ประเทือง เอมเจริญ ศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิต วัย 87 ปี

ประเทือง เอมเจริญ
นายประเทือง เอมเจริญ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรม

นายประเทือง เอมเจริญ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ เสียชีวิต ด้วยโรคโควิด-19 รวมอายุ 87 ปี 

วันที่ 7 มีนาคม 2565 มติชนรายงานว่า นายประเทือง เอมเจริญ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรม พ.ศ. 2548 เสียชีวิต เมื่อเวลาประมาณ 04.00 น. เนื่องจากป่วยเป็นโรคโควิด-19 สิริรวมอายุ 87 ปี

โดยทายาทจัดการทำพิธีฌาปนกิศพ ณ วัดนิมมานรดี วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565 สำหรับเวลาที่แน่นอนต้องรอการประสานยืนยันจากทางวัด และการจัดงานดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

สำหรับ นายประเทือง เอมเจริญ เกิดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2478 ที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาจากโรงเรียนเทศบาลวัดสุทธาราม สำเหร่ ธนบุรี ศึกษาศิลปะด้วยตนเอง สร้างผลงานมากมาย ได้รับปริญญากิติมศักดิ์ สาขาจิตรกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลคลองหก เมื่อ พ.ศ. 2439

จบปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิติมศักดิ์ สาขาศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เมื่อ พ.ศ. 2541 รวมถึงปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ สาขาศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ใน พ.ศ. 2545

นายประเทือง เอมเจริญ นับเป็นศิลปินที่สร้างผลงานศิลปะอย่างสืบเนื่องยาวนานตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี และได้ศึกษาศิลปะด้วยตนเองอย่างมุ่งมั่น อดทน ด้วยการศึกษาค้นคว้างานทางศิลปะอย่างหนัก ศึกษาปรัชญาชีวิตทั้งศิลปะของอินเดีย จีน และศึกษาธรรมชาติโดยเฉพาะดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพลังแห่งแสงสว่าง

จนเกิดมุมมองในการสร้างสรรค์งานศิลปะที่เป็นรูปแบบของตนเอง มองโลกในแง่ดี เชื่อในคุณความดี สร้างสรรค์ผลงานศิลปะในรูปแบบการผสมผสานระหว่างสิ่งที่รับรู้จากธรรมชาติ กับสิ่งที่มีอยู่ในตัวเขาทำให้ถ่ายทอดความงามที่มีอยู่ในธรรมออกมาอย่างมีพลังซึ่งได้กลายมาเป็นผลงานชุดจักรวาลอันมีชื่อเสียง

นอกจากนี้ นายประเทือง ยังสร้างศิลปะสถานเอมเจริญ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปะและเผยแพร่ผลงานศิลปะของศิลปินต่าง ๆ แก่ประชาชนผู้สนใจได้เข้าชมและศึกษางานด้านศิลปะ

ทั้งยังได้รับเกียรติเป็นประธานเปิดงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นศิลปินรับเชิญเขียนภาพเพื่อการกุศลมากมาย เป็นผู้ถ่ายทอดงานศิลปะให้แก่ผู้สนใจตามโรงเรียน มหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน จึงได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2548

รางวัลเกียรติยศ

2510 – รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน ประเภทจิตรกรรม

2511 – รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง ปรเภทจิตรกรรม

2511 – รางวัลการประกวด องค์การโทรศัพท์สากล ไอที

2517 – รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง ประเภทจิตรกรรม

2519 – รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง ประเภทจิตรกรรม

2538 – โล่เกียรติคุณบริจาคช่วยปฏิสังขรณ์โบราณสถานที่เสียหายจากอุทกภัยน้ำท่วม สมาคมเผยแพร่และส่งเสริมศิลปะวัตถุ

2539 – รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) สำนักงานคณะกรรมาการวัฒนธรรมแห่งชาติ

2541 – โล่ขอบพระคุณในโอกาศให้ความร่วมมือสนับสนุนการจัดทำกิจกรรม “วาดวิถีไทย” Phonelink

2542 – โล่เกียรติคุณในการอนุเคราะห์ภาพเขียนเพื่อจัดพิมพ์บัตรอวยพรปีใหม่ ประจำปี 2542 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

2543 – โล่เกียรติคุณในฐานะผู้ให้การสนับสนุนการจัดงานแสงสีสร้างสรรค์ ทบวงมหาวิทยาลัย

2544 – ประกาศเกียรติคุณด้านจิตรกรรม พิพิธภัณฑ์ลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา


(ข้อมูลจาก มูลนิธิศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9)