พระบรมราชโองการ พระราชทานอภัยโทษ เนื่องในวันพ่อ 5 ธ.ค. 64

พระบรมราชโองการ

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2564 ให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี ปล่อยตัวผู้ต้องขังกว่า 2 หมื่นราย

วันที่ 5 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ พ.ศ. 2564 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่าในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติและวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2564 เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์

เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดีอันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 และมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 261 ทวิวรรคสองแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่9) พ.ศ.2517 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2564″ วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติและวันพ่อแห่งชาติ พ.ศ.2564”

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ทั้งนี้ มาตรา 4 ระบุว่า ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่ หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับติดต่อกันไปจนถึงวันที่ศาลออกหมายสั่งปล่อย หรือลดโทษ หรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปล่อย หรือลดโทษตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ผู้ทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับและผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ

สำหรับผู้ต้องโทษที่จะได้พระราชทานอภัยโทษ ปล่อยตัว ตามมาตรา 5 ได้แก่ (1) ผู้ต้องกักขัง (2) ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ มาตรา 7 ภายใต้บังคับมาตรา 9 มาตรา10 มาตรา 11 มาตรา 13 และมาตรา 14 นักโทษเด็ดขาด ดังต่อไปนี้ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (1) ผู้ต้องโทษจำ คุกไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดีซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

ทั้งนี้ หากนักโทษเด็ดขาดซึ่งมิได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปตามมาตรา 7 ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ตามสัดส่วน (1) ผู้ต้องโทษจำ คุกตลอดชีวิตให้เปลี่ยนเป็นกำหนดโทษ จำคุกห้าสิบปีแล้วให้ลดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร โดยให้นับโทษจำคุกนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษเว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่นให้นับโทษต่อจากคดีอื่นนั้น (2) ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ถึงตลอดชีวิตให้ลดโทษจากกำหนดโทษตามลำ ดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร

มาตรา 15 ภายใต้บังคับมาตรา 11 มาตรา 13 และมาตรา 14 นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจำมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษลงเป็นพิเศษอีก 1 ปี มาตรา 16 นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษประหารชีวิต ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษลงเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต

มาตรา 17 นักโทษเด็ดขาดซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวและนักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ และจะพ้นโทษในคราวเดียวกันตามพระราชกฤษฎีกานี้จะต้องผ่าน หรือเคยผ่านการอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตามที่กรมราชทัณฑ์ หรือกระทรวงกลาโหมกำหนด เว้นแต่โดยสภาพร่างกาย หรือจิตใจไม่เป็นปกติ จนไม่อาจรับการอบรมได้

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2564 จะมีผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ จำนวนประมาณ 20,000 ราย จากเรือนจำทั่วประเทศ ตามมาตรา 7 นอกจากนี้ ยังมีนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับสิทธิ เข้าหลักเกณฑ์ลดวันต้องโทษ ตามพระราชกฤษฎีกา ฉบับดังกล่าวอีกกว่า 200,000 ราย ทั้งนี้ มีรายงานว่า กรมราชทัณฑ์ได้เตรียมประชุมเตรียมความพร้อมรองรับผู้ต้องที่จะได้รับการปล่อยตัวพ้นเรือนจำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขังเด็ดขาด ที่ควบคุมอยู่ 224,674 ราย จากผู้ต้องขังทั้งหมด 282,620 ราย จากข้อมูลกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2564