ลุ้นสรุปผลสอบ “เนตร นาคสุข” สั่งไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา” วันนี้ (21 ก.ย.)

เนตร นาคสุข

จับตา ผลสรุปการสอบสวนคณะกรรมการข้อเท็จจริง “เนตร นาคสุข” อดีตรองอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา” 

วันที่ 20 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 21 กันยายน จะมีการประชุมประธานคณะกรรมการอัยการ (..) ซึ่งจะมีวาระพิจารณาผลสรุปการสอบสวนคณะกรรมการข้อเท็จจริง กรณีนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง คดีขับรถประมาทอันเป็นสาเหตุให้ผู้อื่นถึงเเก่ความตาย

“ประชาชาติธุรกิจ” ลำดับเหตุการณ์ก่อนนำไปสู่การสอบสวนนายเนตร เริ่มต้นจากวันที่สื่อต่างประเทศรายงานว่า นายวรยุทธ หรือ บอส รอดพ้นคดีขับรถชนตำรวจถึงแก่ความตาย เมื่อปี 2555 ดังนี้

วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 จากซีเอ็นเอ็น ระบุว่า นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ทายาทตระกูลอยู่วิทยา หลานชายของ นายเฉลียว อยู่วิทยา ผู้ก่อตั้งบริษัทเครื่องดื่มกระทิงแดง อาณาจักรธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับโลก รอดพ้นคดีต้องสงสัยขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงแก่ความตาย เมื่อปี 2555 แล้ว เนื่องจากอัยการสั่งไม่ฟ้องทุกข้อหา

พ.ต.อ.สัมพันธ์ เหลืองสัจจกุล ผกก.สน.ทองหล่อ ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็น ว่า เมื่อทราบจากอัยการว่าจะไม่สั่งฟ้อง จึงได้แจ้งไปทางนายวรยุทธ และได้ยกเลิกหมายจับแล้ว

จดหมายแจ้งเรื่องดังกล่าวส่งจากสถานีตำรวจทองหล่อไปยังบ้านพักของนายวรยุทธ ที่กรุงเทพฯ และซีเอ็นเอ็นเห็นจดหมายดังกล่าว มีข้อความว่า…

“อัยการสูงสุดตัดสินยกคำฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา ส่วนคณะกรรมการตำรวจไม่คัดค้านการตัดสินใจนี้ และจะดำเนินการยกเลิกหมายจับต่อไป”

วันที่ 25 กรกฎาคม 2563 พ.ต.ท.ธนาวุฒิ สงวนสุข รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ทองหล่อ เปิดเผยกรณีอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องทุกข้อหา ในคดีที่นายวรยุทธ ขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่ ป.สน.ทองหล่อ จนเสียชีวิต ว่า เจ้าหน้าที่ได้ถอนหมายจับนายวรยุทธ ในระบบประกาศสืบจับ ทั้งในระบบตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมดแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อตำรวจสากลถอนหมายจับ จะทำให้นายวรยุทธที่หลบหนีอยู่นอกประเทศพ้นผิด สามารถกลับประเทศไทยได้

“เมื่อมีคำสั่งว่าอัยการสูงสุดไม่ยื่นฟ้องแล้ว ตำรวจก็ต้องปฏิบัติตามหน้าที่คือทำเรื่องถอนหมายจับ หากไม่ทำก็จะมีความผิดตามมาตรา 157 ในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้” รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ทองหล่อ กล่าว

วันที่ 26 กรกฎาคม 2563 มีรายงานว่า นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.) มีคำสั่ง แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 7 คน ประกอบด้วย

  1. นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
  2. นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา
  3. นายชาติพงศ์ จีระพันธุ อธิบอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจ และทรัพยากร
  4. นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี
  5. นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา
  6. นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา เป็นเลขานุการคณะทำงาน
  7. นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษสำนักงานคดีอาญา 3 ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นคณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ คณะทำงาน

วันที่ 28 กรกฎาคม 2563 นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด หัวหน้าคณะทำงาน ได้เรียกประชุมคณะทำงาน ที่ห้องประชุมชั้น 9 สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อพิจารณาว่าการ “สั่งไม่ฟ้อง” คดีดังกล่าวเป็นไปตามหลักกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และมีเหตุผลการสั่งคดีดังกล่าวอย่างไร

การประชุมเริ่มต้นเมื่อเวลา 08.30 น. กระทั่ง 15.00 น. ก็ยังประชุมไม่เสร็จ เนื่องจากมีเอกสารที่จะต้องตรวจพิจารณาเป็นจำนวนมาก ที่ประชุมจึงมีมติให้เลื่อนการประชุมต่อในวันพุธที่ 29 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.00 น.

วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีคำสั่ง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน อันสืบเนื่องจากคดี บอส อยู่วิทยา จากคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี’55 จำนวน 10 คน ดังนี้

  1. ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการ
  2. ปลัดกระทรวงยุติธรรม กรรมการ
  3. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ
  4. ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย กรรมการ
  5. ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม กรรมการ
  6. นายกสภาทนายความ กรรมการ
  7. คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการ
  8. คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการ
  9. คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรรมการ
  10. ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. กรรมการและเลขานุการ

วันที่ 3 สิงหาคม 2563 นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เปิดเผยผลการประชุมนัดแรก ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานชุดต่าง ๆ เพื่อเรียกบุคคลและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีเพื่อตรวจสอบ รวมถึงการเปิดช่องทางเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

โดยคณะทำงานจะเริ่มงานได้ทันทีในวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบและข้อเท็จจริงฯ จะประชุมอีกครั้งในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 โดยจะหารือในประเด็นข้อกฎหมาย หลังจากที่ประชุมมอบหมายให้นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการกฤษฎีกา ไปศึกษาความเป็นไปได้ในการรื้อคดีดังกล่าว

นอกจากนี้ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงาน 5 ชุด ดังนี้

  • ชุดที่ 1 คณะทำงานตรวจสอบการทำงานของอัยการ
  • ชุดที่ 2 คณะทำงานตรวจสอบการทำงานของตำรวจ
  • ชุดที่ 3 คณะทำงานตรวจสอบบุคคลทั่วไปในแง่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพยาน ทนายความ และข้อมูลต่าง ๆ ของคดี และการตรวจสอบเส้นทางทางการเงิน
  • ชุดที่ 4 คณะทำงานตรวจสอบกฎหมาย
  • ชุดที่ 5 คณะทำงานรวบรวมเอกสาร ข้อมูลจากสื่อโซเชียล คลิปวbดีโอที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความคิดเห็นจากประชาชน อัยการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ

วันที่ 4 สิงหาคม 2563 นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงว่า คณะทำงานอัยการสูงสุดมีความเห็นให้แจ้งเจ้าหน้าที่สอบสวนให้เริ่มสอบสวนคดีขับรถเร็วใหม่ และยังมีความเห็นให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีในข้อหายาเสพติด หลังพบหลักฐานผลการตรวจเลือดว่าพบสารโคเคน ซึ่งถือเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โดยในส่วนนี้ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและยังไม่ขาดอายุความ

วันที่ 11 สิงหาคม 2563 แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุดเปิดเผยว่า นายเนตรได้ยื่นหนังสือลาออกจากราชการต่ออัยการสูงสุดเเล้ว เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในการสั่งสำนวนคดีนี้ และต้องการให้สังคมเกิดความสบายใจ ยืนยันว่าการสั่งคดีนี้ได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน และตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

วันที่ 22 กันยายน 2563 นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ให้สัมภาษณ์ว่า หนังสือลาออกของนายเนตร ยังไม่มีผล โดยหนังสือลาออกสามารถยับยั้งได้ 3 เดือน อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าจะตั้งสอบได้ทันก่อนครบกำหนด 3 เดือน

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 นายสิระ เจนจาคะ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรเชิญนายเนตร เข้าชี้แจง ซึ่งนายเนตรชี้แจงการสั่งไม่ฟ้องว่า เป็นการพิจารณาฟ้องตามสำนวนที่ส่งมา ซึ่งกว่าจะถึงตนก็เป็น 10 คนแล้ว ไม่มีการวิ่งเต้น เพื่อผลประโยชน์ต่อคดี นอกจากนี้ นายเนตรยังยินดีให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เช็กเส้นทางการเงิน ตามที่นายสิระสอบถามมา

วันที่ 4 กันยายน 2564 แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราถึงความคืบว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่มีนายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ กรรมการอัยการ (ก.อ.) ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธาน ได้สรุปสำนวนการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว

โดยเห็นว่า นายเนตรมีความผิดวินัยไม่ร้ายแรง เพราะไม่พบการทุจริต แต่เป็นความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการ ก.อ. วันศุกร์ที่ 10 กันยายน จะมีวาระการพิจารณาผลการสอบสวนดังกล่าว ถ้าคณะกรรมการ ก.อ.เห็นด้วยกับคณะกรรมการสอบสวน อาจพิจารณางดบำเหน็จหรือไม่เลื่อนขั้นเป็นระยะเวลา 2 ปี และไม่เสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอัยการอาวุโส ซึ่งหมายถึงต้องพ้นจากราชการก่อนอายุ 70 ปี ซึ่งก็เป็นความประสงค์ของนายเนตร ที่เคยยื่นหนังสือแสดงความจำนงก่อนหน้านี้

วันที่ 8 กันยายน 2564 นายพชร ยุติธรรมดำรง ประธาน .. เปิดเผยว่า ได้มีการเลื่อนประชุมพิจารณาผลสรุป จากวันที่ 10 กันยายน เป็นวันที่ 21 กันยายน เนื่องจากเอกสารสรุปผลสอบที่มีเป็นร้อยหน้า คณะกรรมการ ก.อ.บางคนยังไม่ได้รับ จึงไม่สามารถอ่านเอกสารได้ทัน ซึ่งตามหลักเเล้วต้องส่งก่อนล่วงหน้า 10 วัน รวมถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจ เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบเป็นธรรม

วันที่ 16 กันยายน 2564 แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายเนตรได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการ ต่อนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เป็นครั้งที่ 2 แต่ยังไม่มีการยืนยันว่า นายวงศ์สกุล ลงนามอนุมัติการลาออกให้นายเนตรแล้วหรือไม่