เปิด 4 คลัสเตอร์ติดโอไมครอนในไทย ศบค.พบพื้นที่ กทม. ระบาดมากสุด

แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์

ศบค.เปิดรายละเอียดยิบ 4 คลัสเตอร์ติดเชื้อ “โอไมครอน” ในไทย เชื่อมโยงหลายจังหวัด ชี้สถานการณ์น่าห่วง ทั่วโลกระบาดแล้ว 89 ประเทศ ในประเทศพื้นที่ กทม. ระบาดแล้ว 18.3% มากสุดเมื่อเทียบกับภาพรวมทั้งประเทศ  ระบุชัด 1 ใน  4 โยงผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ไม่ใช่แค่แอฟริกา แต่มาจากทั่วโลก เตรียมชง ศบค.ชุดใหญ่ยกระดับป้องกัน

วันที่ 20 ธันวาคม 2564 แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูลล่าสุด วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม 2564 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 275,009,265 ราย อาการรุนแรง 88,730 ราย รักษาหายแล้ว 246,675,272 ราย และเสียชีวิต 5,370,270 ราย

ส่วนอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 51,765,714 ราย 2. อินเดีย จำนวน 34,742,636 ราย 3. บราซิล จำนวน 22,213,762 ราย 4. สหราชอาณาจักร จำนวน 11,361,387 ราย 5. รัสเซีย จำนวน 10,214,790 ราย

โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก จากจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,194,053 ราย

สถานการณ์ระบาดทั่วโลกน่าห่วง

“สถานการณ์ในต่างประเทศการติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี จะเห็นได้ว่าที่สหราชอาณาจักรช่วงนี้จะมีผู้ติดเชื้อ 8-9 หมื่นรายต่อวัน ฝรั่งเศส 5-6 หมื่นรายต่อวัน และที่เยอรมนีก็ยังมีรายงานอย่างต่อเนื่อง

“แม้ว่าช่วงนี้จะลดลงมาอยู่ที่ 2 หมื่นกว่าราย แต่ก็ยังมีรายงานมากกว่าหลักหมื่นรายทุกวัน ส่วนประเทศที่มีรายงานผู้เสียชีวิตสูงสุดยังเป็นรัสเซีย โดยล่าสุดวันนี้ผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 1,023 ราย” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

โอไมครอนระบาดแล้ว 89 ประเทศ

ขณะที่ สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศเพื่อนบ้านของเรา เวียดนามพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16,110 ราย มาเลเซีย 3,108 ราย เมียนมา 152 ราย และ สิงโปร์ 255 ราย

ภาพรวมการติดเชื้อทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตยังลดลงอย่างช้าๆ โดยอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1.95% และองค์การอนามัยโลกออกมาเปิดเผยว่าเชื้อโอไมครอนมีการระบาดเร็วมากขึ้น หรือระบาดเพิ่ม 2 เท่าใน 3 วัน และพบการระบาดไปแล้ว 89 ประเทศ สหรัฐฯ มีการระบาดไปแล้ว 36 รัฐ

ขณะที่เนเธอร์แลนด์ประกาศล็อกดาวน์ช่วงเทศกาลคริสต์มาส-ปีใหม่ และขอให้ประชาชนอยู่ในบ้านมากขึ้น รวมทั้งมีการปิดสถานประกอบการที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เช่น บาร์ ร้านตัดผม โรงภาพยนตร์ ซึ่งจะปิดให้บริการจนถึงวันที่ 14 มกราคม 2565

ส่วนที่ฝรั่งเศสงดรับผู้ที่เดินทางมาจากสหราชอาณาจักรไม่ให้เข้าประเทศ

ธ.ค.มีผู้เดินทางเข้ามาแล้ว 1.6 แสนราย

สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยจะเห็นว่า ผู้ที่เดินทางเข้ามา เฉพาะ 20 วันของเดือนธันวาคม มีผู้เดินทางเข้ามา 160,445 คน ซึ่งมากกว่าคนที่เดินทางเข้าประเทศทั้งเดือนในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่มีจำนวน 133,061 คน

ถ้าดูผู้ติดเชื้อจำแนกตามประเภทจะเห็นว่า ภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเดือนพฤศจิกายนมีผู้ติดเชื้อ 171 ราย หรือคิดเป็น 0.13% แต่ช่วงนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.22% และเป็นระบบ Test and Go ที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด

ทิศทาง แนวโน้มมีทิศทางสูงขึ้นชัดเจน โดยวันที่มีการติดเชื้อและมีจำนวนสูงสุดของผู้ติดเชื้อที่เข้ามาในประเทศ คือวันที่ 18 ธันวาคม 2564 จำนวน 37 ราย

ส่วนผู้ติดเชื้อแบบกักตัวก็จะรองลงมา โดยมีรายงาน 11 รายในวันที่ 11 ธันวาคม 2564 และวันที่ 19 ธันวาคม 2564 ส่วนระบบแซนด์บ็อกซ์มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 7 ราย ในวันที่ 18 ธันวาคม 2564

ด้านการรับนักท่องเที่ยวในวันนี้จากทุกช่องทางผ่านท่าอากาศยานเข้ามาจำนวน 13,664 ราย มีผู้ติดเชื้อ 42 ราย ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่เยอะ รองจากวานนี้ที่มีจำนวน 49 ราย และในวันนี้จากผู้ติดเชื้อ 42 ราย ผ่านมาทางระบบ Test and Go 24 ราย คิดเป็น 0.15% รองลงมาเป็นแบบกักตัว 11 ราย และแซนด์บ็อกซ์ 7 ราย

สำหรับประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดมาจากสหราชอาณาจักร คิดเป็น 0.54% จากสหรัฐอเมริกา 0.51% และจากรัสเซีย 0.41% (ตามตาราง)

ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศวันนี้ 42 ราย มาจากบรูไน 1 ราย สหราชอาณาจักร 9 ราย สหรัฐฯ 6 ราย ยูเครน 1 ราย ออสเตรเลีย 2 ราย เนเธอร์แลนด์ 1 ราย รัสเซีย 4 ราย กัมพูชา 2 ราย ฟินแลนด์ 1 ราย แอลบาเนีย 2 ราย เยอรมนี 2 ราย

นอกจากนี้ยังมีมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 4 ราย ฝรั่งเศส 1 ราย สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย เอธิโอเปีย 1 ราย เดนมาร์ก 1 ราย นอร์เวย์ 3 ราย

“จะเห็นได้ว่าใน 42 รายที่พบว่ามีการติดเชื้อ ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ซึ่งระบบการตรวจคัดกรองด้วยระบบ RT-PCR มีความจำเป็นมาก” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

แจง 4 คลัสเตอร์ติดโอไมครอน

แพทย์หญิงสุมนีแจกแจงรายละเอียด สำหรับผู้ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศไทยว่า กลุ่มแรกเป็นรายงานมาจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี โดยคลัสเตอร์นี้มีความเชื่อมโยงกับหลายจังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี อยุธยา นครราชสีมา รวมถึงกรุงเทพมหานคร

เป็นกลุ่มที่ไปประกอบพิธีทางศาสนาในประเทศตะวันออกกลาง ช่วงต้นเดือนธันวาคม จำนวน 31 ราย โดยกลับมาประเทศไทยในวันที่ 15 ธันวาคม 2564 และเข้าพักโรงแรมแห่งหนึ่งเพื่อตรวจ ผลตรวจพบเชื้อ 14 ราย

จากนั้นเมื่อไปถอดรหัสพันธุกรรม พบเป็นสายพันธุ์โอไมครอน 6 ราย เป็นเดลต้า 8 ราย หลังจากมาถึงแล้วก็ได้มีการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และตรวจพบเพิ่มอีก 2 ราย ในวันที่ 19 ธันวาคม 2564 และวันที่ 20 ธันวาคม ตรวจพบเจอเพิ่มอีก 2 ราย (รพ.อยุธยา) เพราะฉะนั้นในคลัสเตอร์นี้มี 18 ราย และยังรอยืนยันการตรวจสายพันธุ์อีก 4 คน

กลุ่มที่ 2 คู่สามีภรรยา ที่มาจากประเทศไนจีเรีย เข้ามาในไทยเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันก่อนประกาศประเทศกลุ่มเสี่ยงในทวีปแอฟริกา โดยคู่สามีภรรยานี้เข้ามาในระบบแซนด์บ็อกซ์

กระทั่งในวันที่ 4 ธันวาคม สามีซึ่งเป็นชาวต่างชาติเริ่มมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอและอ่อนเพลีย เมื่อไปตรวจ ATK พบผลการตรวจเป็นลบ แต่ในวันที่ 7 ธันวาคม ยังมีอาการอยู่ ภรรยาเลยพาไปตรวจที่ รพ.แบบ PCR พบผลการตรวจเป็นบวก และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม ภรรยาก็ไปตรวจที่รพ. ผลตรวจเป็นบวกเช่นกัน สรุปทั้ง 2 ราย เป็นสายพันธุ์โอไมครอน และเข้ารับการรักษาแล้ว และยังมีการสอบสวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีก 1 ราย แต่ผลตรวจยังเป็นลบ และอยู่ระหว่างการกักตัว

นอกจากนี้ ยังมีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำอีก 89 ราย ซึ่งทั้งหมด ไม่มีอาการใดๆ และอยู่ในระหว่างการกักตัว และติดตามอาการเช่นกัน

รายแรกพบติดเชื้อโอไมครอนในประเทศ

“ถือได้ว่าผู้หญิงที่เป็นภรรยา และมีสามีเป็นชาวต่างชาติถือเป็นรายแรกของผู้ที่ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศไทย” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

ส่วนคลัสเตอร์ที่รายงานจากนราธิวาส (กลุ่มที่ 3) มีผู้ป่วย 3 รายที่ตรวจ PCR เป็นบวก ซึ่งมาจากการไปประกอบพิธีทางศาสนาในประเทศตะวันออกกลาง มีผู้ร่วมเดินทาง 133 คน มีผู้ติดเชื้อ 3 ราย อยู่ในจ.ปัตตานีและนราธิวาส มีผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง 4 ราย เสี่ยงต่ำ 126 ราย ระหว่างติดตามอาการจนครบ 14 วัน ผลตรวจ RT-PCR ครั้งแรกเป็นลบทุกคน

ส่วนผู้ติดเชื้อ 3 คน พบเป็นสายพันธุ์โอไมครอน 1 คน และสายพันธุ์เดลต้า 2 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างการรักษาตัว

สำหรับกลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มที่มีการรายงานจากสำนักงานควบคุมโรคเขต 11 มาที่สนามบินสมุยและภูเก็ตจำนวน 7 ราย ทั้ง 7 ราย เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและคนไทย เข้ามาที่สนามบินภูเก็ตวันที่ 13 ธันวาคม 4 ราย เข้ามาที่สนามบินสมุยวันที่ 15 และ 16 ธันวาคมอีก 3 ราย โดยทั้ง 7 รายพบผลตรวจ PCR ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา

เมื่อผลเป็นบวกก็ได้แยกกลับไปรักษาตัวพร้อมตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสายพันธุ์ ก็พบว่าทั้ง 7 ราย เป็นสายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) ขณะนี้สำนักงานควบคุมโรคเขต 11 ได้มีการสอบสวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ โดย ศบค.จะมารายงานให้ทราบต่อไป

พื้นที่ กทม. พบสายพันธุ์โอไมครอน 18.3%

“โดยสรุปสถานการณ์การติดเชื้อโอไมครอนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพรวมทั้งประเทศเป็นสายพันธุ์เดลต้าเป็นส่วนใหญ่หรือคิดเป็น 96.61% สายพันธุ์โอไมครอน 3.26% แต่ถ้ามาแยกย่อยเฉพาะกรุงเทพมหานคร จะเห็นว่าสายพันธุ์เดลต้าอยู่ที่ 81.1% ส่วนสายพันธุ์โอไมครอนอยู่ที่ 18.3% ขณะที่ในภูมิภาคการระบาดของโอไมครอนอยู่ที่ 1.3%” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว และว่า

การคาดการณ์การระบาดถ้าคนในประเทศไม่มีภูมิคุ้มกันเลย ถ้าติดเดลต้า 1 คน สามารถแพร่เชื้อได้อีก 6.5 คน แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์โอไมครอน 1 คน จะสามารถแพร่ไปได้ 8.45 คน จะเห็นว่าสายพันธุ์โอไมครอนระบาดได้เร็วกว่าเดลต้า

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลประเทศในทวีปแอฟริกาจะพบว่า คนที่ติดเชื้อโอไมครอน อัตราการป่วยหนักและนอนโรงพยาบาลยังไม่ได้มากกว่าคนที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า และองค์การอนามัยโลกได้ออกมาระบุว่าวัคซีนกระตุ้นจะสามารถช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโอไมครอนได้มากขึ้น

“โดยสรุปสถานการณ์โอไมครอนในประเทศไทยในขณะนี้ เป็นสถานการณ์คล้ายกับสถานการณ์โลก มีคนติดเชื้อโอไมครอนจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลกที่มีสายพันธุ์โอไมครอนเพิ่มขึ้นเช่นกัน และทุกรายที่ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศไทยยังผูกโยงกับการเดินทางมาจากต่างประเทศ โดยใน 1 ส่วน 4 ของคนที่มาจากต่างประเทศเป็นเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน และไม่เฉพาะแต่ประเทศในทวีปแอฟริกาเท่านั้น แต่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาจากหลายประเทศทั่วโลก” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

เพราะฉะนั้นการยกระดับในการจัดการกับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาจะต้องมีการปรับอย่างแน่นอน ซึ่งจะมีการพิจารณาในศบค.ชุดเล็กและเสนอต่อศบค.ชุดใหญ่ต่อไป