เปิดสถิติ “โรคมะเร็ง” ในคนไทย ดันยอดป่วยใหม่ทะลุแสนรายต่อปี

มะเร็ง ผู้ป่วย

โรคมะเร็ง เป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยมาแล้วหลายชีวิต และยังมีอัตราการเกิดโรคที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดพบว่า มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ถึงแสนราย และเสียชีวิตเฉียดหลักแสนเช่นกัน 

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปข้อมูลจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทย และชนิดมะเร็งที่เป็นสาเหตุในการเสียชีวิตมากที่สุด

มะเร็งที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุการตายในคนไทย

คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งรายใหม่ วันละ 381 คน หรือ 139,206 คนต่อปี (ข้อมูลปี 2561 จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ) และเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง วันละ 230 คน หรือ 84,073 คนต่อปี (ข้อมูลปี 2562 จากกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข)

มะเร็งที่พบบ่อยมากที่สุดในคนไทย 5 อันดับ ประกอบด้วย มะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก

แต่หากแบ่งออกตามเพศชายหรือหญิงจะพบว่า โรคมะเร็งที่พบในชายไทย (ข้อมูลปี 2563) พบวันละ 173.1 คนต่อประชากร 100,000 คน (อันดับที่ 16 ของทวีปเอเชีย) โดย 5 ชนิดมะเร็งที่พบในชายไทยมากที่สุด ประกอบด้วย

  • มะเร็งตับและท่อน้ำดี : 33.2
  • มะเร็งปอด : 22.8
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง : 18.7
  • มะเร็งต่อมลูกหมาก : 7.7
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง : 6.6

ส่วนโรคมะเร็งที่พบในหญิงไทย (ข้อมูลปี 2563) พบวันละ 159 คนต่อประชากร 100,000 คน (อันดับที่ 15 ของทวีปเอเชีย) โดย 5 ชนิดมะเร็งที่พบในหญิงไทยมากที่สุด ประกอบด้วย

  • มะเร็งเต้านม : 34.2
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง : 13.3
  • มะเร็งตับและท่อน้ำดี : 12.2
  • มะเร็งปอด : 11.5
  • มะเร็งปากมดลูก : 11.1

สถิติป่วยมะเร็งปี 2563

ข้อมูลทะเบียนมะเร็ง ระดับโรงพยาบาล พ.ศ. 2563 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รายงานจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในสถาบันมะเร็งแห่งชาติแยกตามเขตบริการสุขภาพ พ.ศ. 2563 จำนวนทั้งสิ้น 2,890 ราย ดังนี้

  • เขตสุขภาพที่ 1 ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา ลำปาง และลำพูน : 57 ราย
  • เขตสุขภาพที่ 2 ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ตาก พิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ : 69 ราย
  • เขตสุขภาพที่ 3 ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ชัยนาท นครสวรรค์ พิจิตร และอุทัยธานี : 78 ราย
  • เขตสุขภาพที่ 4 ได้แก่ จังหวัดนครนายก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง : 550 ราย 
  • เขตสุขภาพที่ 5 ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี : 476 ราย
  • เขตสุขภาพที่ 6 ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง สมุทรปราการ และสระแก้ว : 396 ราย 
  • เขตสุขภาพที่ 7 ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด : 53 ราย
  • เขตสุขภาพที่ 8 ได้แก่ จังหวัดเลย นครพนม บึงกาฬ สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี : 51 ราย
  • เขตสุขภาพที่ 9 ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ : 107 ราย
  • เขตสุขภาพที่ 10 ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี : 65 ราย 
  • เขตสุขภาพที่ 11 ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎร์ธานี : 57 ราย
  • เขตสุขภาพที่ 12 ได้แก่ จังหวัดตรัง นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง สงขลา ยะลา และสตูล : 17 ราย 

ส่วนจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีทั้งสิ้น 823 ราย พบที่เขตราษฎร์บูรณะมากที่สุด 36 ราย เป็นชาวต่างชาติ 63 ราย ไม่ทราบที่อยู่ 28 ราย

อายุเท่าไรควรตรวจมะเร็ง

ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่แตกต่างกันแต่ละประเภท โดยมีมะเร็งที่เพศหญิง และเพศชาย ควรได้รับการตรวจคัดกรองตามช่วงอายุ ดังนี้

  • มะเร็งปาดมดลูก : เพศหญิง ควรได้รับการตรวจตั้งแต่อายุ 21 ปี ขึ้นไป และตรวจทุก ๆ 3 ปี
  • มะเร็งเต้านม : ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป และตรวจทุกปี
  • มะเร็งต่อลูกหมาก : ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป และตรวจทุกปี แต่หากผู้ที่มีครอบครัวแล้วให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปี
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ : ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 50 ปี ในทุกปี และทุก 5 ปี หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้ให้เริ่มตรวจที่อายุของญาติที่พบโรคลบด้วย 10 ปี โดยจะต้องเริ่มตรวจไม่ช้ากว่าอายุ 50 ปี

อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ระยะโรค ชนิดเซลล์มะเร็ง สามารถผ่าตัดก้อนมะเร็งออกจากร่างกายได้หรือไม่ อายุ และที่สำคัญคือ สุขภาพของผู้ป่วย