สธ.พบโอไมครอน 63 ราย ชงยกเลิก Test and Go สกัดคลัสเตอร์ประเทศ

โควิด โอไมครอน
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

สธ.เผย โอไมครอนแพร่เร็ว พบ 1 ใน 4 เดินทางมาในรูปแบบ Test and Go รวมทั้งสิ้น 63 ราย วอนฝ่ายนโยบายพิจารณายกเลิก Test and Go หวั่นเกิดคลัสเตอร์ระบาดในประเทศ ขณะที่ข้อมูลต่างประเทศระบุพบโอไมครอน 3 สายพันธุ์ย่อย ชี้บูสเตอร์โดสวัคซีนช่วยป้องกันติดเชื้อได้ 75.5%

วันที่ 20 ธันวาคม 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้ระบาดและกระจายไปใน 89 ประเทศทั่วโลก และขณะนี้ยังพบสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนอีก 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ BA.1 จำนวนกว่า 6,000 ราย, BA.2 จำนวน 18 ราย และ BA.3 จำนวน 5 ราย

แม้โอไมครอนจะมีสายพันธุ์ย่อย แต่ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังสามารถตรวจหาเชื้อโควิดเจอ เนื่องจากมีการตรวจหาเชื้อครอบคลุมถึง 5 ตำแหน่ง ได้แก่ HV69-70, L452R, K417N, T478K และ N501Y ทำให้ไม่มีเคสหลุด หรือหาเชื้อไม่เจออย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ข้อมูลโอไมครอนจากต่างประเทศสำหรับอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อพบว่า หากทำการเปรียบเทียบในประชาชนกลุ่ม R0 หรือผู้ไม่มีภูมิคุ้มกันเลย สามารถแพร่เชื้อได้เร็วถึง 8.54

ขณะที่สายพันธุ์เดลต้าอยู่ที่ 6.0 และสายพันธุ์อู่ฮั่นอยู่ที่ 2.5 สะท้อนได้ว่ามีการแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าทุกสายพันธุ์ แต่ในแง่อัตราการป่วยเข้า รพ. และอัตราการเสียชีวิตยังไม่มีนัยสำคัญ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากเคสการศึกษาในปัจจุบันยังมีไม่มากนัก

ส่วนข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า สายพันธุ์โอไมครอนทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโควิดลดลง แต่ไม่ทำให้ระดับ T-Cell และ B-Cell ที่มีส่วนสำคัญในการต่อสู้กับเชื้อโควิดลดลงแต่อย่างใด ตลอดจนการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นเข็มที่ 3 ยังสามารถเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี

สอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาจากฮ่องกงที่ออกรายงานว่า โอไมครอนจะทำภูมิคุ้มกันวัคซีนลดลง ป้องกันการติดเชื้อเหลือ 34.2% แต่เมื่อบูสเตอร์วัคซีนเข้าไประดับการป้องกันการติดเชื้อจะกลับขึ้นมาอยู่ที่ 75.5%

อย่างไรก็ดี สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโอไมครอนในประเทศไทยในสัปดาห์นี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 52 ราย รวมสะสมทั้งสิ้น 63 ราย คิดเป็น 3.26% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด จากสัปดาห์ที่ผ่านมามีสัดส่วนอยู่ที่ 1%

โดยทุกรายมีความเชื่อมโยงกับการเดินทางมาจากต่างประเทศ ยังไม่มีเคสที่เกิดขึ้นจากในประเทศเหมือนตอนสายพันธุ์อัลฟ่าที่คลัสเตอร์ทองหล่อ ที่เกิดในประเทศแบบไม่ที่มาที่ไป ซึ่งหากเทียบสัดส่วนการติดเชื้อในกลุ่มคนเดินทางเข้าไทย ทั้งจากระบบ Test and Go, sandbox, AQ (Alternative Quarantine) จะพบสายพันธุ์โอไมครอนมากถึง 1 ใน 4

“ในบางเคสมาในรูปแบบ Test and Go ตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางเข้าไทย 72 ชม. และตรวจซ้ำในไทยแต่ไม่เจอติดเชื้อ จึงต้องปล่อยไป ปรากฏว่าอีกไม่กี่วันพบติดเชื้อโอไมครอน ทำให้ผู้ป่วยหลุดไปได้ ดังนั้นอยากให้ฝั่งนโยบายพิจารณาปรับมาตรการ Test and Go เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์ในประเทศไทย”