พบโอไมครอนในไทยแล้ว 60 กว่าราย สธ.ยกระดับมาตรการอะไรบ้าง

ไทยติดเชื้อโอไมครอนแล้ว 60 กว่าราย สธ.ยกระดับมาตรการอะไรแล้วบ้าง
ภาพจาก pixabay

ย้อนไทม์ไลน์ กระทรวงสาธารณสุขยกระดับมาตรการอะไรแล้วบ้าง หลังไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนแล้วกว่า 60 ราย และล่าสุดพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนรายแรกในประเทศแล้ว 

วันที่ 20 ธันวาคม 2564 กรณี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ผ่าน รายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ถึงแนวทางการรับมือโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน เนื่องจากสถานการณ์โอไมครอนรุนแรงมากขึ้น

โดยขณะนี้ ไทยพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนแล้ว 63 ราย กำลังยืนยันผลอีก 20 ราย และล่าสุด พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศแล้ว 1 ราย

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมประวัติการยกระดับมาตรการสกัดโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่ทางการไทยประกาศออกมาตั้งแต่องค์การอนามัยโลกประกาศพบไวรัสสายพันธุ์นี้จนถึงปัจจุบัน (20 ธ.ค.) ดังนี้

ห้ามนักท่องเที่ยว 8 ประเทศเสี่ยงจากแอฟริกาเข้าไทย

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 กระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้ติดตามการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิดและได้วางมาตรการเรื่องผู้เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา คือ ไม่อนุญาตให้ผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยง 8 ประเทศในทวีปแอฟริกา เข้าประเทศไทยเริ่มตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. เป็นต้นไป โดยรายชื่อประเทศมีดังนี้

  1. สาธารณรัฐบอตสวานา
  2. ราชอาณาจักรเอสวาตินี
  3. ราชอาณาจักรเลโซโท
  4. สาธารณรัฐมาลาวี
  5. สาธารณรัฐโมซัมบิก
  6. สาธารณรัฐนามิเบีย
  7. สาธารณรัฐแอฟริกาใต้
  8. สาธารณรัฐซิมบับเว

ส่วนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางก่อนหน้านี้ จะให้กักตัว 14 วันทุกราย ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกห้องพัก และตรวจห้องปฏิบัติการ 3 ครั้ง คือ วันที่ 30 พ.ย.-1 ธ.ค. , 5-6 ธ.ค. และ 12-13 ธ.ค. หากไม่พบเชื้อจึงอนุญาตให้ออกมาได้

ศบค.ปรับมาตรการรับนักท่องเที่ยว

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีมาตรการป้องกันควบคุมโรคสำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร จากทวีปแอฟริกาโดยมีผลตั้งแต่ 28 พฤศจิกายน 2564 ดังนี้

1.ผู้เดินทางที่มีประวัติพำนักหรือเดินทางไปยังประเทศในแอฟริกา 8 ประเทศ ในช่วง 21 วันก่อนเข้าราชอาณาจักรไทย ได้แก่ บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ ซิมบับเว ไม่อนุญาตให้เข้าโปรแกรม Test and Go

ผู้ที่เดินทางเข้าถึงไทยตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 3 ครั้งในวันที่ 0-1, 5-6 และ 12-13 ไม่อนุญาตให้เดินทางเข้าราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 (ยกเว้นผู้มีสัญชาติไทย) ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเข้าราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564

ผู้เดินทางที่เข้าโปรแกรมแซนด์บอกซ์ เดินทางถึงไทยตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน 2564 ให้ จพต.ติดตามคุมไว้สังเกตจนครบ 14 วัน และติดตามตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR วันที่ 6-14 ขึ้นกับจำนวนวันที่เข้าราชอาณาจักร

ผู้เดินทางเข้าโปรแกรมกักตัวในสถานกักกัน ถึงไทยตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 กรณียังกักตัวในสถานที่กักกัน ให้ จพต.สั่งกักตัวต่อจนครบ 14 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ในวันที่ 12-13 กรณีออกจากสถานที่กักกันแล้ว แต่ยังไม่ครบ 14 วัน ให้ จพต.ติดตามคุมไว้สังเกตจนครบ 14 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ในวันที่ 12-13

2. ผู้เดินทางที่มีประวัติพำนักหรือเดินทางไปยังประเทศในแอฟริกาในช่วง 21 วันก่อนเข้าราชอาณาจักรไทย (นอกเหนือจาก 8 ประเทศ) ไม่อนุญาตให้เข้าโปรแกม Test and Go

ผู้ที่เดินทางเข้าไทยตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2564 ให้เข้ากักตัวเป็นเวลา 14 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 3 ครั้ง วันที่ 0-1, 5-6 และ 12-13

ผู้เดินทางที่เข้าโปรแกรมแซนด์บอกซ์ ถึงไทยตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน 2564-5 ธันวาคม 2564 ให้ จพต.ติดตามคุมไว้สังเกตจนครบ 14 วัน หรือตามจำนวนวันที่พำนัก กรณีน้อยกว่า 14 วัน กรณีมีอาการให้ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเข้าราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564

ผู้เดินทางผ่านโปรแกรมกักตัวในสถานกักกัน ถึงไทยตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564-5 ธันวาคม 2564 กรณีครบกำหนดกักตัวแล้วให้ จพต.ติดตามคุมสังเกตไว้จนครบ 14 วัน กรณีมีอาการให้ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR

เงินกู้เพียงพอรับมือโอไมครอน

วันที่ 2 ธันวาคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลพยายามสร้างสมดุลทั้งการป้องกันการแพร่ระบาดและมาตรการด้านเศรษฐกิจควบคู่กัน ซึ่งจากตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศก็ถือว่าดีขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ดี หากกรณีมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้น ก็มีงบประมาณในการดูแลบรรเทาผลกระทบ โดยยังมีเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฉบับเพิ่มเติม เหลืออีก 2.5 แสนล้าน ซึ่งสามารถโยกเงินใน พ.ร.ก.กู้เงินฉบับนี้ ใช้แก้ปัญหาได้ในกรณีมีความจำเป็นด้านอื่น ๆ

สำหรับแรงขับเคลื่อนภายใต้การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่นั้น ในปี 2565 ยังมีเม็ดเงินจากงบประมาณของภาครัฐอีก 3.1 ล้านล้านบาท โดยเป็นงบฯลงทุนของหน่วยงานรัฐ 6 แสนล้านบาท งบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีก 3 แสนล้านบาท

ซึ่งงบฯลงทุนทั้ง 2 ส่วนนี้ได้เร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายให้ได้ตามแผน ก็จะมีเม็ดเงินที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแน่นอน ขณะเดียวกันยังมีงบฯจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 ที่ยังเหลืออยู่ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งก็จะทยอยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

ยกระดับตรวจ RT-PCR ไม่ล็อกดาวน์

หลังจากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทยรายแรกเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่ผ่านมา ต่อมาในวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงการรับมือโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน เผยว่า มีการปรับจากเดิมที่ใช้ระบบ Test and Go แค่ ATK ให้เกิดความสะดวก ก็ปรับให้ตรวจแบบ RT-PCR ทั้งหมด กักตัวจนกว่าจะทราบผล ใช้เวลาประมาณ 1 วัน และฉีดวัคซีนครบโดส

“สิ่งที่อยากจะเตือนคือ สถานให้บริการต้องให้ความสำคัญ เจ้าหน้าที่ให้บริการจะต้องฉีดวัคซีน 2 เข็ม สถานที่ก็ต้องมีช่องว่าง การจัดโต๊ะ จัดเก้าอี้ ก่อนเข้ามีการตรวจอุณหภูมิ ถ้าไม่ทำแล้วเกิดการระบาดอีก ไม่ได้นะ รัฐบาลก็มีมาตรการตรงนี้ ผมสั่งให้ตรวจสอบทุกสถานที่ที่เป็นร้านอาหาร โดยเฉพาะที่เป็นศูนย์การค้าต่าง ๆ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ได้รับรายงานว่าบางพื้นที่ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐาน ขอให้คนที่เข้าไปบริโภคระมัดระวังตัวเองด้วย ถ้าเขาไม่มีมาตรการ COVID Free Setting อย่าไปใช้บริการเขาเท่านั้นเอง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ในขณะที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมว่า นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงประชาชน ในเรื่องโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน แต่อย่าให้ตระหนก การพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศไทย ขอให้มั่นใจไทยมีความพร้อมเรื่องสถานพยาบาล ระบบเฝ้าระวัง คัดกรอง ตรวจสอบ และที่สำคัญมีวัคซีนป้องกันการบาดเจ็บรุนแรง รวมทั้งการเสียชีวิตในอนาคต

ไวรัสโควิด-19 ยังสามารถกลายพันธุ์ได้อีกเพิ่มเติม นายกฯขอขอบคุณไปยังคณะแพทย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพี่น้องคนไทย ที่ทำให้สถิติการติดเชื้อโควิด-19 ที่วันนี้ต่ำกว่าสี่พันราย นายกฯย้ำว่ายังไม่มีการล็อกดาวน์

ปรับมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักร

วันที่ 13 ธันวาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ ศบค.ครั้งที่ 20/2564 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

หนึ่งในระเบียบวาระการประชุมที่สำคัญ ได้แก่ การปรับมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักร มีผล 16 ธันวาคม 2564 โดยมีประเด็น ดังนี้

1. การเดินทางจากสนามบินไปที่พัก สำหรับ Test and Go
2. พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว

  • มาตรการเข้าออกพื้นที่ของนักท่องเที่ยวในประเทศ

3. ผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง (HRC)
4. ผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร เป็นผู้ติดเชื้อ ประเมินโดยแพทย์แล้วพบว่า ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย

ปรับมาตรการ ดังนี้

การเดินทางไม่เกิน 5 ชั่วโมง เข้าพำนักในจังหวัดที่ทางราชการกำหนด เดินทางแบบ Seal Route กรณีแวะพักกำหนดจุดพักให้ชัดเจนไม่ปะปนผู้อื่น พื้นที่ที่ไม่เป็นเกาะ ควบคุมยาก ควรปรับมาตรการโดยเพิ่มความเข้มข้นมาตรการ COVID Free Setting เน้นสถานที่เสี่ยง ได้แก่ ร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า

กักตัวในโรงแรมหรือที่พักเดิมหรือจองไว้แล้ว และผู้ประกอบการยินยอม

  • สามารถทำกิจกรรมที่ไม่ปะปนกับบุคคลอื่นในโรงแรมได้
  • กักตัว 14 วัน กรณีเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดในกลุ่มที่มาด้วยกัน หรือครอบครัวเดียวกัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 3 ครั้ง วันที่ 0, 5-7 และ 12-13
  • กักตัว 10 วัน กรณีเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงที่นั่งติดกับผู้ติดเชื้อบนเครื่องบิน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง วันที่ 0, 5-7

กรณีผู้ติดเชื้อไม่มีอาการเข้าพักในโรงแรมที่เป็น Hotel Isolation อย่างน้อย 10 วัน โดยการพิจารณาของแพทย์ และเจ้าพนักงานโรคติดต่อของจังหวัดร่วมกัน

หมอพร้อม อัพเดตระบบ ฉีดวัคซีนเข็ม 3

วันที่ 19 ธันวาคม 2564 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชนที่ฉีดครบ 2 เข็ม ตามช่วงระยะเวลาที่กำหนด

โดยล่าสุด ผู้ที่ฉีดวัคซีนทั้งสูตรเดี่ยวและสูตรไขว้ครบ 2 เข็ม ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2564 สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในเดือนธันวาคมนี้ และผู้ที่ฉีดครบช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 สามารถเข้ารับเข็มกระตุ้นได้ช่วงเดือนมกราคม 2565

ส่วนการนัดหมายฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม “หมอพร้อม” เพื่อแจ้งเตือนและนัดหมายประชาชน เนื่องจากมีฐานข้อมูลของผู้รับวัคซีนในระบบอยู่แล้ว รวมถึงให้โรงพยาบาลทุกแห่งใช้ข้อมูลในระบบหมอพร้อมในการนัดหมายและประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ขณะเดียวกันหากมีผู้วอล์กอินมาถึงโรงพยาบาลแล้ว ให้โรงพยาบาลดำเนินการฉีดวัคซีนให้ได้เลย ไม่ต้องนัดหมายมาใหม่

สธ.สั่งทุกจังหวัดรับมือโอไมครอนระลอกใหม่

ล่าสุด วันที่ 20 ธันวาคม 2564 รายงานข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการสั่งการในเบื้องต้นไปยังสาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ เตรียมรับมือกับการระบาดของโควิดระลอกใหม่ เนื่องจากขณะนี้มีการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นจากโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในหลายประเทศ และเพื่อเป็นการรองรับการระบาดในประเทศ จึงได้ยกระดับ 3 มาตรการป้องกันโควิด ดังนี้

1.กำชับมาตรการ COVID free setting ในพื้นที่ต่าง ๆ และการอนุญาตให้จัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะช่วงนี้จนถึงปีใหม่ ต้องเคร่งครัดในมาตรการอย่างมากครับ หากไม่ปฏิบัติตามต้องยกเลิก

2.เร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ตามข้อแนะนำและค้นหาคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโดยเฉพาะกลุ่ม 608 โดยการเพิ่มจุดฉีดและวางแผนการฉีดในกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเข็ม 1 และ เข็ม 3 ส่วนเข็ม 4 ในบุคลากรทางการแพทย์ รอข้อมูลข้อแนะนำทางวิชาการที่จะแจ้งโดยเร็ว และในช่วงนี้ ขอให้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัด sandbox ให้มีจุดฉีดวัคซีนและการตรวจ ATK ในจุดสถานีขนส่งหรือสถานีรถไฟ สนามบิน ในทุกพื้นที่ครับ เพื่อการคัดกรองเฝ้าระวัง

3.การเตรียมการรองรับการติดเชื้อหากมีเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนโฮมไอโซเลชั่นหรือการกักตัวที่บ้าน (HI), คอมมิวนิตี้ไอโซเลชั่นหรือการกักตัวในชุมชน (CI), สถานที่กักตัวทางเลือก (ASQ) และการเพิ่มเตียงในส่วนของ รพ. ซึ่งขออนุญาตแจ้งทุกจังหวัดดำเนินการด่วน

จ่อยกเลิก Test and GO

ต่อมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ผ่าน รายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ถึงแนวทางการรับมือโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ว่า ได้ให้นโยบายกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขแล้วว่า คงให้มีการกลับมาใช้ State Quarantine หรือ การกักกันผู้เดินทางทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติเข้ามาภายในประเทศ

โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเสนอ ศบค. ให้ยกเลิกการเดินทางเข้าประเทศแบบ Test & Go (T&G) แล้วกลับไปใช้วิธีการกักตัว ซึ่งจะมีการหารือในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากสถานการณ์โอไมครอนรุนแรงมากขึ้น และหลายประเทศได้ยกเลิกจัดเทศกาลปีใหม่แล้ว จึงจำเป็นต้องเร่งใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อยกระดับการรับมือภายในประเทศ

ส่วนจะมีการยกระดับการป้องกันอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า การควบคุมโรคได้มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น/จังหวัดแล้ว อยู่ที่นโยบายของแต่ละพื้นที่ อย่างกรุงเทพมหานคร ก็อาจต้องพิจารณาเรื่องการจัดกิจกรรมรวมตัวในช่วงเทศกาล หากเห็นว่ามีแนวโน้มเสี่ยงแพร่เชื้อ