กทม. สรุป 6 เดือน “PM 2.5 แซนด์บ็อกซ์” จับ-ปรับรถควันดำ 1.7 ล้าน

กทม. ยกระดับมาตรการเชิงรุก แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากต้นเหตุ 6 เดือน ผนึกรัฐจับ-ปรับรถยนต์ควันดำ 1.7 ล้านบาท จ่อใช้มาตรการเกณฑ์วัดควันดำใหม่ 13 เม.ย. 65 ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”

วันที่ 29 มีนาคม 2565 นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กทม. ได้ผลักดันแผนป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. ปี 2565 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”

โดยได้ยกระดับมาตรการเชิงรุก เพื่อควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด อาทิ รถยนต์ควันดำ และได้ร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และกรมควบคุมมลพิษ กวดขัน ตรวจจับ และบังคับใช้กฎหมายกับรถทุกประเภทที่ปล่อยควันดำใน กทม. อย่างเข้มงวด เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 จากยานพาหนะตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจุดตรวจวัดควันดำขาเข้า- ขาออกตามถนนสายหลักต่าง ๆ เพิ่มความเข้มข้นการตรวจสอบและระงับการใช้รถที่มีควันดำจนกว่าจะนำรถไปปรับปรุงแก้ไข

รวมถึงรถโดยสารสาธารณะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลดำเนินการตรวจวัดค่าไอเสียต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานใหม่ของกรมควบคุมมลพิษก่อนนำออกมาวิ่งให้บริการประชาชน ปรับปรุงเครื่องยนต์ของรถให้มีประสิทธิภาพมีค่าไอเสียที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

และได้ประชาสัมพันธ์ผู้ขับขี่ให้ทราบเกณฑ์มาตรฐานควันดำใหม่ที่บังคับใช้ในวันที่ 13 เมษายน 2565 นี้ เพื่อให้ประชาชนดูแลบำรุงรักษารถยนต์ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ทั้งนี้ กทม. ได้สั่งหน่วยงานในสังกัดบำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้เกิดควันดำ ตรวจสอบค่ามลพิษจากปลายท่อไอเสีย และพิจารณาลดการใช้รถยนต์เครื่องดีเซล หันมาใช้รถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี รายงานของสำนักการคลัง โดยกองโรงงานช่างกลที่ได้จัดหน่วยบริการตรวจสภาพรถยนต์เคลื่อนที่เพื่อลดมลพิษ PM2.5 ซึ่งเป็นมาตรการเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ตั้งแต่ 19 ต.ค.64 – 25 ก.พ.65 ได้ออกหน่วยบริการไปยังหน่วยงานและสำนักงานเขตต่าง ๆ จำนวน 29 หน่วยงาน

เบื้องต้น ให้บริการตรวจรถยนต์แล้วทั้งสิ้น 1,273 คัน ไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 73 คัน สามารถแก้ไขในระหว่างการตรวจวัด จำนวน 60 คัน ส่วนอีก 13 คัน ไม่สามารถแก้ไขระหว่างการตรวจวัดได้ จึงแนะนำให้หน่วยงานเจ้าของรถส่งรถเข้ากองโรงงานช่างกลตรวจซ่อมแก้ไข

ด้านเจ้าหน้าที่เทศกิจกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ กวดขัน และห้ามใช้รถยนต์ควันดำในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงการตั้งจุดตรวจ กวดขันรถบรรทุกดิน หรือวัสดุอื่นใดที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละออง และรถบรรทุกที่เข้า – ออก บริเวณสถานที่ก่อสร้างให้มีการป้องกันมิให้วัสดุที่บรรทุกตกหล่น รั่วไหล ปลิว ฟุ้ง กระจาย และล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกก่อนออกจากสถานที่ก่อสร้างทุกครั้ง

โดยระหว่างเดือน ม.ค. – ธ.ค.64 ได้ทำการจับ – ปรับ ผู้ฝ่าฝืนก่อให้เกิดฝุ่นละออง หรือไม่ร่วมกันป้องกันการเกิดฝุ่นละออง จำนวนทั้งสิ้น 772 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 1,743,500 บาท

นอกจากนี้ กทม. ได้ขอความร่วมมือประชาชน “ไม่ขับ…ช่วยดับเครื่อง” และใช้รถเท่าที่จำเป็น ตลอดจนการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบและบำรุงรักษารถยนต์/เครื่องยนต์ ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน ไม่ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานกำหนด เพื่อลดการเกิดฝุ่น PM2.5

การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในทุกมิติ และมาตรการที่กรุงเทพมหานครดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษทางอากาศ กำชับให้ผู้รับเหมาก่อสร้างดูแลพื้นที่และปฏิบัติตามมาตรการที่ระบุไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ระยะก่อสร้างอย่างเคร่งครัดและเร่งคืนผิวจราจร

พร้อมกับกวดขัน ตรวจตราและควบคุมไม่ให้มีการเผาในที่โล่งทุกประเภท โดยขอความร่วมมือประชาชนงดการเผาในที่โล่ง พร้อมประสานจังหวัดปริมณฑลเพื่อเฝ้าระวังไม่ให้มีการเผา และเพิ่มความถี่ในการฉีดล้างใบไม้ ฉีดล้างและดูดฝุ่นถนน

ตลอดจนการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในระยะยาว อาทิ กำหนดและบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษจากรถยนต์ใหม่ตามยูโร 5/6 เร่งพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะหลักให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร สนับสนุนการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในการเดินทาง ผลักดันให้ผู้ประกอบการผลิตน้ำมันดีเซลลดสารกำมะถันให้เหลือไม่เกิน 10 ppm เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน