ราย หายป่วยแล้ว 1,220,732 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,365,893 ราย เสียชีวิตสะสม 14,391 ราย

ส่วนผู้ป่วยที่รักษาตัวหายแล้ววันนี้มีจำนวน 16,304 ราย ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่มีจำนวน 12,583 ราย ทั้งนี้ไม่รวมผลตรวจจากชุดตรวจ ATK ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะมีการรายงานตัวเลขเป็นรายวันต่อไป

นอกจากนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 4,096 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 835 ราย ซึ่งมีตัวเลขที่ลดลงเช่นกัน

ส่วนผู้ที่กำลังรักษาตัวอยู่มีจำนวน 132,113 ราย อยู่ในรพ. 38,046 ราย  และมีผู้รักษาตัวอยู่ในรพ.สนาม 94,067 ราย ซึ่งลดลงจากก่อนหน้าที่อยู่ในระดับแสนราย แยกเป็นผู้ที่อยู่ในรพ.สนามและ Hospitel จำนวน 67,869 ราย อยู่ใน Home Isolation และ Community Isolation จำนวน 20,483 ราย

ฉีดวัคซีนเข็ม 1 ครอบคลุมประชากร 37.9%

สำหรับผู้ขอรับการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 12 กันยายน 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 109,213 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 106,570 รายเข็มที่ 3 จำนวน 106 ราย

และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 12 กันยายน 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 40,276,356 โดส รวมๆแล้วล่าสุดเรามีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 คิดเป็นสัดส่วน 37.9% ของจำนวนประชากรแล้ว ส่วนเข็มที่สองคิดเป็น 17.2% ของจำนวนประชากร(ตามกราฟิก)

คลิกอ่านเพิ่มเติม>> ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดวันนี้ (13 ก.ย.) เพิ่ม 12,583 ราย เสียชีวิต 132 ราย

ส่วนสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันจันทร์ที่ 13 กันยายน 2564 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 225,469,980 ราย อาการรุนแรง 103,211 ราย รักษาหายแล้ว 202,037,081 ราย เสียชีวิต 4,644,028 ราย

อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 41,853,362 ราย 2.อินเดียจำนวน 33,263,542 ราย 3.บราซิล จำนวน 20,999,779 ราย 4.สหราชอาณาจักร จำนวน 7,226,276 ราย 5.รัสเซีย 󠁧󠁢󠁥󠁮󠁧󠁿 จำนวน 7,140,070 ราย

และประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 29 ของโลก จากจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,394,756 ราย