เปิดสถานะโควิดระลอก 5 ปักหมุดฉีดวัคซีน เข็ม 3 ทั่วประเทศ

โควิด วัคซีน

ไทยเข้าสู่การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ (ระลอก 5) กลายพันธุ์สู่โอมิครอน ที่มีความรุนแรงน้อย แต่กระจายเชื้อรวดเร็ว สธ.เตรียมประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น ในปี 2565 ด้วยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็มที่ 3 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพิ่มขึ้น

จำนวนผู้ติดเชื้อ เข้าใกล้ระดับการคาดการณ์ ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ออกมาส่งสัญญาณว่า ในระดับที่เลวร้ายที่สุด ไม่มีการออกมาตรการควบคุม ไทยจะติดเชื้อ สูงสุด 30,000 ต่อวัน

เป็นไปตาม ตัวเลข ของ ศบค.ได้คาดการณ์สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศในภาพรวมขณะนี้ว่า หากยังพบการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงถึง 20,000 กว่าราย ในเดือนมกราคม 2565 และอาจจะแตะถึง 30,000 กว่าราย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ จาก ศบค. (ตั้งแต่วันที่ 1-11 ม.ค.) สะสมแล้ว 61,174 ราย เสียชีวิตสะสม 152 ราย

“ประชาชาติธุรกิจ” นำเสนอรายงาน สถานะของการระบาดโควิด-19 ณ ไตรมาสแรกของปี 2565

โควิดไทยเข้า “ระลอก 5”

การปรับเปลี่ยนสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทย ทางกรมควบคุมโรคได้เปิดเผยข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในแต่ละ “ระลอก” ไว้ดังนี้

โควิดระลอก 1 : การระบาดของโควิดสายพันธุ์อู่ฮั่น เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม – 14 ธันวาคม 2563 รวมระยะเวลา 11 เดือน

มีผู้ป่วยจำนวน 4,327 ราย ผู้ป่วยรักษาหาย 98.58% และเสียชีวิต 60 ราย

โควิดระลอก 2 : การระบาดของโควิดสายพันธุ์อัลฟ่า เบต้า เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 – 31 มีนาคม 2564 รวมระยะเวลา 3 เดือนครึ่ง

มีผู้ป่วยจำนวน 24,626 ราย ผู้ป่วยรักษาหาย 99.86% และเสียชีวิต 34 ราย

โควิดระลอก 3 : การระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้า เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1-14 เมษายน 2564 รวมระยะเวลา 14 วัน

มีผู้ป่วยจำนวน 7,074 ราย ผู้ป่วยรักษาหาย 95.58% และเสียชีวิต 3 ราย

โควิดระลอก 4 : การระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้า เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2564

กระทั่งล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2565 ว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย ได้เข้าสู่ ระลอกที่ 5 เป็นที่เรียบร้อย โดยมาพร้อมกับโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอมิครอน

ปรับมาตรการคุมเข้ม ระดับ 4

ผ่านเพียง 1 วัน หลังประกาศเข้าสู่ระลอกที่ 5 สธ.ได้ประกาศแจ้งเตือนภัยสาธารณสุขสถานการณ์โควิด-19 โดยยกระดับมาตรการรับมือโควิดเป็น ระดับ 4 จากทั้งสิ้น 5 ระดับ ซึ่งต้องติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อจากนี้  หากเป็นไปตามคาดการณ์ของ ศบค.ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น สธ.คงต้องประกาศยกระดับมาตรการคุมโควิดของไทยขึ้นเป็น ระดับ 5 นั่นหมายถึง โควิดในไทยได้เข้าสู่ภาวะวิกฤติอีกครั้ง

เปิด 5 ระดับมาตรการคุมโควิด

มาตรการคุมโควิดระดับ 1 

  • สถานที่เสี่ยง : ใช้บริการได้ทุกแห่ง ภายใต้มาตรการความปลอดภัย Covid free setting
  • การรวมกลุ่มคนจำนวนมาก : Smart living, ร่วมกิจกรรมได้แบบ New Normal
  • การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด : ขนส่งสาธารณะได้ ภายใต้มาตรการความปลอดภัย Covid free setting
  • การเดินทางเข้าประเทศ : เดินทางได้ปกติ

มาตรการคุมโควิดระดับ 2 

  • สถานที่เสี่ยง : กลุ่ม 608/ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ งดเข้าสถานบันเทิง เลี่ยงเข้าสถานที่ระบบปิด/แออัด
  • การรวมกลุ่มคนจำนวนมาก : กลุ่มเสี่ยง 608 ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ เลี่ยงร่วมกิจกรรมที่รวมกลุ่มจำนวนมาก
  • การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด : กลุ่มเสี่ยง 608 ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ เลี่ยงโดยสารขนส่งสาธารณสุขทุกประเภท
  • การเดินทางเข้าประเทศ : กลุ่มเสี่ยง 608 ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ เลี่ยงเดินทางไปต่างประเทศ เข้าประเทศต้องกักตัว

มาตรการคุมโควิดระดับ 3

  • สถานที่เสี่ยง : ทุกคนงดเข้าสถานบันเทิง เลี่ยงเข้าสถานที่ระบบปิด/แออัด
  • การรวมกลุ่มคนจำนวนมาก : กลุ่ม 608/ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ เลี่ยงร่วมกิจกรรมที่รวมกลุ่มจำนวนมาก
  • การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด : กลุ่ม 608/ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ เลี่ยงโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประภท
  • การเดินทางเข้าประเทศ : กลุ่ม 608/ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ งดเดินทางไปต่างประเทศคนทั่วไป เลี่ยงเดินทางไปต่างประเทศ เข้าประเทศต้องกักตัว

มาตรการคุมโควิดระดับ 4

  • สถานที่เสี่ยง : ทุกคนงดรับประทานอาหารร่วมกันหรือดื่มสุราในร้าน งดเข้าสถานที่เสี่ยงทุกประเภท
  • การรวมกลุ่มคนจำนวนมาก : ทุกคนเลี่ยงใกล้ชิดผู้อื่นนอกบ้าน งดร่วมกิจกรรมกลุ่ม
  • การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด : ทุกคนงดโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท
  • การเดินทางเข้าประเทศ : ทุกคนงดเดินทางไปต่างประเทศ เข้าประเทศต้องกักตัว

มาตรการคุมโควิดระดับ 5

  • สถานที่เสี่ยง : ทุกคนงดออกนอกบ้าน หากจำเป็นเพื่อการดำรงชีวิต เช่น ตรวจ รักษา ซื้ออาหาร-ของใช้
  • การรวมกลุ่มคนจำนวนมาก : งดรวมกลุ่มมากกว่า 5 คน งดใกล้ชิดกันในบ้าน (ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน)
  • การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด : ทุกคนงดออกนอกบ้าน หากจำเป็นให้ใช้รถส่วนตัว และคัดกรอง
  • การเดินทางเข้าประเทศ : ทุกคนห้ามไปต่างประเทศ เข้าประเทศต้องกักตัว

เตรียมปรับโควิดเป็น “โรคประจำถิ่น”

การระบาดโควิดระลอกใหม่ในครั้งนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญตั้งแต่ไทยต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด นับตั้งแต่เจอผู้ติดเชื้อรายแรก เนื่องจากทั่วโลกรวมถึงไทย พบกับเชื้อโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอมิครอน โดยไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ดังกล่าวรายแรก เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 เป็นหญิงไทย วัย 49 ปี ติดโควิด-19 โดยได้รับเชื้อจากสามีชาวโคลอมเบีย เดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย เข้าไทยผ่านระบบแซนด์บอกซ์ เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2564

ด้วยประสิทธิภาพของเชื้อโควิดโอมิครอน ที่แพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็วขึ้น แต่ขณะเดียวกันกลับทำให้อาการของผู้ติดเชื้อลดความรุนแรงลง ซึ่งสอดคล้องกับการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น และอัตราการเสียชีวิตลดน้อยลง

เปิด 3 เหตุผล โควิดเป็นโรคประจำถิ่น

กรมควบคุมโรค จึงพิจารณาว่า เตรียมให้การระบาดในระลอกนี้ เข้าสู่ “โรคประจำถิ่น (Endemic) คือ การระบาดของโรคที่พบอัตราการป่วยในระดับคงที่และสามารถคาดการณ์ได้ ในพื้นที่นั้น ๆ โดยให้เหตุผลประกอบไว้ว่า

  • เชื้อโอมิครอนลดความรุนแรง
  • ประชาชนให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีน
  • การบริหารจัดการ ดูแลรักษาและการชะลอการระบาดได้เป็นอย่างดี

อีกทั้งประกาศแผนการรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ในระยะต่อไป ใน 4 มาตรการหลัก ดังนี้

1. มาตรการสาธารณสุข ใช้แนวทางการชะลอการระบาด เพื่อให้ระบบสาธารณสุขดูแลทุกคนได้ เพิ่มการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 หรือเข็มที่ 4

2. มาตรการการแพทย์ เนื่องจากโรคไม่มีความรุนแรง จึงเน้นการดูแลมาใช้แบบแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) และศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation)

3. มาตรการสังคม ประชาชนยึดหลักป้องกันตัวเองสูงสุด (Universal Prevention) เลี่ยงการเข้าสถานที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องเคร่งครัดให้สถานบริการปลอดโควิด-19 (COVID free setting)

4. มาตรการสนับสนุน ด้านค่ารักษาพยาบาลและการตรวจหาเชื้อ

ข้อมูลล่าสุด (10 ม.ค.) ศบค. รายงานสถานการณ์โควิดประจำวัน พบการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน กระจายแล้ว 71 จังหวัดทั่วไทย และมีผู้ติดเชื้อถึง 5,397 ราย

ปักธงมาตรการฉีดเข็ม 3 สู้โอมิครอน ทุกพื้นที่

ประเทศไทยฉีดวัคซีนให้ประชาชน ทุกพื้นที่ ทะลุเป้าหมาย 100 ล้านโดส ในวันที่ 19 ธันวาคม 2564 ตามที่กระทรวงสาธารณสขุได้กำหนดไว้

เป้าหมายต่อไป รัฐบาลประกาศผ่านมติ ของ ศบค.ระบุเป้าหมายการฉีดวัคซีน เพิ่มเป็น 120 ล้านโดส โดยมุ่งเข้าสู่การฉีด “เข็มกระตุ้น” เข็ม ที่ 3 และเข็มที่ 4  จำนวน 20 ล้านโดส ภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565

ใครจะได้ฉีดวัคซีน เข็มที่ 3 และ 4 บ้าง เป็นไปตามแผนของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข และมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ดังนี้

  • ผู้ที่อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นที่ยังไม่เคยรับการฉีดวัคซีน สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนแบบ walk-in ได้ ตามสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร กำหนดไว้
  • ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือผู้ที่เคยติดเชื้อทุกราย จะได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ใช้ภายใต้คำแนะนำที่มีผลงานทางวิชาการรับรอง
  • กลุ่มเป้าหมายอายุ 5-12 ปี สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ตามความสมัครใจของเด็กและผู้ปกครอง

ล่าสุด ข้อมูลการฉีดวัคซีน จากกรมควบคุมโรค (11 ม.ค.2565) อัพเดตจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วสะสมแล้ว 106,636,206 โดส ประกอบด้วย เข็ม 1 ฉีดสะสม 51,424,303 โดส เข็ม 2 ฉีดสะสม 46,647,421 โดส และ เข็ม 3 ฉีดสะสม 8,564,302 โดส