ยอดตายโควิดอาจพุ่งวันละ 40 รายในอีก 2 สัปดาห์ พีคสุดกลางมีนาคม

ภาพจาก Pixabay

หมอศุภกิจเตือนอีก 2 สัปดาห์ อาจเห็นยอดตายโควิดพุ่งวันละ 40 ราย ไทยยังต้องตรวจหาเชื้อต่อไป ขณะที่กรมควบคุมโรคคาดพีคสุดกลางเดือนมีนาคม

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 มติชนรายงานว่า นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 ในไทยที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงยอดเสียชีวิตที่เริ่มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ว่า สำหรับการติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่เห็น 18,000-19,000 ราย แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ในหลัก 20 ราย หากเราคิดตัวเลขเทียบกันว่า ติดเชื้อ 10,000 ราย เสียชีวิต 20 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.2 ซึ่งอยู่ในอัตราที่ยังต่ำ และสอดคล้องกับทั่วโลก

“เราเชื่อได้เลยว่าหากติดเชื้อหลักหมื่นกว่ารายต่อวัน คนที่ติดเชื้อวันนี้อีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า อาจจะมีตัวเลขเสียชีวิตเพิ่ม 40 กว่าราย ก็เป็นไปได้ เราเห็นตัวเลขเสียชีวิตวันนี้ กับตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน ตัวเลข 2 ตัวนี้ไม่ใช่เวลาเดียวกัน ดังนั้น เราจะเอามาหารรายวันไม่ได้ เพราะตัวเลขติดเชื้อค่อนข้างอัพเดตรายวัน แต่ตัวเลขเสียชีวิตเป็นตัวเลขของคนติดเชื้อเมื่อ 3-4 สัปดาห์ก่อน ไม่ใช่เป็นตัวเลขของคนป่วยวันนี้ แล้วเสียชีวิตวันนี้เลย ฉะนั้น เราจะเห็นตัวเลขเสียชีวิตขึ้นบ้าง เพราะเมื่อ 3-4 สัปดาห์ก่อนเราเริ่มติดเชื้อเพิ่มขึ้น” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีผู้ที่ไม่มีอาการป่วยใด ๆ เลย แต่รู้ตัวว่าติดเชื้อเพราะการตรวจ ATK ก่อนเข้าร่วมกิจกรรม นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ถูกต้อง ส่วนใหญ่จะพบเช่นนั้น แต่ก็จะเร็วเกินไปหากเราจะไปอยู่ในจุดที่ไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้ว อย่างเช่นบางประเทศ

“เช่น สวีเดน ที่ยกเลิกการตรวจแล้ว แต่เรายังไม่กล้าหาญที่จะทำแบบนั้น เพราะคนไทยมีกว่า 60 ล้านคน ติดเชื้อประมาณ 3 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 4-5 เท่านั้น ถือว่ายังน้อยมาก ดังนั้น เราจึงยังต้องตรวจอยู่ แต่หากวันนั้นเราพบว่าอัตราเสียชีวิต ติดเชื้อต่ำจริง ๆ เราก็อาจทำเช่นนั้นได้ เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ที่เราไม่ได้ตรวจทั่วไป แต่หากคนที่มีอาการป่วย ปอดบวม หนักจนเข้าโรงพยาบาล (รพ.) เราก็จะตรวจแล้วรักษา” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ตัวเลขพีคสุดสุดกลางมีนาคม

ขณะที่ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงค์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เป็นลักษณะที่กระจายไปในทุกกลุ่ม ฟุ้งๆ ไปในทุกคลัสเตอร์ ไม่ว่าเป็นในวงครอบครัว สถานที่ทำงาน หรือ เพื่อนฝูง ส่วนใหญ่ติดจากการทำกิจกรรมร่วมกัน รับประทานอาหาร เพราะเป็นช่วงที่มีการถอดหน้ากากอนามัย ขณะที่ โอกาสติดเชื้อจากคนไม่รู้จักแทบไม่มี เพราะไม่มีการพูดคุย หรือ ทานอาหารร่วมกัน ทั้งนี้คาดว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงไม่นิ่งและจะไต่ระดับสูงขึ้นอีก เนื่องจากขณะนี้เริ่มมีการผ่อนคลายและกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นพ.จักรรัฐ กล่าวด้วยว่า อยากให้ประชาชนทำความเข้าใจสถานการณ์การติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นว่า ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่ควรติดตามดูจำนวน คนที่ป่วยหนัก และใส่ท่อช่วยหายใจ เพราะกลุ่มนี้เหล่านี้ คือคนที่มีอาการต้องนอนรักษาตัวในรพ.เท่านั้น ขณะเดียวกัน เมื่อมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะเห็นว่า ตัวเลขแรงงานลักลอบเข้าเมืองเพื่อมามีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็มีมากขึ้น ดังนั้นนายจ้าง ต้องเร่งนำแรงงานที่เข้ามารับวัคซีน ให้ครบเพื่อป้องกันการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามคาดว่า ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อน่าจะสูงสุดราวกลางเดือน มี.ค. แต่หากทุกคนช่วยกันระวังตัว โอกาสป่วยติดเชื้อก็จะลดลงได้