ศบค.ปรับมาตรการรับนักท่องเที่ยวจากแอฟริกาสกัดโอไมครอน

ศบค. ปรับมาตรการรับนักท่องเที่ยวจากแอฟริกา สกัดโอไมครอน
ภาพจากเว็บไซต์ ทำเนียบรัฐบาล

ศบค.เผยนักเดินทางจากประเทศแถบแอฟริกาใต้ ตั้งแต่ 1-27 พ.ย. เข้าไทยแล้ว 1,007 ราย ยันไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เปิดมาตรการป้องกันโควิดกลายพันธุ์โอไมครอน ศปก.สธ.ปรับมาตรการรับนักท่องเที่ยวจากแอฟริกา ตั้งแต่ 28 พ.ย.

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประจำวันว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ 4,753 ราย หายป่วยแล้ว 1,985,595 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,082,703 ราย เสียชีวิต 27 ราย หายป่วยกลับบ้าน 6,165 ราย หายป่วยสะสม 1,985,595 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) ผู้ป่วยกำลังรักษา 77,811 ราย

ข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 พบว่าหายป่วยแล้ว 2,013,021 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,111,566 ราย เสียชีวิตสะสม 20,734 ราย

ขณะที่จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ.-28 พ.ย. 2564) รวม 92,360,417 โดส ใน 77 จังหวัด ภาพรวมยอดฉีดวัคซีนวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ยอดฉีดทั่วประเทศ 235,121 โดส

เข็มที่ 1 : 115,534 ราย
เข็มที่ 2 : 89,759 ราย
เข็มที่ 3 : 29,828 ราย

จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 47,963,180 ราย
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 41,053,644 ราย
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 3,343,593 ราย

สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 261,756,353 ราย อาการรุนแรง 83,878 ราย รักษาหายแล้ว 236,381,226 ราย เสียชีวิต 5,216,989 ราย

ส่วนอันดับสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 49,099,590 ราย 2. อินเดีย จำนวน 34,578,749 ราย 3. บราซิล จำนวน 22,080,906 ราย 4. สหราชอาณาจักร จำนวน 10,146,915 ราย 5.รัสเซีย จำนวน 9,570,373 ราย และประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 24 จำนวน 2,111,566 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันนี้ อันดับ 1.ยังเป็นกรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวน 605 ราย นครศรีธรรมราช 381 ราย สงขลา 354 ราย สุราษฎร์ธานี 250 ราย เชียงใหม่ 186 ราย สมุทรปราการ 149 ราย ชลบุรี 147 ราย ภูเก็ต 133 ราย ปัตตานี 121 ราย และนครราชสีมา 110 ราย

ส่วนผู้เสียชีวิตจำนวน 27 รายในวันนี้ แบ่งเป็นชาย 14 ราย หญิง 13 ราย เป็นคนไทย 25 ราย รอตรวจสอบข้อมูล 2 ราย ค่ากลางอายุอยู่ที่ 73 ปี (29-91 ปี) ยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 22 ราย คิดเป็นสัดส่วน 81% อายุน้อยกว่า 60 ปี และมีโรคเรื้อรัง 5 ราย คิดเป็น 19%

จำแนกตามจังหวัดได้ดังนี้ กรุงเทพมหานคร 2 ราย นครปฐม 1 ราย ชัยภูมิ 1 ราย มุกดาหาร 1 ราย อุดรธานี 1 ราย แม่ฮ่องสอน 3 ราย เชียงใหม่ 1 ราย น่าน 1 ราย สุโขทัย 1 ราย ปัตตานี 2 ราย สุราษฎ์ธานี 2 ราย ตรัง 1 ราย ระยอง 2 ราย ราชบุรี 2 ราย ลพบุรี 2 ราย จันทบุรี 1 ราย ฉะเชิงเทรา 1 ราย สระแก้ว 1 ราย และสระบุรี 1 ราย

มาตรการควบคุมโอไมครอน (B.1.1.529)

จากสถานการณ์การกลายพันธ์ุของเชื้อไวรัสโควิด โอไมครอน ประเทศต่าง ๆ ได้ปรับมาตรการเข้าประเทศสำหรับผู้ที่เดินทางจากภูมิภาคแอฟริกาใต้

ออสเตรเลียห้ามชาวต่าชาติเดินทางมาจาก 9 ประเทศภูมิภาคแอฟริกาใต้ในช่วง 14 วันที่ผ่านมา ได้แก่ นามิเบีย ซิมบับเว บอตสวานา เลโซโท เอสวาตินี โมซัมบิก แอฟริกาใต้ มาลาวี และหมู่เกาะเซเชลส์

สหราชอาณาจักรห้ามไม่ให้ผู้ที่มาจากนามิเบีย ซิมบับเว บอตสวานา เลโซโท เอสวาตินี และแอฟริกาใต้ เดินทางเข้าประเทศ

สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งมีสมาชิก 27 ประเทศ ได้ระงับการเดินทางจาก 7 ประเทศ ได้แก่ นามิเบีย ซิมบับเว บอตสวานา เลโซโทเอสวาตินี โมซัมบิก และแอฟริกาใต้

สหรัฐอเมริกา ประกาศระงับเที่ยวบินจาก 8 ประเทศ ได้แก่ นามิเบีย ซิมบับเว บอตสวานา เลโซโท เอสวาตินี โมซัมบิก แอฟริกาใต้ และมาลาวี ตั้งแต่ 29 พฤศจิกายนเป็นต้นไป

แคนาดาห้ามชาวต่างชาติที่เพิ่งเดินทางมาจาก 7 ประเทศแอฟริกาในช่วง 14 วันที่ผ่านมา

อิสราเอลห้ามพลเมืองแอฟริกาใต้เข้าประเทศ และห้ามชาวอิสราเอลเดินทางไป 7 ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาใต้

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซาอุดีอาระเบีย และบาห์เรน จะเริ่มห้ามนักท่องเที่ยวจาก 7 ประเทศตั้งแต่ 29 พฤศจิกายน 2564

ญี่ปุ่นออกมาตรการจำกัดผู้ที่เดินทางจาก 6 ชาติในแอฟริกาใต้ และให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางมาจาก 6 ประเทศนี้ต้องกักตัวในสถานกักตัวของรัฐเป็นเวลา 10 วัน และตรวจหาเชื้อโควิด 3 ครั้งในเวลาดังกล่าว

อิหร่านและบราซิลห้ามนักเดินทางจาก 6 ประเทศ

สิงคโปร์เพิ่มรายชื่อ 7 ประเทศให้อยู่ในบัญชีแดง

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้จัดอันดับ B.1.1.529 เป็น Variants of Concerns (VOCs) เรียกว่า Omicron เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ตรวจพบเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ประเทศบอตสวานา 4 ราย พบ 74 รายในประเทศแอฟริกาใต้ พบ 2 รายเป็นผู้เดินทางเข้าฮ่องกง พบ 1 รายในอิสราเอล ยังไม่พบในประเทศไทย

สำหรับข้อมูลผู้เดินทางจากประเทศแถบแอฟริกาใต้เข้าราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 1-27 พฤศจิกายน 2564 ทั้ง 1,007 รายประกอบด้วย บอตสวานา 3 ราย นามิเบีย 16 ราย แองโกลา 22 ราย มาดากัสการ์ 7 ราย เมอริเชียส 27 ราย แซมเบีย 5 ราย เอสวาตินี 39 ราย เอธิโอเปีย 45 ราย โมซัมบิก 12 ราย มาลาวี 2 ราย แอฟริกาใต้ 826 ราย ซิมบับเว 3 ราย

ผ่านสายการบิน QR836 KL819 LX180 SQ708 TG921 ET644 ET608 EK387 EK384 ได้เข้ากักกันแบบ sandbox ผลตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด

ด้านมาตรการป้องกันควบคุมโรคสำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร จากทวีปแอฟริกาตั้งแต่ 28 พฤศจิกายน 2564 มีดังนี้

1.ผู้เดินทางที่มีประวัติพำนักหรือเดินทางไปยังประเทศในแอฟริกา 8 ประเทศ ในช่วง 21 วันก่อนเข้าราชอาณาจักรไทย ได้แก่ บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ ซิมบับเว ไม่อนุญาตให้เข้าโปรแกรม Test and Go

ผู้ที่เดินทางเข้าถึงไทยตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 3 ครั้งในวันที่ 0-1, 5-6 และ 12-13 ไม่อนุญาตให้เดินทางเข้าราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 (ยกเว้นผู้มีสัญชาติไทย) ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเข้าราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564

ผู้เดินทางที่เข้าโปรแกรมแซนด์บอกซ์ เดินทางถึงไทยตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน 2564 ให้ จพต.ติดตามคุมไว้สังเกตจนครบ 14 วัน และติดตามตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR วันที่ 6-14 ขึ้นกับจำนวนวันที่เข้าราชอาณาจักร

ผู้เดินทางเข้าโปรแกรมกักตัวในสถานกักกัน ถึงไทยตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 กรณียังกักตัวในสถานที่กักกัน ให้ จพต.สั่งกักตัวต่อจนครบ 14 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ในวันที่ 12-13 กรณีออกจากสถานที่กักกันแล้ว แต่ยังไม่ครบ 14 วัน ให้ จพต.ติดตามคุมไว้สังเกตจนครบ 14 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ในวันที่ 12-13

2. ผู้เดินทางที่มีประวัติพำนักหรือเดินทางไปยังประเทศในแอฟริกาในช่วง 21 วันก่อนเข้าราชอาณาจักรไทย (นอกเหนือจาก 8 ประเทศ) ไม่อนุญาตให้เข้าโปรแกม Test and Go

ผู้ที่เดินทางเข้าไทยตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2564 ให้เข้ากักตัวเป็นเวลา 14 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 3 ครั้ง วันที่ 0-1,5-6 และ 12-13

ผู้เดินทางที่เข้าโปรแกรมแซนด์บอกซ์ ถึงไทยตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน 2564-5 ธันวาคม 2564 ให้ จพต.ติดตามคุมไว้สังเกตจนครบ 14 วัน หรือตามจำนวนวันที่พำนัก กรณีน้อยกว่า 14 วัน กรณีมีอาการให้ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเข้าราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564

ผู้เดินทางผ่านโปรแกรมกักตัวในสถานกักกัน ถึงไทยตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564-5 ธันวาคม 2564 กรณีครบกำหนดกักตัวแล้วให้ จพต.ติดตามคุมสังเกตไว้จนครบ 14 วัน กรณีมีอาการให้ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR

นักท่องเที่ยวเข้าประเทศติดเชื้อ 0.13%

สำหรับผลดำเนินงานการรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานตั้งแต่วันที่ 1-28 พฤศจิกายน 2564 สะสมทั้งหมด 122,398 ราย ติดเชื้อใหม่ 11 ราย ทำให้การติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 160 ราย คิดเป็น 0.13% ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำ