เกาะติด คำขอ งบฯปี’66 “คมนาคม-โลจิสติกส์” 8 หน่วย 3.22 แสนล้าน

ทางหลวง
แฟ้มภาพประกอบข่าว

ใกล้เป็นรูปธรรมสำหรับการจัดระเบียบงบประมาณรายจ่ายปี 2566 โดย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นั่งหัวโต๊ะแมตช์การประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณปี 2566 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา

ตัดเชือก 11 กระทรวง 37 หน่วย

คำว่า “งบรายจ่ายบูรณาการ” เป็นการระดมข้ามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านการขนส่งคมนาคมและโลจิสติกส์ ประกอบด้วย 11 กระทรวง 37 หน่วยงาน

โดยมีเจ้าภาพหลัก “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” กระทรวงคมนาคม กับเจ้าภาพรอง “สศช.-สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ”

เบื้องต้น สถานะเป็น “คำขอ” เพื่อรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น 324,708 ล้านบาท จาก 11 กระทรวง 37 หน่วยงาน

หลังจากผ่านการพิจารณาคณะทำงานบูรณาการดังกล่าว มีการปรับลดวงเงิน -475 ล้าน เหลือ 322,233 ล้านบาท องค์กรที่มีสถานะคำขอได้ไปต่อเหลือ 10 กระทรวง 28 หน่วยงาน

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

โดยหน่วยงานหลัก 8 กรมกองของกระทรวงคมนาคมยืนหนึ่ง คำขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเท่าเดิม 322,361 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สถานะคำขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ยังไม่ไฟนอล มีโอกาสถูกตัดได้อีกหลายยก จุดสิ้นสุดอยู่ที่สำนักงบประมาณ

เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณปี 2565 ทั้งกระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรร 211,611 ล้านบาท

ในจำนวนนี้เป็นของ 8 หน่วยงานหลักกระทรวงคมนาคม 175,858 ล้านบาท และ 5 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 35,753 ล้านบาท

6+6 เกณฑ์จัดสรรงบประมาณ

สำหรับหลักเกณฑ์การจัดทำงบประมาณ ประกอบด้วย ด้านนโยบายกับด้านแนวทางการจัดทำโครงการ

“ด้านนโยบาย” มีหลักเกณฑ์ 6 ข้อ คือ 1.เป็นโครงการยุทธศาสตร์ชาติ 2.ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) และให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้าน Soft Side 3.เป็นโครงการตามภารกิจหลักของหน่วยงาน ซึ่งต้องไม่ใช่ภารกิจปกติ หรือภารกิจประจำ

4.หน่วยงานที่มีโครงการ/รายการผูกพันเกิน 1 ปี วงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องนำเสนอ ครม. อนุมัติก่อนขอรับการจัดสรร 5.สนับสนุนเป้าหมายและผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์อัจฉริยะ

และ 6.นำข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการในปีที่ผ่านมาใช้เป็นแนวทางในการขอรับจัดสรรงบประมาณ

“ด้านแนวทางการจัดทำโครงการ” มีอีก 6 เกณฑ์ คือ 1.เป็นโครงการสำคัญและจำเป็นต้องมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความพร้อมในการดำเนินงาน 2.บรรเทา-แก้ไขผลกระทบสถานการณ์โควิด

3.สนับสนุนพื้นที่ที่มีศักยภาพและเขตพัฒนาพิเศษในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการสนับสนุนจุดเชื่อม ไทย-สปป.ลาว-จีน (หนองคาย/เชียงราย) และสนับสนุนพื้นที่เศรษฐกิจในประเทศให้เข้าสู่ตลาดจีนและกลุ่มประเทศ CLMV

4.สนับสนุนการลงทุนพัฒนาศูนย์บริการโลจิสติกส์ และศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า 5.ไม่สนับสนุนการจัดซื้อครุภัณฑ์หรือการจัดตั้งศูนย์ ที่ไม่ตอบสนองต่อเป้าหมายได้อย่างแท้จริง (ให้ความสำคัญครุภัณฑ์ที่สนับสนุนการพัฒนา/รองรับนวัตกรรม)

และ 6.ไม่สนับสนุนงานวิจัย หรือพัฒนาบุคลากรที่ตอบสนองเพียงพื้นที่เดียว ควรมีการบูรณาการเชิงพื้นที่ร่วมกันหลายหน่วยงาน และเป็นการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะเชี่ยวชาญสูง

งบฯคมนาคม

งบฯ Hard Side-Soft Side

เจาะลึกรายละเอียดร่างคำของบประมาณบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ 2566 โฟกัสเฉพาะ 8 หน่วยงานกระทรวงคมนาคม มีคำขอ 85 โครงการ วงเงิน 322,361 ล้านบาท คิดเป็น 99.3% ของงบประมาณบูรณาการด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์

ภารกิจบรรจุในแผนงานด้าน Hard Side ประกอบด้วย 1.กรมทางหลวง (ทล.) 2.กรมทางหลวงชนบท (ทช.) 3.กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) 4.กรมเจ้าท่า (จท.) 5.กรมท่าอากาศยาน (ทย.)

อีก 3 หน่วยงานเป็นรัฐวิสาหกิจ 6.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 7.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ 8.การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

ขณะที่ภารกิจด้าน Soft Side มี 22 หน่วยงาน อาทิ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมป่าไม้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันมาตรวิทยา องค์การก๊าซเรือนกระจก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย-อุดรธานี กรมศุลกากร เป็นต้น

ส่งคำขอรวมกัน 49 โครงการ วงเงิน 1,871 ล้านบาท คิดเป็น 0.70%

ตัวอย่างโครงการสำคัญ อาทิ โครงการยกระดับมาตรฐานเครื่องตรวจจับความเร็วเพื่อการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมอุบัติเหตุทางถนน, โครงการพัฒนาแบบจำลองการคำนวณต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยแบบล่วงหน้า (Predictive Model), โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง เป็นต้น

2 กรมถนนขอรวมกัน 79.14%

เปิดแฟ้มคำของบประมาณ 8 หน่วยงานคมนาคม 85 โครงการ พบว่ามีการกระจุกตัวของคำขอใช้งบฯอยู่ที่ 2 กรมถนน คือ กรมทางหลวง ส่งคำขอ 6 โครงการ 216,891 ล้านบาท สัดส่วน 67.18% รองลงมา กรมทางหลวงชนบท คำขอ 2 โครงการ 38,604 ล้านบาท สัดส่วน 11.96%

กรมท่าอากาศยาน ส่งคำขอ 2 โครงการ 9,835 ล้านบาท สัดส่วน 3.05% กรมเจ้าท่า ยื่นคำขอ 40 รายการ วงเงิน 3,724 ล้านบาท สัดส่วน 1.15% โดยอีกหน่วยงานคือกรมการขนส่งทางบก ส่งคำขอ 4 โครงการ 770 ล้านบาท

สำหรับรัฐวิสาหกิจมี 3 แห่ง เริ่มจาก รฟม. ยื่นคำขอ 11 โครงการ วงเงิน 29,915 ล้านบาท สัดส่วน 9.27% ตามติดด้วยการรถไฟฯ ตั้งคำขอ 17 โครงการ วงเงิน 19,768 ล้านบาท สัดส่วน 6.12% และการทางพิเศษฯ ยื่นคำขอ 3 โครงการ วงเงิน 2,910 ล้านบาท สัดส่วน 0.90%

ปรับปรุงถนนสนอง 120 กม./ชม.

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมระบุในจำนวน 85 โครงการ วงเงิน 322,361 ล้านดังกล่าว ยกตัวอย่างโครงการที่สำคัญ 8 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์ รหัส M6) ช่วงบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา

2.มอเตอร์เวย์ บางใหญ่-กาญจนบุรี รหัส M81 3.มอเตอร์เวย์ รหัส M7 ส่วนต่อขยายเข้าสนามบินอู่ตะเภา 4.มอเตอร์เวย์หมายเลข 9 ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอนบางบัวทอง-บางปะอิน

5.โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) 6.โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา จ.สงขลากับ จ.พัทลุง 7.โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา จ.กระบี่

8.ถนนสาย จ ผังเมืองรวมเมืองกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร 9.โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-นครพนม และสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนของกรมทางหลวง หนึ่งในไฮไลต์เป็นโครงการที่ต้องใช้งบฯผูกพันเหลื่อมปีงบประมาณ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยบนทางหลวง” วงเงิน 54,384 ล้านบาท สำหรับนำไปใช้ในเนื้องาน อาทิ ยกระดับความปลอดภัยบริเวณทางแยกขนาดใหญ่, บริเวณจุดกลับรถ, ทางแยกอันตราย, ปรับปรุงแบ่งทิศทางการจราจร เป็นต้น

โครงการนี้สนองนโยบายรัฐมนตรีศักดิ์สยาม ซึ่งกำลังเดินหน้าเก็บเกี่ยวผลงานหาเสียงในการปรับปรุงความปลอดภัยในการใช้ถนนสายหลัก เพื่อให้รถยนต์สามารถทำความเร็วบนถนนทางหลวงแผ่นดินที่ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ทช.ขอสร้างสะพาน-แก้จุดตัด

สำหรับ กรมทางหลวงชนบท ยื่นคำขอ 2 โครงการหลัก แต่เป็นคำของบฯก้อนใหญ่วงเงินรวม 38,604 ล้านบาท ที่แตกกระจายโครงการย่อย ได้แก่ 1.งบฯผูกพันใช้ในโครงการอำนวยความปลอดภัยสนับสนุนคมนาคมและโลจิสติกส์ 10,612 ล้านบาท เช่น ก่อสร้างปรับปรุงถนนแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 กับหมายเลข 1 จ.ลำปาง หรือสะพานจุดตัดลำปางเพื่อระบายรถเข้าสู่เชียงใหม่ได้สะดวกมากขึ้น นอกจากนี้เป็นการขยายและปรับปรุงสะพาน, ปรับปรุงจุดเสี่ยงอันตราย เป็นต้น

2.โครงการพัฒนาทางและสะพานโครงข่ายทางหลวงชนบทสนับสนุนคมนาคมและโลจิสติกส์ วงเงิน 27,991 ล้านบาท เช่น สร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา, สะพานเชื่อมเกาะลันตา เป็นต้น

ด่วนกะทู้-ป่าตองลุ้นตัวโก่ง

ถัดมา กรมท่าอากาศยาน ยื่นคำขอ 9,835 ล้านบาท ทั้งหมดเป็นวงเงินผูกพัน มี 2 โครงการ 1.โครงการพัฒนาศักยภาพสนามบิน 7,492 ล้านบาท มีทั้งสิ้น 17 แห่ง เช่น น่านนคร บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง หัวหิน เป็นต้น

โครงการที่ค้างดำเนินการและอยู่ในความสนใจของคนภูเก็ต เป็นของการทางพิเศษฯ ที่เสนอคำขอ 3 โครงการ วงเงิน 2,910 ล้านบาท โดยมีโครงการใหม่คือสร้างทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต โดยขอจัดสรรงบประมาณรายจ่าย 2,865 ล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายค่าชดเชยและเวนคืนที่ดิน เพื่อให้โครงการสามารถเริ่มต้นนับ 1 ได้เสียที

อีก 2 โครงการของการทางพิเศษฯ เป็นการขอใช้งบฯผูกพันสำหรับโครงการทางด่วน พระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก วงเงิน 11 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ และทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ วงเงิน 33 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์เช่นกัน

สนามบิน

เจ้าท่าขุดลอกร่องน้ำ-เขื่อนป้องกันตลิ่ง

คำขอของ กรมเจ้าท่า หน่วยงานที่มีภารกิจปิดทองหลังพระ ตั้งเรื่องขอใช้วงเงิน 3,665 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่าย 40 โครงการ อาทิ ก่อสร้างเพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณท่าเรือ 5 แห่ง วงเงิน 15-35 ล้านบาท/แห่ง ได้แก่ ท่าเรือพระปิ่นเกล้า, ท่าเรือสะพานกรุงธน หรือซังฮี้, ท่าเรือปากเกร็ด, ท่าเรือพระราม 5 และท่าเรือเขียวไข่กา กรุงเทพฯ

คำของบฯจัดสรรค่าจ้างเหมาขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล 10 แห่ง งบประมาณตั้งแต่ 35-329 ล้านบาท/แห่ง ได้แก่ ขุดลอกร่องน้ำสมุทรสาคร, บ้านดอน อ.เมืองสุราษฎร์, ร่องน้ำสงขลา (ร่องในกับร่องนอก), ร่องน้ำบางปะกง ฉะเชิงเทรา, ร่องน้ำท่าเรือเชียงแสน เชียงราย, ร่องน้ำกันตัง ตรัง, ร่องน้ำปัตตานี, ร่องน้ำท่าเรืออเนกประสงค์ ระนอง, ร่องน้ำนราธิวาส

โครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง เพิ่มประสิทธิภาพทางเรือเดิน มีคำขอ 15 รายการ แบ่งเป็นโครงการใหม่ 12 แห่ง ได้แก่ โครงการในแม่น้ำป่าสัก เฟส 2 ตอน 3-4-5-6-7-8 อยุธยา

ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินรถไฟฟ้า

สำหรับ รฟม. ส่งคำขอ 11 โครงการ วงเงิน 29,915 ล้านบาท เป็นงบฯผูกพันโครงการเดิมสำหรับโครงการรถไฟฟ้าเฉลิมรัชมงคล หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สีน้ำเงิน, สายสีม่วง เตาปูน-บางใหญ่, สีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางแค, สีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ

สีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ, สีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, สีชมพู แคราย-มีนบุรี, สีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง, สีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี และสายสีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ

ทั้งหมดนี้เป็นคำขอเพื่อนำมาจ่ายค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยสายสีส้ม ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ขอจัดสรรงบฯเพื่อเป็นค่าจ้างสำรวจอสังหาริมทรัพย์ และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 6,040 ล้านบาท