คลัสเตอร์ปีใหม่ไม่จบ ศบค.จี้เอกชนตรวจ ATK เร่งฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์

ศบค.กังวลยอดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3 ต่ำแค่ 12.9%  สั่งเร่งปูพรมฉีดทุกจังหวัด  รับยอดติดเชื้อโควิดในประเทศขยับแตะหมื่นราย/วันแล้ว ระบุผลศึกษาชี้วัคซีนมีประสิทธิภาพทุกยี่ห้อกันโอมิครอนได้ ขณะที่ยังพบคลัสเตอร์กระจายหลายจังหวัดและมีร้านเหล้าลักลอบเปิดบริการ ยันคลัสเตอร์ปีใหม่ยังไม่จบ ระบุพบหลายบริษัท โรงงานหละหลวม ไม่กักตัวพนักงานกลุ่มเสี่ยง ไม่ตรวจ ATK

วันที่ 14 มกราคม 2565 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล (ศบค.) รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันนี้ ข้อมูล ณ วันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2565 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 320,875,420 ราย อาการรุนแรง 96,654 ราย รักษาหายแล้ว 264,016,823 ราย และเสียชีวิต 5,538,771 ราย

ส่วนอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 65,236,475 ราย 2.อินเดีย จำนวน 36,571,423 ราย 3.บราซิล จำนวน 22,815,827 ราย 4.สหราชอาณาจักร จำนวน 14,967,817 ราย 5.ฝรั่งเศส จำนวน 13,240,304 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 26 ของโลกจากจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,308,615 ราย

“ประเทศที่มีการรายงานการติดเชื้อสูงยังเป็นสหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในยุโรป ไม่ว่าจะเป็น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอีกหลายประเทศแม้ตัวเลขจะลดลงบ้าง แต่ตัวเลขการระบาดของโอมิครอนยังสูงอย่างต่อเนื่อง” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวและว่า

จีนพบระบาดเมืองที่ 3 จากช่วงตรุษจีน

ขณะที่ตัวเลขเพื่อนบ้านเราอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ ยังคงขึ้นหลักหมื่น หรืออย่างมาเลเซียเพิ่มขึ้น 3,684 ราย สิงคโปร์ 960 ราย แม้ตัวเลขจะต่างกัน แต่เป็นทิศทางที่ขยับเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่จีนมีรายงานผู้ป่วยโอมิครอนเป็นเมืองที่ 3 คือเมืองต้าเหลียน

“ในที่ประชุมมีความเป็นห่วง เพราะจากประวัติผู้ติดเชื้อเป็นผู้ที่เดินทางกลับบ้านที่เมืองเทียนจินในช่วงเทศกาลตรุษจีน ทุกท่านจะเห็นรูปแบบการระบาดที่คล้ายกันกับบ้านเรา คือมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปเยี่ยมบ้านเกิด มีการสังสรรค์ มีการติดเชื้อและนำกลับมาแพร่ในชุมชนและคนใกล้ชิด”

ขณะที่สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ตัวเลขก็เริ่มขยับสูงเช่นกัน โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ 8,158 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 85,180 ราย หายป่วยแล้ว 43,428 ราย และเสียชีวิตสะสม 200 ราย

ข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,308,615 ราย หายป่วยแล้ว 2,211,922 ราย เสียชีวิตสะสม 21,898 ราย

ยอดติดเชื้อในประเทศบวก ATK ขยับแตะหมื่นราย/วัน

ขณะที่ตัวเลขวันนี้ในบ้านเรา เป็นการตรวจแบบ RT-PCR ตัวเลขอยู่ที่ 8,158 ราย ถ้าบวกยอด ATK ของวันที่ 13 มกราคม 2565 ที่มีการตรวจจำนวน 116,906 ตัวอย่าง มียอดผลบวกของการติดเชื้อจำนวน 2,719 ราย ถ้ารวมกับผลตรวจ RT-PCR ตัวเลขก็จะอยู่ในระดับหมื่นราย (10,877ราย) ซึ่งอยู่ในระดับการประมาณการของกระทรวงสาธารณสุขก่อนหน้านี้ และถ้าเทียบการตรวจ ATK ซึ่งอยู่ในระดับ 2% ยังอยู่ในภาวะที่คาดการณ์ได้

ส่วน 10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุดวันนี้ยังเป็นชลบุรีมีจำนวน 825 ราย กรุงเทพมหานคร 766 ราย สมุทรปราการ 735 ราย ภูเก็ต 441 ราย นนทบุรี 368 ราย ขอนแก่น 299 ราย อุบลราชธานี 269 ราย ปทุมธานี 191 ราย เชียงใหม่ 189 ราย สมุทรสาคร 181 ราย

“ภูเก็ตจะมาจากนักท่องเที่ยวในแซนด์บอกซ์และจากชุมชนส่วนหนึ่ง รวมทั้งหลาย ๆ จังหวัดเดิมที่อยู่ใน 10 อันดับ เช่น อุบลราชธานี ขอนแก่น เชียงใหม่ เป็นต้น ที่ประชุมมีการพูดคุยกันถึงคลัสเตอร์ด้วย โดยกทม.วันนี้รายงานผู้ติดเชื้อ 766 ราย ถ้าบวกกับผลตรวจ 43 ราย จากการตรวจ 4,999 ตัวอย่าง คิดเป็น 1.18% ซึ่งก็ไม่ต่างกับภาพรวมของประเทศที่อยู่ในระดับ 2%”

ส่วนผู้เสียชีวิตวันนี้ 14 ราย อยู่ใน กทม. 2 ราย กำแพงเพชร เชียงราย จังหวัดละ 1 ราย รวม 2 ราย ปัตตานี ยะลา สงขลา สตูล พัทลุง รวม 5 ราย ชลบุรี จันทบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี อ่างทอง รวม 6 ราย โดยวันนี้จังหวัดปริมณฑลและภาคอีสานไม่มีผู้เสียชีวิต

นอกจากการสำรวจผู้เสียชีวิตที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวแล้ว โดยกลุ่มผู้เสียชีวิตมีมากกว่า 60% ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือได้รับวัคซีนยังไม่ครบที่จะมีภูมิคุ้มกัน และมีบางรายที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่ทิ้งช่วงเกิน 6 เดือนก็ทำให้เกิดการติดเชื้อและเสียชีวิต ซึ่งเป็นประเด็นที่สาธารณสุขเน้นย้ำว่า แม้จะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3

เตรียมปรับฐานข้อมูลฉีดวัคซีนใหม่

ส่วนผลการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของบ้านเรา ตัวเลขรวมจากการรายงานของวันที่ 13 มกราคม 2565 จำนวน 542,689 โดส ทำให้ยอดการฉีดรวมอยู่ที่ 108.31 ล้านโดส ถ้านับเป็นเข็ม 1 ทั้งประเทศจะอยู่ที่ 71.8% ของจำนวนประชากร เข็มที่ 2 จำนวน 65.7% เข็ม 3 จำนวน 12.9%

“เข็มที่ 3 เป็นสิ่งที่เรากำลังรณรงค์ในระยะนี้ พี่น้องประชาชนที่ครบเกณฑ์ขอให้เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามแผนด้วย” ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวย้ำ

ส่วนผู้มาขอรับวัคซีน ณ วันที่ 13 มกราคม 2565 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 52,332 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 128,885 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 361,472 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 13 มกราคม 2565 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 108,313,948 โดส

  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 51,694,907 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 47,301,137 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 9,317,904 ราย

“ถ้าดูตัวเลขการรายงานเช้านี้ของวัคซีน ตัวเลขยังมีความต่างนิดหน่อย ซึ่งต้องอธิบายว่า ตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุขรายงาน เป็นการใช้จากการปรับฐานข้อมูลล่าสุดของกระทรวงมหาดไทย เป็นข้อมูลประชากรของปี 2565 ซึ่งนับยอดประชากรที่ 67,182,399 คน แต่ตัวเลขการรายงานของ ศบค.ตัวเลขฐานข้อมูลยังอยู่ที่ 72,034,775 คน ซึ่งในสัปดาห์นี้จะปรับข้อมูลให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ตัวเลขเข็ม 1 เพิ่มขึ้นเป็น 76.92%”

กังวลยอดฉีดเข็มกระตุ้นต่ำ

“สิ่งที่เรากังวลตอนนี้เป็นเข็ม 3 ที่พี่น้องได้รับการฉีดเข็ม 3 ยังค่อนข้างต่ำอยู่ วันนี้ทางอธิบดีกรมควบคุมโรคได้ออกมาเน้นย้ำว่า วัคซีนทุกยี่ห้อถือได้ว่ามีประสิทธิภาพสูง 90-100% ในการป้องกันการป่วยหนัก เข้าโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต ดังนั้นคนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วก็ตาม ภูมิคุ้มกันจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 จากรายงานของสาธารณสุขพบว่าภูมิคุ้มกันจะสูงขึ้น และสามารถช่วยลดการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ชี้วัคซีนมีประสิทธิภาพทุกยี่ห้อ กันโอมิครอนได้

นอกจากนี้การฉีดกระตุ้นเข็ม 3 จากการศึกษาจากเหตุการระบาดของคลัสเตอร์ที่กาฬสินธุ์ ไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นาให้ภูมิคุ้มกันสูงไม่แตกต่างกัน และผู้ที่ได้รับเข็ม 3 กระตุ้นทั้งสูตรเข็มสาม แอสตร้าฯและไฟเซอร์ มีผลการทดลองสามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง 80-90% จึงนำมาสู่นโยบายการให้วัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงต้นเดือนมกราคม 2565 นี้ หากผู้ที่ถึงกำหนดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3 ขอให้ไปรับวัคซีนเข็ม 3 ได้ทันทีตามสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขกำนด(ตามกราฟิกด้านบน)

แนวทางฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ของ สาธารณสุข ม.ค. 65

1. ผู้ที่ถึงกำหนดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

  •  Sinovac-AstraZeneca ส.ค. – ต.ค. 64 ฉีดเข็มกระตุ้น AstraZeneca
  • AstraZeneca ครบ 2 เข็ม ส.ค. – ต.ค. 64 ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น Pfizer
  • ฉีดวัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ฉีดเข็มกระตุ้น AstraZeneca

2. วัคซีนเข็มกระตุ้นผู้มีประวัติการติดเชื้อ

  •  AstraZeneca กระตุ้น ผู้รับการฉีดวัคซีนไม่ครบเกณฑ์ หรือ ครบตามเกณฑ์น้อยกว่า 2 สัปดาห์ก่อนการติดเชื้อ

ทั้งนี้สามารถใช้สูตรอื่นที่ผ่านการรับรองทางวิชาการได้ ภายใต้จำนวนวัคซีนที่มีในพื้นที่

“ยังมีหลายจังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนกลุ่ม 608 ไม่ครบ 80% หรือฉีดให้กับประชากรทั้งจังหวัดยังไม่เกิน 70% คงต้องฝากไปที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมหาดไทยด้วย ผู้ประกอบการด้วย ตอนนี้สาธารณสุขเน้นย้ำ เพราะปลัดกระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่ด้วยตัวเอง พบว่ายังมีผู้ประกอบการ ร้านอาหาร ที่รายงานว่ายังฉีดวัคซีนพนักงานไม่ครบ”

ส่วนที่ กทม.มีการเปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในระบบแอปพลิเคชั่น QUEQ หลายแห่ง ทั้งศูนย์บริการสาธารณสุข 63 แห่ง รพ.สังกัดกทม. 11 แห่ง ศูนย์ฉีดวัคซีนอาคารกีฬาเวสน์ 2 ดินแดง และโรงพยาบาลเอกชนอีกหลายแห่ง รวมถึงโรงพยาบาลของรัฐวิสาหกิจอย่างการไฟฟ้านครหลวง เป็นต้น

แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เน้นย้ำมาตรการ V-U-C-A เพื่อรับมือกับการระบาดในระลอกมกราคม 2565 (โอมิครอน) ได้แก่ V-Vaccine ฉีดวัคซีนตามกำหนด เพื่อลดการป่วยหนักและเสียชีวิต U-Universal Prevention ป้องกันตัวเองกับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา C-COVID Free Setting สถานที่ปลอดภัย ผู้ให้บริการฉีดวัคซีนครบ ตรวจ ATK ประจำ และ A-Antigen Test Kit ตรวจด้วย ATK เมื่อมีความเสี่ยง หรือมีอาการคล้ายไข้หวัด

“ขอให้ประชาชนร่วมใจกันไปฉีดวัคซีน ในที่นี้คือวัคซีนเข็มกระตุ้นที่กระทรวงสาธารณสุขขอรณรงค์เป็นพิเศษในช่วงนี้ เพื่อที่จะรับมือกับการแพร่ระบาดของโอมิครอนด้วย และเน้นย้ำเรื่องมาตรการ V-U-C-A” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวและว่า

ทางปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เน้นย้ำในเรื่องชุดตรวจ ATK ว่า จะมีการจัดหาชุดตรวจ ATK ให้เพียงพอ และฝากให้พี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อเหยือมิจฉาชีพที่มีการหลอกลวงว่า ATK ตรวจโอมิครอนได้ เพราะการตรวจหาสายพันธุ์จะต้องตรวจในห้องแล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เท่านั้น

พบคลัสเตอร์ร้านเหล้าลักลอบเปิด

ส่วนคลัสเตอร์ที่มีการรายงานใน ศบค.ชุดเล็กที่มีการติดเชื้อและมีการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน บางกลุ่มก้อนเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นคลัสเตอร์ร้านอาหารหลายจังหวัด เช่นที่เลย ขอนแก่น เป็นร้านเหล้า เป็นการเปิดอย่างฝ่าฝืนข้อกำหนดของ ศบค. เพราะยังไม่ได้มีการเปิดให้สถานบันเทิงให้บริการได้ ซึ่งคงต้องเน้นย้ำไปที่จังหวัด

เรียนว่าสถานบันเทิงหลายแห่งมีความตั้งใจ มีความพยายามที่จะเสนอมาตรการ ควบคุมการแพร่ระบาด เพื่อให้สถานบันเทิงกลับมาเปิดได้ มีการตรวจ ATK ก่อนเข้าใช้บริการ แต่ยังไม่ทันที่สถานบันเทิงจะเปิดได้ก็เกิดการลักลอบเปิด ทำให้เกิดการติดเชื้อแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์ ซึ่งก็ทำให้การพิจารณาเปิดสถานบันเทิงอาจจะต้องชะลอออกไป นอกจากนี้ยังพบที่ศรีสะเกษ เชียงใหม่ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี อุดรธานี

คลัสเตอร์ปีใหม่ยังไม่จบ วันนี้วันที่ 14 มกราคมแล้ว ตัวเลขการติดเชื้อรายใหม่ยังมีการรายงานอย่างต่อเนื่อง วันนี้มีรายงานการสังสรรค์ปีใหม่ เป็นคลัสเตอร์งานเลี้ยงที่ จ.อุดรธานี กับอำนาจเจริญ ส่วนพิธีกรรมมีการจัดงานบวชที่ลพบุรี เลยเป็นงานบุญ สงขลาเป็นงานแต่งงาน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงมาจากการเดินทางข้ามพื้นที่จากพื้นที่เสี่ยงและมีการรับประทานอาหารร่วมกัน

นอกจากนี้ คลัสเตอร์ที่มีการระบาดหลังปีใหม่จะมีการระบาดในโรงงานและสถานประกอบการ วันนี้มีรายงาน 10 ราย ของ ต.นาดี อ.เมือง จ.อุดรธานี สมุทรปราการ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ร้อยเอ็ด

คลัสเตอร์ปีใหม่โผล่ต่อเนื่อง บริษัท-รง.หละหลวมตรวจ ATK

“ที่มีการรายงานคือพนักงานกลับจากปีใหม่ กลับจากงานบุญ และกลับเข้าที่ทำงานโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรการของบริษัท ซึ่งหลายบริษัทก็ทำได้ดีอย่างยิ่ง อย่างธุรกิจประกอบรถยนต์ เช่น โตโยต้า มีการจัดการอย่างเข้มข้นในการให้พนักงานตรวจ ATK ก่อนเข้าปฏิบัติงาน แต่ในบริษัทที่พบการระบาดเป็นคลัสเตอร์บางแห่งมีการหละหลวมมาตรการ ไม่มีการตรวจ ATK หรือเมื่อมีการเจ็บป่วยแล้ว ไม่กักตัวเอง” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว และว่า 

ดังนั้นหากสงสัยว่าตนเองไปในพื้นที่เสี่ยง มีอาชีพเสี่ยง มีประวัติเสี่ยง เพียงแค่สงสัยขอให้รีบตรวจด้วย ATK จากนั้นก็ดำเนินการกักตัว ไม่ไปที่ทำงาน หากมีผลบวกก็เข้าระบบการรักษา เพราะตอนนี้ระบบการรักษามีความพร้อมอย่างสูงสุด ทั้ง Home Isolation และ Community Isolation คลินิกเอกชน คลินิกชุมชน โรงพยาบาลรัฐและเอกชน ขึ้นอยู่กับระดับอาการของผู้ป่วย

ครึ่งเดือนมกราคม แห่เข้าไทยแสนราย ติดโควิด 3,424 คน

ส่วนข้อสอบถามเรื่องเกณฑ์การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวว่า ยังเป็นไปตามเดิม โดยวันแรกที่เดินทางเข้ามาจะต้องตรวจด้วย RT-PCR ก่อนเข้ามาในไทย เป็นมาตรการที่ใช้ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ และเมื่อมาถึงวันแรกก็ต้องตรวจด้วย RT-PCR ซ้ำอีกครั้งทันที ส่วมาตรการที่เพิ่มเข้ามาในวันที่ 5 และ 6 จำเป็นต้องตรวจครั้งที่สองด้วย ไม่ได้มีการยกเลิก และมีการติดตามผู้ที่เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่องและติดตามได้ 100%

สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศล่าสุดนับตั้งแต่วันที่ 1-14 มกราคม 2565 มีผู้เดินทางเข้ามา 103,665 คน พบติดเชื้อโควิด 3,424 ราย คิดเป็น 3.30% โดยผู้ที่เดินทางเข้ามาและพบการติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ นักท่องเที่ยวจากออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา สวีเดน เยอรมนี โดยกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการกำกับติดตามนักท่องเที่ยวเหล่านี้ตลอด 24 ชั่วโมง

“สรุปการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร หลังวันที่ 15 มกราคม ยังสามารถทำได้ สำหรับคนที่ลงทะเบียนไว้แล้ว จนกว่าจะมีการประชุมของ ศบค.ชุดใหญ่ในครั้งถัดไปถึงจะมีการพิจารณาเพิ่มเติม” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวในตอนท้าย