รถไฟสีแดง-ฮับบางซื่อ สั่ง ร.ฟ.ท.รับฟังประชาชนลดบทบาทหัวลำโพง

สถานีรถไฟหัวลำโพง

การประชุมคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการรถไฟสายสีแดง-ฮับบางซื่อ สั่ง ร.ฟ.ท.รับฟังประชาชนลดบทบาทหัวลำโพง

วันที่ 10 มกราคม 2565 การประชุมคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมหัวหน้ากลุ่มด้านภารกิจขนส่ง เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการด้านประเมินคุณภาพสถานีรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ และรูปแบบการเดินรถไฟเข้าสู่สถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ครั้งที่ 1/2565

โดยมี ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม, บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด, บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด, สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ, สภาวิศวกร, สภาองค์กรของผู้บริโภค และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ ร่วมเป็นอนุกรรมการเข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Zoom Cloud meetings

นายสรพงศ์กล่าวว่า ในคราวการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางชื่อ ครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ดำเนินการจัดทำเซ็กลิสต์ (Checklist) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องเพื่อให้คำแนะนำ เพื่อตรวจสอบผลกระทบกับประชาชน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมต่อของประชาชนและการขนส่งสินค้า การอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและความปลอดภัยในการเดินรถ

ซึ่ง ขร.ได้ดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อ โดยอ้างอิงจากมาตรฐานสากลต่างประเทศ ได้แก่ EN13816 CoMET and Nova IRS RSI NRPS ประกอบไปด้วย 8 ด้าน ดังนี้

1) โครงสร้างพื้นฐาน 2) การเชื่อมต่อ 3) การให้ข้อมูล 4) ความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย 5) ความสะดวกสบาย 6) การออกแบบสำหรับทุกคน 7) การให้บริการ และ 8) ความสวยงาม

ซึ่งการประเมินดังกล่าวจะเป็นการยกระดับมาตรฐานการให้บริการขนส่งทางราง ความสามารถในการรองรับการใช้บริการของประชาชนได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และเท่าเทียมในระบบรถไฟชานเมือง รถไฟระหว่างเมือง ตลอดจนระบบการเตินทางเชื่อมต่อรอบสถานีรถไฟชานเมือง (สายสีแดง)โดยกำหนดเริ่มลงสำรวจพื้นที่ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

นายสรพงศ์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังร่วมกันพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ ณ สถานีกลางบางซื่อ ในกรณีย้ายสถานีปลายทางของขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์สายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือจากสถานีกรุงเทพฯมายังสถานีกลางบางซื่อ ประกอบด้วย

1) การจัดระบบสัญจรโดยรอบพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ โดยมีการกำหนดการเดินทางเข้า-ออกสถานีกลางบางซื่อให้เป็นลักษณะเดินรถทางเดียว (One Way) และกำหนดจุดรับ-ส่ง (Drop Off) บริเวณด้านหน้าสถานีสำหรับผู้โดยสารขาออก และด้านหลังสถานีสำหรับผู้โดยสารขาเข้า รวมทั้งได้เตรียมพื้นที่จอดรถใต้ดินซึ่งสามารถรองรับรถยนต์ได้กว่า 1,600 คัน เพื่อรองรับการจอดรถยนต์ส่วนบุคคล

2) การจัดระบบหมุนเวียนผู้โดยสาร แบ่งเป็นผู้โดยสารขาออก (Departure) (ลูกศรสีเหลือง) โดยผู้โดยสารสามารถใช้ประตูทางเข้าได้จำนวน 6 ประตู ประกอบด้วย ประตูทางเข้าด้านหน้าสถานีจำนวน 4 ประตู สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางมาจากจุดรับ-ส่ง (Drop Off) บริเวณด้านหน้าของสถานี

และสำหรับผู้โดยสารขาออกที่เดินทางมาจากสถานีชุมทางบางซื่อ (เดิม) สามารถใช้ประตูทางออกด้านหลังสถานีกลางบางซื่อได้จำนวน 2 ประตู ได้แก่ ประตูทางออก 1 และประตูทางออก 4 เพื่อเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อได้อย่างสะดวก

โดยมีจุดจำหน่ายตั๋วโดยสารไว้จำนวน 2 จุด ได้แก่ จุดจำหน่ายตั๋วสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางมาจากรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ซึ่งอยู่บริเวณทิศใต้ของสถานีกลางบางซื่อ

และจุดจำหน่ายตั๋วโดยสารสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางมาจากจุดรับ-ส่ง (Drop Off) บริเวณประตูทางเข้า 4 ด้านหน้าของสถานีกลางบางซื่อ และผู้โดยสารขาเข้า (Arrive) (ลูกศรสีส้ม) สามารถใช้บันไดเลื่อนหรือลิฟต์โดยสารลงจากชั้นชานชาลา 5 และ 6 มาสู่บริเวณพื้นที่ชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร (Ground Level) ซึ่งอยู่บริเวณทิศใต้ของสถานีกลางบางซื่อ โดยสามารถเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่พื้นที่สำหรับผู้โดยสารที่ชำระค่าโดยสารแล้ว (Paid Area) ของรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) หรือเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ได้อย่างสะดวก

และสามารถใช้ประตูทางออกเพื่อไปจุดจอดรับ-ส่ง (Pick Up & Drop Off) บริเวณด้านหลังสถานี หรือไปสถานีชุมทางบางซื่อ จำนวน 2 ประตู ได้แก่ ประตูทางออก 1 และประตูทางออก 4 ทั้งนี้ ประตูทางออก 2 และ 3 เป็นทางเข้า-ออกสำหรับประชาชนผู้มารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 เท่านั้น

3) ความพร้อมด้านขบวนรถ มีการปรับปรุงห้องน้ำภายในขบวนรถ การลดมลพิษจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซลที่มาจากหัวรถจักรโดยให้มีการทำเครื่องหมายกำหนดตำแหน่งจุดจอดของรถไฟให้ชัดเจน เพื่อให้พนักงานขับรถไฟจอดรถไฟตรงกับช่องดูดควันของสถานี เพื่อช่วยระบายควันจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4) ความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานีกลางบางซื่อ มีการปรับปรุงระบบป้ายบอกทางภายในสถานีกลางบางซื่อให้สอดคล้องกับผังการสัญจรภายในสถานี เพิ่มป้ายบอกทางในระบบการเดินทางที่ยังไม่มีให้บริการในปัจจุบัน ได้แก่ ระบบรถไฟความเร็วสูง (HSR) และระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) เพื่อป้องกันความสับสนแก่ประชาชน

ปรับปรุงป้ายสัญลักษณ์ ป้ายบอกทางบางจุดที่มีการติดตั้งไม่สอดคล้องกับเส้นทางสัญจรภายในสถานี เช่น ป้ายบอกทางออกเพื่อลงบันได บันไดเลื่อน หรือลิฟต์ ติดตั้งป้ายบอกทางเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง การปรับปรุงระบบการสื่อสารและเสียงประกาศภายในสถานีกลางบางซื่อ การจัดเตรียมเก้าอี้สำหรับผู้โดยสารนั่งพักคอย

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการบริหารจัดการเบื้องต้นดังกล่าว และเห็นควรให้การรถไฟแห่งประเทศไทยนำความเห็นที่ประชุมไปประกอบการพิจารณาดำเนินการ และจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ และผู้ที่ไม่เห็นด้วย รวมทั้งจัดทำข้อมูลการปรับปรุงห้องสุขาบนขบวนรถไฟให้เป็นระบบปิด ผลทดสอบการดูดควันในชั้นชานชาลา ความคืบหน้าการปรับปรุงป้ายบอกทาง และทิศทางการหมุนเวียนของผู้โดยสารภายในสถานีและบริเวณใกล้เคียง เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมในครั้งต่อไป