LRT บางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ รถไฟฟ้า “สายสีเงิน” งบบานหมื่นล้าน

LRT บางนา-สุวรรณภูมิ

LRT บางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ รถไฟฟ้า “สายสีเงิน” โซนกรุงเทพฯตะวันออก งบบานหมื่นล้าน-ลงทุนขยับเป็น 3.6 หมื่นล้าน

เปิดพับลิกเฮียริ่งครั้งที่ 2 ก่อนสงกรานต์เรียบร้อยแล้ว สำหรับเมกะโปรเจ็กต์ระบบรางเมืองกรุง

โดย “ชาตรี วัฒนเขจร” รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาสรุปผลการศึกษาโครงการงานจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ “โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (LRT-Light Rail Transit) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ”

ในที่ประชุมมีการตอบคำถามถึงชื่อเส้นทาง ได้รับคำตอบเบื้องต้นว่า จะใช้สัญลักษณ์ “รถไฟฟ้าสายสีเงิน” เพื่อให้ล้อไปกับรถไฟฟ้าสายสีทอง ไอคอนสยาม ซึ่งเป็นสัมปทานของกรุงเทพมหานคร

เฟส 1 บางนา-ธนาซิตี้

ทีมที่ปรึกษาโครงการนำเสนอผลสรุปการศึกษาข้อมูลโครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้ โครงการระบบรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีทั้งหมด 14 สถานี เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างพื้นที่กรุงเทพฯ กับจังหวัดสมุทรปราการ

โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 จากแยกบางนา-ธนาซิตี้ จำนวน 12 สถานี ได้แก่ 1.สถานีบางนา 2.สถานีประภามนตรี 3.สถานีบางนา-ตราด 17 4.สถานีบางนา-ตราด 25 5.สถานีวัดศรีเอี่ยม 6.สถานีเปรมฤทัย 7.สถานีบางนา-ตราด กม.6

8.สถานีบางแก้ว 9.สถานีกาญจนาภิเษก 10.สถานีวัดสลุด 11.สถานีกิ่งแก้ว และ 12.สถานีธนาซิตี้ ระยะทาง 14.6 กิโลเมตร

ระยะที่ 2 จากธนาซิตี้-สุวรรณภูมิใต้ จำนวน 2 สถานี ได้แก่ สถานีมหาวิทยาลัยเกริก และสถานีสุวรรณภูมิใต้ ระยะทาง 5.1 กิโลเมตร

สถานีประเภท A-B-C

โดยโครงการ LRT บางนา-สุวรรณภูมิ แบ่งรูปแบบของสถานีไว้ 3 รูปแบบ เริ่มจาก “ประเภท A” สถานียกระดับที่รองรับด้วยเสาเดี่ยว

มีจำนวน 10 สถานี ได้แก่ 1.สถานีประภามนตรี 2.สถานีบางนา-ตราด 17 3.สถานีวัดศรีเอี่ยม 4.สถานีเปรมฤทัย 5.สถานีบางนา-ตราด 6 6.สถานีบางแก้ว 7.สถานีวัดสลุด 8.สถานีกิ่งแก้ว 9.สถานีมหาวิทยาลัยเกริก 10.สถานีสุวรรณภูมิใต้

“ประเภท B” สถานียกระดับที่รองรับด้วยเสาคู่ จะก่อสร้างในกรณีที่ไม่สามารถวางตำแหน่งเสาเดี่ยวได้ โครงการจำเป็นต้องออกแบบสถานีให้รองรับด้วยโครงสร้างเสาคู่

มีจำนวน 3 สถานี ได้แก่ 1.สถานีบางนา-ตราด 25 2.สถานีกาญจนาภิเษก 3.สถานีธนาซิตี้

“ประเภท C” สถานีระดับดิน จะออกแบบตามข้อจำกัดด้านกายภาพของพื้นที่ โดยชั้นจำหน่ายตั๋วอยู่ระดับดิน สามารถเดินเชื่อมกับสถานีบางนาของโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ด้วยสะพานลอยยกระดับ (Skywalk) มีจำนวน 1 สถานีที่สถานีบางนา

ค่าโดยสาร 14.4-45.6 บาท

สำหรับรูปแบบของการพัฒนาโครงการ ออกแบบเป็นรถไฟฟ้ารางเบา ขนาดราง 1.435 เมตร มีระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางไป-กลับ 1 ชั่วโมง สามารถรองรับผู้โดยสารประมาณ 15,000-30,000 คน/ชั่วโมง

ส่วนอัตราค่าโดยสาร กำหนดให้ค่าโดยสารในปีเปิดให้บริการซึ่งตามแผนกำหนดเปิดใช้ในปี 2572 มีอัตราค่าแรกเข้า 14.4 บาท และเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 2.6 บาท/กิโลเมตร มีเพดานค่าโดยสารสูงสุด 45.6 บาท

จากการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารจะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการในปี 2572 ที่เปิดให้บริการ 82,695 คน-เที่ยว/วัน และประเมินว่าภายในปี 2576 จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 138,744 คน-เที่ยว/วัน

ทั้งนี้ ปี 2578 กรณี “AOT-บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)” เปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ คาดว่ามีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 165,363 คน-เที่ยว/วัน

PPP ร่วมลงทุน 3 รูปแบบ

สำหรับรูปแบบการลงทุน โครงการ LRT บางนา-สุวรรณภูมิ ได้ดำเนินการวิเคราะห์และศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนและเอกชนที่เหมาะสมในการดำเนินงานโครงการ เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP-Public Private Partnership

โดยแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้ 1.PPP Net Cost ในช่วงลงทุนก่อสร้าง รัฐเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อให้เอกชนก่อสร้างงานโยธาของโครงการทั้งหมด โดยเอกชนเป็นผู้ซื้อรถไฟฟ้าและก่อสร้างงานระบบ

ส่วนช่วงดำเนินการและบำรุงรักษา เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ และการลงทุนอื่น ๆ ที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับโครงการ โดยรัฐให้สิทธิแก่เอกชนเป็นผู้รับรายได้และเอกชนจ่ายค่าสัมปทานหรือส่วนแบ่งของรายได้แก่รัฐ

2.PPP Gross Cost ในช่วงลงทุนก่อสร้าง รัฐเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อให้เอกชนก่อสร้างงานโยธาของโครงการทั้งหมด โดยเอกชนเป็นผู้ซื้อรถไฟฟ้าและก่อสร้างงานระบบ ส่วนช่วงดำเนินการและบำรุงรักษา

โดยเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ และการลงทุนอื่นที่จำเป็น ส่วนรัฐเป็นผู้รับรายได้ผ่านเอกชนและเป็นผู้กำหนดจ่ายผลประโยชน์แก่เอกชนในรูปแบบค่าจ้าง ตามระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน

3.PPP Modified Gross Cost ในช่วงลงทุนก่อสร้าง รัฐเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อให้เอกชนก่อสร้างงานโยธาของโครงการทั้งหมด เอกชนเป็นผู้ซื้อรถไฟฟ้าและก่อสร้างงานระบบ ส่วนช่วงดำเนินงานและบำรุงรักษา

โดยเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ และการลงทุนอื่นที่จำเป็น รัฐเป็นผู้รับรายได้ผ่านเอกชนและกำหนดจ่ายผลประโยชน์แก่เอกชนในรูปแบบค่าจ้าง ตามระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุนและได้รับผลตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมภายใต้กลไกการแบ่งผลประโยชน์เพิ่มเติมที่ได้ตกลงกัน

สร้างปี’68-เปิดใช้ปี’72

ขั้นตอนหลังจากนี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะดำเนินการจัดส่งรายงานสรุปผลการศึกษาและรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมของโครงการนำเสนอกระทรวงมหาดไทยพิจารณาให้ความเห็นชอบ จากนั้นเตรียมนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติโครงการต่อไป คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี

ส่วนขั้นตอนการจัดทำเอกสารร่วมลงทุนและคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน คาดว่าใช้เวลา 1.5 ปี จากนั้นขั้นตอนการก่อสร้างและทดสอบระบบใช้เวลา 4 ปี ระหว่างปี 2568-2571 ตามแผนคาดว่าโครงการจะสามารถเปิดให้บริการในระยะที่ 1 ได้ในปี 2572

ปรับเงินลงทุนเพิ่ม 1 หมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า โครงการรถไฟฟ้า LRT บางนา-สุวรรณภูมิ มีการบรรจุแผนร่วมลงทุนในประเภท “PPP Initiative” ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน (feasibility) กับคณะกรรมการการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือบอร์ด PPP สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

โดยโครงการร่วมลงทุน PPP Initiative เป็นช่วงเริ่มต้นของการวางแผนลงทุน จึงสามารถปรับเข้า-ปรับออก มีความยืดหยุ่นในการวางแผน จากนั้นเมื่อมีความเป็นไปมากขึ้นจะขยับอันดับเข้าสู่ PPP Normal-ระดับโครงการร่วมลงทุนปกติ และ PPP High Priority โครงการจำเป็นเร่งด่วนต่อไป

ประเด็นอยู่ที่โครงการ LRT บางนา-สุวรรณภูมิ มีการปรับเพิ่มวงเงินลงทุนสูงขึ้น 1 หมื่นกว่าล้านบาท โดยการบรรจุแผนร่วมลงทุนรอบเดือนสิงหาคม 2564 คำนวณวงเงินลงทุนเบื้องต้น 26,792 ล้านบาท

ล่าสุด แผนที่บรรจุในโครงการ PPP Initiative รอบเดือนมีนาคม 2565 วงเงินลงทุนเบื้องต้นเพิ่มเป็น 36,937 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10,145 ล้านบาท

คาดว่าวงเงินลงทุนโครงการนี้ยังไม่นิ่ง เพราะขั้นตอนเพิ่งทำแผนบนกระดาษ ตามแผนระบุเปิดประมูลและลงมือก่อสร้างในปี 2568

เนื้องานและรายละเอียดแผนจึงมีโอกาสปรับเข้า-ปรับออก รวมทั้งวงเงินลงทุนมีโอกาสปรับขึ้น-ปรับลงได้อีกหลายยก