ศบค.กทม.สั่งทุกหน่วยงานคุมเข้มโควิดโอไมครอน

โควิด กทม.

ศบค.กทม.กำชับทุกหน่วยงานระวังเข้มโควิดโอไมครอนในกรุงเทพฯ สุ่มตรวจ ติดตามผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างใกล้ชิด  

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มติชน รายงานว่า พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) ผ่านระบบทางไกล ว่า

ในที่ประชุมหน่วยงานได้รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 การฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยวันนี้ (30 พ.ย.) มีผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่ 740 คน เสียชีวิตเพิ่ม 6 คน ภาพรวมการติดเชื้อในลักษณะเป็นกลุ่มก้อน หรือคลัสเตอร์ (Cluster) หลายพื้นที่มีแนวโน้มลดลง

สำหรับการให้บริการวัคซีน ณ ศูนย์ฉีดกีฬาเวสน์ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น (ดินแดง) ระหว่างวันที่ 8-29 พฤศจิกายน 2564 ให้บริการวัคซีนไปแล้ว 17,583 โดส แบ่งเป็น ชาวไทย จำนวน 10,980 ราย และต่างด้าว 6,603 ราย สรุปผลการติดตามภายหลังเปิดกรุงเทพฯ เพื่อรับนักท่องเที่ยว

โดยเฉพาะ Test&Go มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยมาก โดยระหว่างวันที่ 1-29 พฤศจิกายน 2564 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา จำนวน 80,146 คน พบผู้ติดเชื้อ 57 คน และทุกคนได้เข้าสู่ระบบการรักษาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจากการสอบสวนโรคไม่พบว่าผู้ติดเชื้อได้แพร่เชื้อให้กับคนอื่น

รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้สรุปผลการตรวจสอบและกำกับสถานบริการ สถานประกอบการคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ตามมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 1,443 แห่ง พบว่า มีสถานบริการที่ได้มาตรฐาน SHA จำนวน 487 แห่ง ผ่านมาตรฐาน Thai Stop COVID 2 Plus จำนวน 368 แห่ง ในส่วนที่เหลือเจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำให้สถานประกอบการเข้ารับการประเมินเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งพบการแพร่ระบาดในกลุ่มประเทศแถบทวีปแอฟริกา และมีรายงานนักท่องเที่ยวเดินทางมาจากกลุ่มประเทศในทวีปดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1-27 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา จำนวน 1,007 ราย จึงมอบหมายให้สำนักอนามัย กทม.ร่วมกับสำนักงานเขตสุ่มตรวจและติดตามผู้ที่เดินทางเข้ามาอย่างใกล้ชิด รวมถึงผู้ที่พักอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในกลุ่มผู้ที่เดินทางเข้ามาก่อน

รวมทั้งกำกับติดตามการดำเนินการและประชาสัมพันธ์ ภายใต้หลัก VUCA อย่างเข้มแข็ง ได้แก่ ภาครัฐฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร ประชาชนใช้มาตรการ Universal Prevention ป้องกันตนเองสูงสุดกับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อลดการติดเชื้อ ลดการระบาด สถานบริการ/สถานที่ต่าง ๆ ใช้มาตรการ COVID-free Setting สร้างพื้นที่ปลอดภัยจากเชื้อโควิด และใช้ ATK ตรวจคัดกรองในชุมชน สถานที่เสี่ยง