ศบค.เตือนคน 3 กลุ่ม ติดโอมิครอนถึงตาย ชลบุรี-กทม. ยอดป่วยใหม่พุ่ง

COVID-19
FILE PHOTO : REUTERS/Kirill Braga

ศบค.กางข้อมูล WHO ออกโรงเตือนคน 3 กลุ่ม เสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิตจากการติดเชื้อโอมิครอน ขณะที่การติดเชื้อโควิดในประเทศ ชลบุรี เบียดกทม.ขึ้นท็อป 10 ป่วยใหม่สูงสุด จี้เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ป้องกัน ด้านรัสเซียเดินทางเข้าไทยมากที่สุด เผยฟิลิปปินส์ห้ามประชาชนที่ไม่ฉีดวัคซีนใช้บริการขนส่งสาธารณะในกรุงมะนิลา หวังสกัดการแพร่ระบาดของโควิดจากการเดินทาง

วันที่ 13 มกราคม 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล(ศบค.) รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 มีผู้ป่วยรายใหม่ 8,167 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 77,022 ราย หายป่วยแล้ว 39,486 ราย เสียชีวิตสะสม 185 ราย

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,300,457 ราย หายป่วยแล้ว 2,207,980 ราย เสียชีวิตสะสม 21,883 ราย

ส่วนผู้มาขอรับวัคซีน ณ วันที่ 12 มกราคม 2565 มีผู้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 49,703 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 116,093 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 333,559 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 12 มกราคม 2565 มีผู้รับวัคซีนสะสมทั้งหมด 107,771,259 โดส

  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 51,642,575 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 47,172,252 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 8,956,432 ราย

ยอดป่วยใหม่ชลบุรีเบียดแซงกทม.อีกครั้ง

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดวันนี้ อันดับ 1 เป็นชลบุรี ที่ขยับขึ้นมาแซงหน้ากรุงเทพมหานคร (กทม.)จำนวน 832 ราย ส่วนกทม.อยู่อันดับ 2 จำนวน 790 ราย สมุทรปราการ 625 ราย นนทบุรี 468 ราย ภูเก็ต 381 ราย ขอนแก่น 337 ราย อุบลราชธานี 281 ราย นครศรีธรรมราช 216 ราย ปทุมธานี 184 ราย และอันดับ 10 เชียงใหม่ 176 ราย ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ป่วยรายใหม่เกิน 100 รายล่าสุดมีด้วยกัน 19 จังหวัด

ส่วนผู้เสียชีวิต 14 รายในวันนี้เป็นชาย 8 ราย หญิง 6 ราย โดยเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 10 ราย และมีโรคเรื้อรัง 3 ราย และไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 1 ราย ทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วน 93% ของผู้เสียชีวิตในวันนี้ และปัจจัยเสี่ยงยังมาจากโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคไต เป็นต้น

และเมื่อแยกตามพื้นที่จะพบว่ามีผู้เสียชีวิตในกรุงเทพมหานคร 1 ราย นครราชสีมา อุบลราชธานี 4 ราย นครสวรรค์ 1 ราย อุทัยธานี 1 ราย ภาคใต้ 4 ราย แยกเป็นปัตตานี 1 ราย ยะลา 1 ราย สงขลา 1 ราย และสตูล 1 ราย ภาคตะวันออกและภาคกลางรวม 3 ราย แยกเป็นจันทบุรี 1 ราย ชลบุรี 1 ราย และพระนครศรีอยุธยา 1 ราย ขณะที่จังหวัดปริมณฑลวันนี้ไม่มีผู้เสียชีวิต

ต่างประเทศมา 239  ราย รัสเซียเข้าไทยมากสุด

ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 239 รายในวันนี้ 5 อันดับแรกมาจากประเทศรัสเซียมากที่สุด 41 ราย โดยรัสเซียอยู่ในอันดับ 6 ของโลกที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุด และมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา รองลงมาเป็นสหรัฐอเมริกา 27 ราย สหราชอาณาจักร 16 ราย เยอรมนี 15 ราย สวีเดน 14 ราย ส่วนประเทศอื่นเดินทางเข้ามาจำนวน 1-8 ราย

สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม 2565 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 317,525,627 ราย อาการรุนแรง 95,436 ราย รักษาหายแล้ว 262,826,230 ราย และเสียชีวิต 5,530,295 ราย

ส่วนอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับ 1.สหรัฐอเมริกา 64,344,694 ราย 2.อินเดีย 36,312,486 ราย 3.บราซิล  22,718,606 ราย 4.สหราชอาณาจักร 14,862,138 ราย 5.ฝรั่งเศส  12,934,982 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 26 ของโลก จากจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,300,457 ราย

เตือน 3 กลุ่มเสี่ยงติดโอไมครอนถึงตาย

ศบค.ยังรายงานประเด็นที่น่าสนใจในต่างประเทศว่า ประเทศฟิลิปปินส์ได้ออกประกาศห้ามประชาชนที่ไม่ฉีดวัคซีนเข้าใช้บริการขนส่งสาธารณะในกรุงมะนิลา หลังจากประธานาธิบดีโรดริโด ดูเดอร์เต มีคำสั่งให้ใช้มาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการเดินทางเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือนว่า ไวรัส-19 สายพันธุ์โอมิครอน(Omicron) อาจก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยจนเสียชีวิตได้ในกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว

โดยนายแพทย์ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายโครงการฉุกเฉินของ WHO กล่าวว่า คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะป่วยหนักและเสียชีวิตจากโอมิครอน ในทางกลับกันคนที่ฉีดวัคซีนแล้วจะมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย หากติดเชื้อโอมิครอน

ขณะที่หัวหน้าด้านเทคนิคของ WHO ด้านการรับมือโควิด-19 กล่าวว่า ผู้สูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัวจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเสียชีวิตจากโอมิครอนเมื่อเทียบกับคนกลุ่มอื่นๆ อัตราการเสียชีวิตจากโอมิครอนจะเพิ่มขึ้นตามอายุ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากบางประเทศที่ชี้ว่า คนที่มีโรคประจำตัวอย่างน้อย 1 โรค จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการป่วยจนเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิต

ตัวเลขฉีดวัคซีนเข็ม 3 กลุ่มเสี่ยงยังน้อย

ส่วนตัวเลขผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนในประเทศล่าสุด ศบค.รายงานว่า กลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้ว 4.9 ล้านราย(เป้าหมาย 6.3 ล้านราย)  คิดเป็นร้อยละ 78.1 ส่วนเข็ม 2 อยู่ที่ 4.6 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 73.1 ส่วนเข็ม 3 อยู่ที่ 8.7 แสนราย คิดเป็นร้อยละ 13.8 เท่านั้น

ส่วนผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีนเข็ม1 ไปแล้ว 8.2 ล้านราย(เป้าหมาย 10.9 ล้านราย) คิดเป็นร้อยละ 75.9 เข็มที่ 2 ฉีดไปแล้ว 7.5ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 69.2 ส่วนเข็มที่ 3 ฉีดไปแล้ว 1.1 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 10.6

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง กลุ่มผู้สูงอายุ หรืออาจรวมถึงกลุ่มประชาชนทั่วไปด้วย อัตราส่วนของการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ยังถือว่าน้อย โดยมีการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ไปคิดเป็นร้อยละ 13.8,10.6 และ 12.2 เท่านั้น (ตามตาราง) ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขกำลังเร่งรณรงค์ให้ประชาชน ทุกกลุ่มที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วมารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็ม 3 กันให้มากขึ้น


ขณะที่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นกลุ่มเดียวที่มีการฉีดวัคซีนเข็ม 1,2 และ 3 ครบ 100% หรือเกินกว่า 100% ไปแล้ว