บวชหนีคดีทำได้หรือไม่ ? เปิดคุณสมบัติผู้บวชเป็นพระสงฆ์

เปิดคุณสมบัติผู้บวชพระ มีคดีอาญา อุปสมบทได้หรือไม่ ?
ภาพจาก pixabay : ใช้เพื่อเป็นรูปประกอบข่าวเท่านั้น

ผู้มีคดีอาญาติดตัวอุปสมบทได้หรือไม่ ชาวเน็ตตั้งคำถามกรณีตำรวจขับบิ๊กไบก์เฉี่ยวชนหมอกระต่ายเสียชีวิต 

วันที่ 25 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย เสียชีวิตหลังถูกรถจักรยานยนต์บิ๊กไบก์เฉี่ยวชน บริเวณทางม้าลาย หน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท โดยผู้ขับขี่บิ๊กไบก์คือ สิบตำรวจตรี นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กก.อารักขา บก.อคฝ. ซึ่งต่อมาถูกแจ้งข้อหา ขับรถประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต และข้อหาอื่น ๆ รวม 7 ข้อหา

ต่อมา ส.ต.ต.นรวิชญ์ และ ร.ต.ต.นิคม บัวดก ตำรวจ สน.ปทุมวัน ซึ่งเป็นพ่อ ได้ข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดปริวาสราชสงคราม ซ.พระราม 3 ซอย 30 ถ.พระราม 3 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพฯ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับหมอกระต่าย โดยยังไม่มีกำหนดการสึก

เรื่องนี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียล โดยมีการตั้งคำถามกับวงการพุทธศาสนาว่า ผู้ที่เป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาสามารถอุปสมบทเป็นพระสงฆ์ได้หรือไม่

คุณสมบัติห้ามอุปสมบท

ในเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติห้ามอุปสมบทนี้ มหาเถรสมาคมได้ตรากฎมหาเถรสมาคมหลายฉบับ ซึ่งรวมทั้ง กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2536) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ ในข้อ 14 ของกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 กำหนดว่า พระอุปัชฌาย์ต้องงดเว้นการให้บรรพชาอุปสมบทแก่คนต้องห้ามเหล่านี้

  1. คนทำความผิดหลบหนีอาญาแผ่นดิน
  2. คนหลบหนีราชการ
  3. คนต้องหาในคดีอาญา
  4. คนเคยถูกตัดสินจำคุกโดยฐานเป็นผู้ร้ายสำคัญ
  5. คนถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระศาสนา
  6. คนมีโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ เช่น วัณโรคในระยะอันตราย
  7. คนมีอวัยวะพิการจนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได้

ในข้อ 16 ของกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 กำหนดว่า เจ้าอาวาสผู้เป็นพระอุปัชฌาย์จะรับผู้ใดบวช ต้องมีผู้รับรองและให้ผู้รับรองของผู้นั้น นำผู้จะบวชมามอบตัว พร้อมด้วยใบสมัคร และใบรับรองผู้จะบรรพชาอุปสมบท ซึ่งจะขอได้จากพระอุปัชฌาย์ ก่อนถึงวันบรรพชาอุปสมบทไม่น้อยกว่า 15 วัน

โดยให้เจ้าอาวาสผู้เป็นพระอุปัชฌาย์สอบสวนผู้จะมาบวช ว่าผู้จะมาบวชไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามข้อ 13 และข้อ 14 ดังกล่าว ซึ่งปรากฏตามข้อปฏิญญาในใบสมัครขอบรรพชาอุปสมบท และสอบถามผู้รับรองตามข้อรับรองผู้จะบรรพชาอุปสมบท จนเป็นที่เข้าใจถูกต้องตรงกันดีแล้ว จึงรับใบสมัครขอบรรพชาอุปสมบท และใบรับรอง แล้วจึงดำเนินการฝึกซ้อมผู้จะบวชต่อไป

เจ้าคุณประสารชี้ บวช ส.ต.ต. ถูกปรับอาบัติหรือไม่

มติชน รายงานว่า วันที่ 25 มกราคม 2565 พระเมธีธรรมาจารย์ หรือ เจ้าคุณประสาร จนฺทสาโร เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ศพศ.) ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีดังกล่าวพระอุปัชฌาย์จะต้องพิจารณา 3 ปัจจัยประกอบกัน คือ

  1. พระวินัยตามพระไตรปิฎกเล่ม 4 ซึ่งได้กำหนดเรื่องข้อห้ามและคุณสมบัติไว้ โดยหนึ่งในนั้น มีเรื่องหนีคดีอาญาแผ่นดินหรือไม่
  2. พระอุปัชฌาย์ จะพิจารณาจากเจตนาของผู้บวช และ 3.สังคมพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร

“การบวช เป็นเรื่องของการชำระจิตใจ เป็นเรื่องการมีชีวิตเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ควรเอาเรื่องการบวชมาเป็นวิธีการเพื่อบางอย่าง อยากเห็นการบวชเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริง” พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าว

พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวต่อว่า ในขณะที่เรื่องยังร้อน ยังมีคดีความยังคาราคาซัง ควรดำเนินคดีในฐานะฆราวาสจะเหมาะสมกว่า การบวชเป็นพระนวกคือพระบวชใหม่ ต้องทำกิจสงฆ์มากมาย ต้องบวชทั้งกายและใจ แต่นี่ต้องไปให้ปากคำกับตำรวจ ต้องไปศาล จะมีเวลาในศาสนกิจหรือไม่ เจตนาของการบวช ความเหมาะที่สังคมท้วงติงควรรับฟังไว้

“ในทางพระวินัยมีการตีความเรื่องอาญา หนีอาญาหลายอย่าง ทั้งเห็นว่าบวชได้และไม่ได้ ดังนั้นในสังคมปัจจุบันควรมาดูประเด็นถัดมาคือเรื่องเจตนาของการบวช ความเหมาะสมและกระแสสังคมเป็นองค์ประกอบด้วย” พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าว

ส่วนว่าพระอุปัชฌาย์ จะต้องถูกปรับอาบัติด้วยหรือไม่นั้น พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวว่า ถ้าเป็นกรณีพิพาท ก็เป็นเรื่องที่เจ้าคณะผู้ปกครองระดับสูงขึ้นไป จะต้องพิจารณา แต่ถ้าดูเฉพาะประเด็นหนีคดีอาญา ไม่น่าจะเป็นเหตุให้พระอุปัชฌาย์ถูกปรับอาบัติจากเหตุนี้ได้ เนื่องจากการพิพากษาคดียังไม่ถึงที่สุด จึงน่าจะยังมีเวลาบวชได้

สึกเย็นนี้

ต่อมา ข่าวสด รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 รายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ของช่อง 3 ได้พูดคุยกับพระสถิตบุญวัฒน์ เจ้าคณะเขตยานนาวา ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ที่บวชให้กับพระนรวิชญ์และพระนิคม เผยว่า วานนี้ (24 ม.ค.) เจ้าอาวาสวัดปริวาสราชสงครามโทร.มาหาเพื่อให้ไปประกอบพิธีบวชให้ตำรวจทั้ง 2 นาย โดยใช้คำว่า “ขอให้ช่วยสงเคราะห์” ซึ่งอาตมากับเจ้าอาวาสมีสัมพันธ์อันดีจึงไปบวชให้โดยไม่ได้ถามรายละเอียด

พร้อมกล่าวว่า ถ้ายึดตามเงื่อนไขตามที่กฎมหาเถรสมาคมระบุไว้ ผู้ที่จะมาบวชได้ต้องตรวจสอบประวัติก่อน เพื่อป้องกันบุคคลที่หนีคดีมาบวช รวมถึงผู้ต้องหาที่ต้องคดี เพราะถือว่าไม่เหมาะสม โดยกรณีของพระนรวิชญ์ไม่มีเอกสารได้รับอนุญาตจากหัวหน้างาน แต่ผู้บังคับบัญชายศ พล.ต. เดินทางมารับรองในพิธีด้วยจึงทำพิธีบวชให้

แต่เมื่อเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และเจ้าอาวาสวัดปริวาสฯ ได้รับการติดต่อจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติถึงกรณีที่เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะการบวชที่น่าจะไม่ได้เข้าระบบถูกต้อง จึงได้พูดคุยกับพระนรวิชญ์ เพื่อระงับการบวชหรือสึก ซึ่งพระนรวิชญ์ยินยอมที่จะสึก เบื้องต้นกำหนดไว้ว่า ช่วงเย็นวันนี้จะไปร่วมพิธีศพของผู้เสียชีวิตอีก 1 วัน แล้วจะกลับมาสึกที่วัด แต่ยังคงนุ่งขาวห่มขาวและถือศีล ส่วนพระพ่อจะบวชต่อให้ครบ3 วัน