ยูเนสโกยก “ดอยเชียงดาว” พื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก

ยูเนสโก ประกาศให้ ดอยเชียงดาว พื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก
ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ยูเนสโก ประกาศให้ ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก อย่างเป็นทางการ

วันที่ 16 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศให้ “ดอยเชียงดาว” จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกจากยูเนสโก (UNESCO) อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 15 กันยายน 2564

ในการนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมดังกล่าว ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะมีการพิจารณารับรองการเสนอพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ จำนวน 22 แห่ง ในวันที่ 15 กันยายน 2564 โดยมีพื้นที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่จะมีการพิจารณาบรรจุในบัญชีรายชื่อพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ ของปี ค.ศ. 2021 โดยยกความสำคัญของพื้นที่

ประกอบด้วย สังคมพืชกึ่งอัลไพน์ ที่เชื่อมโยงกับสังคมพืชในเทือกเขาหิมาลัย ทางตอนใต้ของจีน ภูมิประเทศเขาหินปูน ภูมิปัญญาเหมืองฝาย ตัวอย่างกลไกการจ่ายแทนคุณระบบนิเวศ ในพื้นที่บ้านปางมะโอ พื้นที่แกนกลางที่ได้รับการดูแลโดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว มาเป็นเวลากว่า 40 ปี และศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ โดยมีการจัดการผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่เข้มข้น โดยเฉพาะเส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอยหลวงเชียงดาว

พื้นที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีความโดดเด่นด้านภูมิทัศน์ด้วยภูเขาหินปูนโดดเด่น มีดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งเป็นยอดเขาสูงเป็นอันดับสาม ของประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำปิงตอนบน โดยมีทั้งระบบนิเวศดั้งเดิมที่ได้รับการปกปักษ์รักษามาอย่างยาวนาน และพื้นที่ที่ได้รับการฟื้นฟูให้คืนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้ มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 40 ปี

Advertisment

เป็นแหล่งอาศัยที่ปลอดภัยของสัตว์ป่าสงวน ได้แก่ กวางผา และเลียงผา รวมถึงสัตว์ป่าคุ้มครองอีกหลายชนิด และมีความเป็นไปได้สูงที่จะค้นพบพืชและสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกได้ และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อาทิ วัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่ ม้ง มูเซอ ลีซอ ปกากะญอ และวัฒนธรรมล้านนา ซึ่งแต่ละกลุ่มสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

Advertisment

พื้นที่ดอยเชียงดาว มีความพร้อมที่เอื้อต่อการวิจัยในพื้นที่ เนื่องจากมีสถานีวิจัยในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีประสบการณ์โดดเด่นในการจัดการพื้นที่คุ้มครองเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะความสำเร็จในการอนุรักษ์กวางผาในถิ่นที่อยู่ นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังมีสถานีวิจัยต้นน้ำ และสถานีวิจัยเกษตรพื้นที่สูง

ในส่วนของการจัดการเชิงพื้นที่ พื้นที่ดอยเชียงดาว มีพื้นที่รวม 85,909.04 เฮกแตร์ (536,931 ไร่) ซึ่งเป็นการกำหนดเขตเพื่อการส่งเสริมให้เกิดการจัดการที่ยั่งยืน โดยไม่กระทบกับการบังคับใช้กฎหมายและการปกครองที่มีอยู่ พื้นที่แกนกลางและพื้นที่กันชนจัดการโดยใช้ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507

มีคณะกรรมการที่ปรึกษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ในส่วนของพื้นที่รอบนอก การบริหารจัดการจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของส่วนราชการภูมิภาคและท้องถิ่น ที่ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่สงวนชีวมณฑลในอนาคต

การจัดตั้งพื้นที่สงวนชีวมณฑล คาดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น หลายด้าน อาทิ การถ่ายทอดความรู้ด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม การส่งเสริมการพัฒนาการให้บริการที่เป็นมืออาชีพทั้งด้านการท่องเที่ยว และการศึกษาธรรมชาติ การเพิ่มช่องทางการตลาดของสินค้า ผลิตภัณฑ์และการบริการที่ผลิตในพื้นที่นำเสนอ ด้วยการควบคุมคุณภาพของสินค้าภายใต้การเป็นแหล่งสงวนชีวมณฑล การรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี และความอุดมสมบูรณ์ไว้ให้ประชาชน

เกิดการบูรณาการกิจกรรมของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ตอบสนองเป้าหมายร่วม ทำให้พื้นที่เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน การอนุรักษ์ระบบนิเวศ การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจของชุมชน และการถ่ายทอดความรู้และวิทยาการต่าง ๆ ไปยังเครือข่ายพื้นที่สงวนชีวมณฑลอื่น ๆ ทั่วโลก และเป็นความภาคภูมิใจในถิ่นฐานที่ได้รับความสำคัญในระดับสากล