สธ. เร่งชี้แจง เหตุไม่นับยอดผู้เสียชีวิตจากโรคร่วม

ตายจากโควิด

สธ. เร่งชี้แจงเหตุไม่นับยอดผู้เสียชีวิตจากโรคร่วม เนื่องจากมีมาตรการรักษาและใช้ยาที่แตกต่างกัน

วันที่ 2 พฤษภาคม 2565 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค อธิบายว่า การปรับนี้มีความจำเป็นในการวางมาตรการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในอนาคต เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตทั้ง 2 กลุ่ม เนื่องจากผู้ป่วย 2 กลุ่มนี้ต้องการการดูแลรักษาและการใช้ยาที่แตกต่างกัน

โดยผู้ที่มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดัน หลอดเลือดสมอง ฯลฯ แล้วพบว่าติดโควิด แต่อาการที่แสดงออกมาเป็นของโรคร่วมทั้งหมด มาตรการในการดูแลจะต้องเน้นการรักษาโรคร่วมก่อนเพื่อไม่ให้โรคร่วมทำให้อาการทรุดเร็ว

ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคร่วมแต่แสดงอาการของโรคโควิด-19 เป็นหลัก เช่น ปอดอักเสบ แล้วจึงมีอาการของโรคร่วมเพิ่มขึ้น นั้นยังต้องเก็บข้อมูลเพิ่มเติม ว่าต้องรักษาอย่างไรไม่ให้อาการของโรคร่วมรุนแรงขึ้น

จึงมีความจำเป็นที่ต้องปรับการรายงาน อีกทั้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์การติดเชื้อและเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจริง

พร้อมกันนี้ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ยังเผยฉากทัศน์ปัจจุบันทั้งในส่วนของผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิต โดยขณะนี้ ผู้ป่วยรายใหม่อยู่ในระดับฉากทัศน์สีเขียว หรือกรณีที่ดีที่สุดและมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องรักษาระดับที่ต่ำกว่า 2 หมื่นรายต่อวัน ต่อไปจนถึงเดือนมิถุนายน

ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบปัจจุบันยังอยู่สูงกว่าระดับที่ดีที่สุดหรือการมีผู้ป่วยปอดอักเสบประมาณ 1.5 พันคนหรือต่ำกว่า แต่แนวโน้มเริ่มลดลงต่อเนื่อง จึงเชื่อว่าจะยังเป็นไปตามคาดการณ์ที่จะมีผู้ป่วยมากกว่า 1 พันรายเล็กน้อยไปจนถึงเดือนกรกฎาคม

ด้านผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ตัวเลขยังทรงตัวอยู่ในระดับเส้นสีเหลืองหรือมีผู้ป่วยประมาณ 800 ราย ซึ่งตามฉากทัศน์ผู้ป่วยจะเริ่มลดลงหลังวันที่ 5-6 พฤษภาคม และต่ำกว่า 800 รายในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมและต่ำกว่า 400 รายในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม

แต่ทั้งนี้ต้องติดตามสถานการณ์ในสัปดาห์นี้อีกครั้งว่า ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้ป่วยปอดอักเสบที่ลดลง จะส่งผลต่อเนื่องมายังผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจหรือไม่ อีกทั้งผู้ที่ใส่ท่อแล้วต้องใช้เวลารักษานาน ทำให้ต้องติดตามสถานการณ์ใน 2-4 สัปดาห์ข้างหน้า

สำหรับผู้เสียชีวิตนั้น เนื่องจากมีการปรับระบบรายงานดังที่กล่าวไปแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้กราฟลดลงจากเส้นสีเหลือง มาเข้าใกล้สีเขียวหรือการมีผู้เสียชีวิตประมาณ 50 คนต่อวันต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคม

อย่างไรก็ตามแม้แนวโน้มจะเป็นไปในทางที่ดี แต่ นพ.จักรรัฐยังได้ย้ำถึงการเฝ้าระวังภาวะ MIS-C (มิสซี) Multisystem Inflammatory Syndrome in Children หรือกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่พบหลังเด็กหายจากการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

โดยขณะนี้ สธ.ได้เปิดระบบรายงานเคสผู้ป่วยภาวะ MIS-C แล้ว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือโรคที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อโรคโควิด-19


พร้อมย้ำให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานมาฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค MIS-C