หมอธีระวัฒน์เผย 4 ตัวแปร ประเมินความรุนแรงโควิดโอไมครอน

หมอธีระวัฒน์ ภูมิคุ้มกันหมู่
ภาพจากเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha

หมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เผย 4 ตัวแปร มีผลต่อการประเมินความเสี่ยง-รุนแรง ของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน

วันที่ 21 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงตัวแปรของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งมีความหลากหลายในการประเมินความเสี่ยงและความรุนแรงของสายพันธุ์ดังกล่าว ดังนี้

1. อาจจะขึ้นอยู่กับลักษณะของภูมิที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อธรรมชาติหรือจากวัคซีน (ซึ่งทั้งหมดป้องกันการติดโอไมครอนได้ไม่ดี แต่ช่วยลดอาการ) ในแอฟริกาใต้เป็นสี่ระลอก และภูมิส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ โดยลักษณะของไวรัสน่าจะไม่เหมือนกับในอังกฤษ โดยที่อังกฤษยังมีเดลต้าและโอไมครอน

ในขณะที่แอฟริกาใต้เป็นโอไมครอน แต่ความรุนแรง จนกระทั่งถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ทั้ง 2 ประเทศคล้ายกัน แอฟริกาใต้ยังคงไม่รุนแรง อังกฤษ ติด 91,743 ต่อวัน (584,688 ใน 7วัน เพิ่มขึ้น 221,006 เทียบกับ 7 วันก่อนหน้านี้) ตาย 44 (786 ใน 7 วัน ลดลง 45 รายเทียบกับ 7 วันก่อนหน้านี้) โอไมครอน 129 ราย ตาย 14

2. ประเทศไทยเป็นสามระลอกเช่นเดียวกัน และรอบสี่จะเป็นโอไมครอน แต่ทั้งนี้รอบสามของเดลต้าอ่อนกำลังลงมากขณะนี้ ตัวแปรอยู่ที่เดลต้าในประเทศไทยจะกลับรุนแรงขึ้นมาใหม่หรือไม่ และจะระบาดกับโอไมครอน ที่ติดง่ายแต่รุนแรงน้อยในขณะที่เดลต้าติดยากกว่าบ้างแต่จะแรงเหมือนเดิมหรือไม่ และทั่งสองจะกลายเป็นไฮบริดหรือไม่

3. แต่ไม่ว่าความรุนแรงของโอไมครอน จะน้อยกว่าเดลต้าก็ตามยังมีปัญหาในคนเปราะบางที่อาจจะมีความรุนแรงสูงและเข้ามาครองเตียงในโรงพยาบาลและถ้ามีการแพร่ในโรงพยาบาลจะทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นแบบเดิมกับที่เจอในเดลต้า

4. โอไมครอนถึงแม้อาการอาจไม่รุนแรง แต่จะเกิดอาการแทรกซ้อนระยะยาวที่เรียกว่า long covid ได้หรือไม่
ซึ่งเป็นกลุ่มอาการทางสมองจิตอารมณ์กล้ามเนื้อและระบบประสาทอัตโนมัติรวมทั้งหัวใจแบบเดียวกับที่มีปัญหาทั่วโลกอยู่ในขณะนี้